สมศ.ลงนาม 27มหา'ลัย ตั้งศูนย์ประสานงาน'ให้คำปรึกษา ติดตามผลการประเมินคุณภาพ 133 สถานศึกษา ทางออนไลน์

24ก.ค.2566- ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า สมศ. ได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา 27 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ฯลฯ ดำเนินการในนาม“ศูนย์ประสานงาน สมศ.” ในการทำหน้าที่ในการประสานงานขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้พัฒนาสถานศึกษา” อย่างครบวงจรในการสนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจัดหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ และติดตามผลดําเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา 133 แห่งที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

“สมศ. พยายามมุ่งเน้นให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ ผ่านโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยพบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจที่มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญ เข้ามาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับวิเคราะห์หาจุดเด่นที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นและจุดที่ควรปรับปรุงเพื่อวางแผนการพัฒนาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาในแต่ละแห่ง จากความสำเร็จดังกล่าว สมศ. จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนสถานศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา เพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 เป็นจำนวน 150 แห่ง” ดร.นันทา กล่าวเสริม

รองศาสตราจารย์ ดร.นิวัตร พัฒนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวว่า
ศูนย์ประสานงาน สมศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยยกระดับคุณภาพสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยเด็กเล็กในช่วงปฐมวัยนั้นนับว่าเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญที่สุด ดังนั้นจึงถือได้ว่าศูนย์พัฒนาเด็กเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เป็นรากฐานที่สำคัญของเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยทางศูนย์ประสานงาน สมศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้เข้าไปให้คำปรึกษาศูนย์พัฒนาเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเมือง ซึ่งจากการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาวิเคราะห์อย่างละเอียดจะเห็นว่าศูนย์พัฒนาเด็กในจังหวัดน่านยังมีบางเรื่องที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน

สิ่งที่ศูนย์ประสานงาน สมศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามดำเนินการไม่ใช่การเข้าไปตรวจสอบการทำงานของศูนย์พัฒนาเด็ก แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูผู้สอน และหน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ในการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปต่อยอดและสร้างกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์โดยตรงกับเด็กมากที่สุด ในฐานะที่ตนเป็นที่ปรึกษาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของศูนย์พัฒนาเด็กที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้น โดยหน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่และครูผู้สอนมีความกระตือรือร้น และให้ความร่วมมือกับศูนย์ประสานงาน สมศ. ในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาร่วมกันเป็นอย่างดี และสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ ภิรมย์รัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ศูนย์ประสานงาน สมศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับสถานศึกษาทั้งการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นจึงได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาร่วมให้คำปรึกษา สนับสนุน และติดตามผลดําเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาที่ศูนย์ประสานงาน สมศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้รับมอบหมาย ตลอดจนการสนับสนุนและให้คำแนะนำสถานศึกษาในด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดการเรียนการสอน การจัดทำสื่อการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ และสถานศึกษาเป็นอย่างดี

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาศูนย์ประสานงาน สมศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เห็นว่าสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการสามารถจัดทำแผนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ (SWOT) โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จนั้นเกิดจากการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ชัดเจน โดยมี สมศ. เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน มีศูนย์ประสานงาน สมศ. สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนกลางและหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนภูมิภาคของสถานศึกษาที่เข้ามาติดตามสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลให้โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี หงษ์ศิริวัฒน์ รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวว่า ศูนย์ประสานงาน สมศ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยยกระดับการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก)ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ โดยศูนย์ประสานงานได้ดำเนินการวางแผนในการสนับสนุนสถานศึกษาอย่างมีระบบ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาปฐมวัย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาสนับสนุน และเมื่อได้ดำเนินงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็ก และหน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ ทำให้พบว่าศูนย์พัฒนาเด็กแต่ละแห่งมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง เน้นการดูแลเด็กให้มีคุณภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ดี ควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้เด็กมีคุณธรรมและจริยธรรม

นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงาน สมศ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำผลการประเมินของศูนย์พัฒนาเด็กมาวางแผนกลยุทธ์เพิ่มเติม สำหรับการพัฒนาต่อยอดให้เกิดโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับพัฒนาการด้านความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนความสามารถและทักษะต่างๆที่จำเป็นสำหรับเด็ก เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่หลากหลายโดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ แสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน เรียกได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำมาซึ่งความร่วมมือในการวางแผนการทำงานร่วมกัน จึงนับว่าโครงการนี้มีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างแท้จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สมศ.” เปิดผลความสำเร็จ “โครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก”

สมศ. เปิดผลความสำเร็จการขับเคลื่อน “โครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก” พบสถานศึกษาพึงพอใจการทำงานของผู้ประเมินภายนอกกว่าร้อยละ 95

“สมศ.” ประชุมเตรียมความพร้อมสถานศึกษา 42 แห่ง สร้างความเข้าใจสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทดลองประเมินนำร่อง ตามกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา

สมศ. ประชุมเตรียมความพร้อมให้กับสถานศึกษาจำนวน 42 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการทดลองประเมินนำร่องตามกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา