'นาวาภิกขาจาร' ตักบาตรทางน้ำ ที่วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี

กลิ่นฝนโชยมาแต่ไกล  เสียงโทรศัพท์มือถือที่ตั้งปลุกเวลาตีห้า ดังระรัว เราดีดตัวสลัดผ้าห่ม นั่งสักพักให้หายงัวเงีย ก่อนอาบน้ำแต่งตัว เพราะมีนัดกับชาวคณะ เวลา 06.00น. ของวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 เพื่อไปตักบาตรทางน้ำที่ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่เรียก”นาวาภิกขาจาร “ในเวลา7.00น.

กิจกรรมนี้มีขึ้น  ต่อเนื่องกับมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย   ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม แล จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง 25 จังหวัด ในภาคกลางและภาคตะวันออก และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม  ระหว่างวันที่ 9 – 13 มิถุนายน 2566ที่ผ่านมา  ที่ถือว่าเป็นมหกรรมดนตรี เพลง และศิลปะแขนงต่างๆ ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่

พระพายเรือรับบาตร


ขอเกริ่นถึงวัดป่าเลไลยก์ฯก่อน แค่ชื่อก็บอกความเก่าแก่แล้ว แต่ก่อนวัดน่าจะตั้งในจุดที่เป็นป่าจริงๆ แต่ปัจจุบันถือว่าวัดป่าเลไลยก์ตั้งอยู่กลางเมืองสุพรรณบุรีเลยทีเดียว การศึกษาล่าสุดสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้ น่าจะมีอายุราว 1200 ปี หรือสร้างในสมัยลพบุรีและทราวดี ภายในพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์ เชื่อว่าเป็นสมัยอู่ทอง  สุพรรณบุรี โดยองค์พร อยู่ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาท  ภายในองค์พระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 36 องค์ ที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย  

คณะดนตรีท้องถิ่น ล่องเรือบรรเลง สร้างความคึกคัก


วัดป่าเลไลยก์ ยังมีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีอันลือชื่อของไทย  คือ เสภาขุนช้างขุนแผน นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่  รอบๆ วิหารของหลวงพ่อโต มีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวของขุนช้าง-ขุนแผน ตั้งแต่เริ่มเรื่อง จนถึงตอนสุดท้าย  ภายในบริเวณวัด ยังมีเรือนไทยโบราณ ที่เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัก ที่เรียกกันว่า”เรือนขุนช้าง” แต่ละห้องในเรือนนี้ จะมีภาพบรรยายเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีการจัดแสดงเครื่องใช้ต่างๆในสมัยก่อน มีการตกแต่บริเวณโดยรอบสวยงามน่าเที่ยวชม

พระพุทธรูป ที่นำร่องขบวน เรือพระสงฆ์มารับบาตร

จุดที่เรียกว่าสวนกล้วย อยู่ลึกสุดของวัด ถ้าเดินจากหน้าวัดเข้าไป คิดเป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตร    ริมสวนกล้วยเป็นคลองซึ่งน่าจะเป็นคลองขุด   ซึ่งเราจะมาตักบาตรทางน้ำกันตรงนี้ โดยทางวัดมีการทำท่าน้ำ และทางเดินไว้อย่างดี เพราะการตักบาตรกับพระที่พายเรือเข้ามา จะมีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี

เสียงพิธีกรในงานเล่าถึงที่มาของการตักบาตรทางน้ำว่า  เดิมพื้นที่ตรงนี้ มีคนเอาขยะมาทิ้งเต็มไปหมด ก่อให้เกิดทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าดูชม จึงมีการบูรณะปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้ขึ้นใหม่  ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และอาศัยภูมิทัศน์ที่ติดริมน้ำท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมด้วยสวนกล้วย ให้เป็นประโยชน์ พร้อมกับฟื้นฟูวิถีชีวิตแบบไทยๆ ของคนลุ่มน้ำท่าจีน ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส   และรับรู้ว่าคนไทยในอดีตผูกพันธ์กับสายน้ำมากมายเหลือเกิน  เพราะไม่ว่าการเดินทาง ทำไร่ทำนา ทำมาค้าขาย  รวมทั้งการทำบุญ  ก็ล้วนแต่อาศัยทางน้ำเกือบทั้งหมด  

  คณะนักดนตรีจากอยุธยา มาบรรเลงเพลงเรือ

อาจเป็นเพราะเป็นช่วงต่อเนื่องกับงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ทำให้มีคนมาร่วมตักบาตรในวันนั้น เนืองแน่นไปหมด เพราะมีผู้หลักผู้ใหญ่จากกระทรวงวัฒนธรรม โดยปลัดยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร แห่งกระทรวงวัฒนธรรม ที่เปรียบเสมือนประธานในงานมาร่วมตักบาตร พร้อมกับนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก 25จังหวัด ข้าราชการ และประชาชน  ซึ่งส่วนใหญ่มาในชุดไทย เข้ากับบรรยากาศอย่างมาก  

ปลัดวธ.อธิษฐาน ก่อนใส่บาตร

ระหว่างรอพระ เพราะยังไม่ถึง เวลา  7.00 น.  ดนตรีไทยจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ก็บรรเลงเพลง “ชุดเพลงเรือ “ให้ฟังไปพลางๆก่อน ซึ่งสร้างบรรยากาศความคึกคักให้กับงานอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการแสดง “รำมะนาชัยนาท” จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยนาท ที่แสดง ณ เวทีกลางน้ำ มาช่วยเสริมบรรยากาศให้กระฉับกระเฉงเข้าไปอีก  

ภาพกว้างความงดงามของบรรยากาศต้กบาตรทางน้ำ ว้ดป่าเลไลยก์

เวลา 7.00น. เรือนำขบวนซึ่งอัญเชิญพระพุทธรูป พายนำร่องมาก่อน  ตามมาด้วยเรือพระสงฆ์ 9 รูป ที่ทะยอยมารับบาตรจากประชาชนที่รอริมน้ำ  ท่ามกลางเสียงดนตรีไทยที่บรรเลงสด ฝนโปรยปรายลงเม็ดเปาะแปะแบบไม่แรงนัก  นี่มันบรรยากาศย้อนยุคชัดๆ ทำให้นึกไปถึงละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ขาดแต่เพียง ยังไม่มีใครใส่โจงกระเบน ห่มผ้าแถบ กินหมากปากแดง และเดินเท้าเปล่าเท่านั้น

เพราะคนตั้งใจมาตักบาตรวันนั้น เยอะมากๆ ทำให้พิธีกรในงาน ประกาศแจ้งว่า คนที่ยังไม่ได้ใส่บาตร ในรอบแรก ไม่ต้องตกใจ เพราะพระท่านจะวนมารอบสอง เพื่อรับบาตร ซึ่งอาหารที่ใส่เกือบทั้งหมดเป็นพวกอาหารแห้ง  ไม่ใช่อาหารที่ปรุงพร้อมฉันท์  

ปลัดวธ.เซิ้งร่วมกับขบวนของทางจังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้หลักผู้ใหญ่ในงานตักบาตร ดังกล่าว  โดยปลัด วธ. กล่าวถึง  กิจกรรมตักบาตรทางน้ำ “นาวาภิกขาจาร” ว่า เป็นส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน ให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมของไทย สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มบทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ในการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง รวมถึงเสริมฐานรากวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง ยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติ

“สมัยก่อนบ้านและวัดมักอยู่ติดริมแม่น้ำ พระสงฆ์ออกรับบิณฑบาตทางเรือ เป็นวิถีชีวิตริมน้ำที่เห็นได้บ่อยๆ แต่เนื่องจากยุคสมัยได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัจจุบันจึงหาชมได้ยากขึ้น และมีเส้นทางคมนาคมสะดวกกว่าแต่ก่อน ทางวัดป่าเลไลยก์วรวิหารจึงได้จัดกิจกรรมตักบาตรทางน้ำนาวาภิกขาจาร ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00 น. ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี “ปลัดวธ.เชิญชวนให้ผู้สนใจมาลองสัมผัสกิจกรรมพิเศษนี้

ใครที่แวะไปเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี และอยากสัมผัสบรรยากาศทำบุญแบบไทย ๆ อย่างที่คนสมัยปู่ย่าตายายเราเคยทำกันมาในอดีต  และทุกวันนี้ คงหาไม่ได้แล้วในเมืองกรุง  สามารถมาร่วมกิจกรรม “นาวาภิกขาจาร” ที่วัดป่าเลไลยก์  จ.สุพรรณบุรีในเวลา 07.00. ได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ .

พระพายเรือกลับวัดหลังรับบาตร 


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (1)

เป็นอีกครั้งในชีวิตที่ออกเดินทางไปยังประเทศอินเดียและเนปาล เพื่อค้นหาคำตอบบางอย่าง ซึ่งตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าจะพบมั้ย แต่เชื่อมั่นว่า จะทำให้ตัวเองในฐานะชาวพุทธได้พบกับความสุขสงบในจิตใจและได้เว้นวรรคจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ห่างไกลจากสิ่งเร้ารอบตัว ตามโปรแกรมจะไปครบทั้ง 4 สังเวชนียสถาน

20 ชุมชนชิงต้นแบบ'เที่ยวชุมชน ยลวิถี'

ชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนั้นกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แต่ละชุมชนมีความโดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ วิถีชีวิต เอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวตามบริบทของชุมชน เพื่อคัดเลือกชุมชนต้นแบบ”เที่ยวชุมชน ยลวิถี”ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ

ค้นหาอัตลักษณ์ 6 จังหวัด จัดฉลองสงกรานต์ยิ่งใหญ่

26 มี.ค.2567 - นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ร่วมกับประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด 6 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปปราการ และชลบุรี

สัมผัสสถานที่จริง'สังเวชนียสถาน' ต่อยอดงานศาสนา

พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนได้เดินทางไปสัมผัสสถานที่จริงที่สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ 4 แห่ง สถานที่ประสูตร  สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน ในประเทศอินเดียและเนปาลอีกครั้งจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน

'ลานตา ลันตา' พหุวัฒนธรรมแข็งแกร่งสู่สายตาโลก

เทศกาลลานตา ลันตา หนึ่งในเทศกาลประเพณีที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ปีนี้ชาวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และทรัพยากรธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ร่วมกันเผยแพร่ความเป็นพหุวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง