ตามรอย’เสือโคร่ง’ คุ้มครองถิ่นที่อยู่ 4 กลุ่มป่า

สถานการณ์ประชากรเสือโคร่งในป่าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่มีรายงานลักลอบล่าเสือโคร่ง สัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวดีคนไทยจากรายงานสำรวจพบเสือลายเมฆ สัตว์ป่าที่พบยากและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการรายงานสำรวจพบและมีหลักฐานชัดเจนถึงการปรากฏตัวของเสือลายเมฆในพื้นที่นี้ โดยเป็นผลจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและคุ้มครองสัตว์ป่าร่วมกันปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และเก็บข้อมูลจากกล้อง Camera Trap ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้เและสัตว์ป่า  และเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญ

ตามด้วยรายงานสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยนายมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีฯ ได้ดำเนินการเก็บกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าบนดอยเชียงดาว ตามโครงการการประเมินถิ่นที่อยู่และความหลากหลายของสัตว์ผู้ล่าทางธรรมชาติของกวางผา เป้าหมายสำหรับระบุตำแหน่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงและภัยคุกคามของสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวที่ได้รับงบฯ ปี  2566 ในกิจกรรมบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ จากภาพที่บันทึกได้วันที่ 6 ก.ค.2566 พบเสือดาวตัวเต็มวัยเพศเมีย  1 ตัว พบอาศัยบนดอยเชียงดาว ถือเป็นสัตว์ผู้ล่าชั้นสูงสุดของห่วงโซ่อาหารบนดอยเชียงดาว ช่วยควบคุมประชากรกวางผาและสัตว์กินพืชอื่นๆ บนดอยเชียงดาว เพื่อไม่ให้กัดกินพืชพรรณบนดอยเสียงดาวได้รับความเสียหาย  เสือดาวขึ้นบัญชีแดง IUCN อยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์  บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเชียงดาวที่ยังอุดมสมบูณ์มาก  ทั้งสองพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภารกิจการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าช่วยปกป้องรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าให้อาศัยอยู่อย่างปลอดภัย

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.)  กล่าวว่า วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ประเทศไทยดำเนินงานอนุรักษ์เสือโคร่งมาอย่างต่อเนื่อง มีแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553 – 2565) ปัจจุบันเข้าสู่การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2577) เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน  โดยมี 4 กลุ่มป่าสำคัญที่มีประชากรเสือโคร่ง คือ กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง และกลุ่มป่าตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่เชื่อมต่อมรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
“ ตัวเลขล่าสุดที่สำรวจในปี 2565 พบประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ 100% อยู่ระหว่าง 148-189 ตัว ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับปริมาณประชากรในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับแนวทางอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญกำหนดเป้าหมายอีก 2 กลุ่มป่า เพื่อเพิ่มประชากรเสือโคร่ง ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาณเหยื่อ เพราะการใช้ชีวิตของเสือจำเป็นต้องอาศัยสัตว์ที่เหยื่อจำนวนมาก รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอ เพื่อสืบต่อสายพันธุ์ เพราะเสือโคร่งถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของปิรามิดผู้ล่า เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า “ นายอรรถพล กล่าว

สำหรับแผนอนุรักษ์เสือโคร่ง  2565-2577 มี 3 เป้าหมายสำคัญ คือ รักษาและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองพื้นที่ป่าตะวันตก พื้นที่หลักของการอนุรักษ์เสือโคร่ง เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการพื้นที่ ยกระดับการสำรวจติดตามประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก นอกจากนี้ จะติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า หรือกล้อง Camera Trap เพิ่มขึ้นเพื่อติดตามเส้นทางการเดินของเสือโคร่ง การตามติดชีวิตเสือโคร่งจากสัญญาณปลอกคอที่สวมไว้ เพื่อเรียนรู้การดำเนินชีวิต หรือนิเวศวิทยาเสือโคร่ง  สอดส้องชีวิตรวมถึงจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ( Smart Patrol) นำไปเป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อทำอัตลักษณ์ลายเสือแต่ละตัวเป็นฐานข้อมูล

เสือโคร่งในป่ามีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ในฐานะเป็นผู้ล่าอันดับสูงสุด ที่ควบคุมไม่ให้ประชากรของสัตว์กินพืช ที่เป็นเหยื่อมีจำนวนมากเกินไป ช่วยควบคุมความสมดุล สำหรับการมีอยู่ของเสือโคร่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศเป็นอย่างดี ดังนั้น การอนุรักษ์เสือโคร่ง จึงมีความหมายต่อการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่อันเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ส่งผลต่อความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่นั้นๆ

ที่ผ่านมา เสือโคร่งในผืนป่าของไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จากข้อมูลพบเสือโคร่งมากที่สุดในบริเวณผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทย

การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืนและสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ในปีนี้กรมอุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานวันเสือโคร่งโลก ภายใต้แนวคิด “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ วันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา  เพื่อแสดงถึงความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในไทย และเพื่อหาแนวร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า  ภายในงานมีกิจกรรมการเรียนรู้ นิทรรศการวันอนุรักษ์เสือโคร่ง วงเสวนาตามรอยเสือโคร่งในผืนป่ามรดกโลก  การแสดงจากเยาวชนรอบผืนป่าอนุรักษ์  หรือการนำเสนอผลงานวิจัย   ทำให้คนไทยได้มีโอกาสรู้จักและเข้าใจชีวิตเสือโคร่งมากขึ้น

ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการประเมินข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง 6 กลุ่มป่า มีรายงานการสำรวจพบและถ่ายภาพเสือโคร่งได้ในพื้นที่อนุรักษ์ 22 แห่ง 4 กลุ่มป่า ประกอบด้วย กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี และกลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง โดยประเมินว่า ในปี 2565 ไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยประมาณ 148-189 ตัว ซึ่งประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มป่าตะวันตก และมีการเดินทางไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นโดยรอบ โดยมีแนวโน้มประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จาก 41 ตัว ในปี 2557 เป็น 100 ตัวในปี 2565 ซึ่งถือเป็นอันดับต้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับวันเสือโคร่งโลกเกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์เสือโคร่ง กำหนดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี วันดังกล่าวกำหนดขึ้นจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่งที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ใน ค.ศ. 2010 มีเป้าหมายส่งเสริมให้ทั้งโลกได้มีการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และเพื่อสร้างความตระหนักของประชาชน ตลอดจนการสนับสนุนสำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ผึ้งหลวงหิมาลัย'ดอยผ้าห่มปก ดัชนีความหลากหลายชีวภาพ

การค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่  สร้างความฮือฮาให้กับวงการชีววิทยาของไทยและสากล  นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.)

เปิดยุทธศาสตร์'กุยบุรี' ลดขัดแย้งคน-ช้าง

เนื่องในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการรณรงค์สื่อสารให้คนไทยตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของช้างไทยจากปัญหาผืนป่าที่ถูกทำลายและลดลง ทั้งด้วยปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมจากน้ำมือมนุษย์รบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างสัตว์ประจำชาติ

ยุติค้าสัตว์ป่า ภัยเงียบทำลายระบบนิเวศ

23 ธ.ค.2566 - พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จ.ราชบุรี ที่

ยังจำกันได้ไหม กรมอุทยานฯ อัปเดต 'น้องขวัญ' ลูกเสือโคร่งของกลาง ตัวโตแล้ว

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพเสือโคร่ง อัปเดตการดูแลเสือโคร่ง "ขวัญ ขิง ข้าว โขง" ล่าสุดตัวโตแล้ว ...(ชมคลิปในคอมเมนต์) ยังจำกันได้ไหมเอ๋ย “ลูกเสือโคร่งของกลาง”

'พลายศักดิ์สุรินทร์' ถึงไทย 14.00 น. กรมอุทยานฯเผยการเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์บรรยากาศการเคลื่อนย้าย “ช้างไทย" พลายศักดิ์สุรินทร์ ทูตสันถวไมตรี กลับมาสู่อ้อมกอดประเทศไทย