ฝากความหวัง กลุ่ม Gen X-Y 'มีลูกเพื่อชาติ' สร้างรากฐานประชากร

ปัญหา “เด็กเกิดน้อย” ในปัจจุบัน ได้จุดประเด็นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกระแสสังคมเป็นวงกว้าง  เพราะไม่ได้มีผลกระทบในแง่ประชากรไทยจะลดลงในอนาคตเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงการพัฒนาประเทศ เพราะเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนแรงงาน การจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ การบริหารจัดการงบประมาณของประเทศ เพราะอีกด้านหนึ่งของเด็กที่เกิดน้อยลง หมายความว่าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอย่างหนักหน่วงในการดูแล  จึงเป็นที่มาของนโยโบายส่งเสริมการมีบุตร  1 ในแนวทางการขับเคลื่อน 12 นโยบายของทางกระทรวงสาธารณสุข นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เพราะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นเพื่อเพิ่มฐานประชากร รองรับการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้ประชากรไทยมีบุตร โดยเฉพาะความหวังที่ฝากไว้กับกลุ่มคน Gen X ที่มีอายุระหว่าง 38-53 ปี และกลุ่มคน Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 21-37 ปี  

ในขณะที่คนกลุ่มGen X  และ Gen Y มีแนวโน้มวางแผนเป้าหมายชีวิตสำหรับการมีบุตรไว้เป็นลำดับท้ายๆ เพราะค่านิยมสมัยใหม่ที่มีการแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น โดยรายงานวิจัย การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบที่มีคุณภาพ 2559 ระบุว่า เป้าหมายสำหรับคนทั้งสอง Gen นี้ ลับดับที่1 คือ ความมั่นคงทางการเงิน ลำดับที่ 2 ความก้าวหน้าในการงาน ลำดับที่ 3 ได้ใช้ชีวิตอิสระ ลำดับที่ 4 ดูแลพ่อแม่ และลำดับที่ 5 คือ การแต่งงานและมีลูก

นอกจากนี้เหตุผลที่กระตุ้นให้ความอยากมีลูกลดลงอีก คือ ภาระทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นภาระระหว่างการตั้งครรภ์ ค่าเลี้ยงดูในแต่ละช่วงวัย หรือบางคนอาจมีภาระทางการแค่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ความสัมพันธ์กับคู่รัก การมีลูกอาจจะนำมาซึ่งความเครียด ความกดดันทางสังคม ในยุคนี้การแข่งขันทางด้านการเรียนการงานสูง หรือความปราถนาส่วนบุคคลที่อาจจะชอบหรือไม่ชอบการมีลูก เป็นต้น

ดังนั้น ปัญหาเด็กเกิดน้อย จึงน่าชวนให้ขบคิดว่าต้นตอที่ทำให้ประชากรอยากมีลูกลดลงเพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเพราะภาพรวมทางเศรษฐกิจไม่เอื้อให้อยากมีลูก…หากย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเผชิญปัญหาประชากรมีลูกเยอะ จนเกิดวาทกรรมว่า “ลูกมากจะยากจน” ซึ่งในช่วงนั้นมีการส่งเสริมการคุมกำเนิดต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา กลับตาลปัตรกับในยุคนี้ที่ต้อง “มีลูกเพื่อชาติ” กระตุ้นให้คนรุ้นใหม่อยากอยากมีลูกเพิ่มขึ้น ที่การแก้ปัญหายากกว่าเดิม

แม้ว่าภาครัฐจะมีการสนับสนุนประชาชนที่มีบุตร ได้มีโครงการอุดหนุนเงินเด็กแรกเกิดจำนวน 600 บาทต่อเดือน สำหรับเด็กแรกเกิด 0-6 ปี เพื่อโอนเข้าสู่บัญชีผู้มีสิทธิ์กว่า 2,254,000 คน

ส่วนผู้ใช้สิทธิประกันสังคม เมื่อคลอดบุตรแล้วสามารถใช้สิทธิในการรับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท  สำหรับเด็กแรกเกิด 0-6 ปี ซึ่งในส่วนของภาครัฐอาจจะต้องหาตัวเลือกหรือแรงจูงใจที่เพิ่มขึ้น

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปคนในปัจจุบันกลับไม่ต้องการมีบุตร ส่งผลให้เด็กเกิดน้อย ในอนาคตประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ การสร้างระบบรองรับ เพื่อให้การเกิดไม่เป็นภาระของครอบครัว และช่วยให้พ่อแม่มีความมั่นใจว่าเมื่อลูกเกิดมาแล้วจะมีความปลอดภัย เจริญเติบโตในประเทศนี้ได้อย่างมั่นคง เพื่อไม่กระทบจ่อปัญหาทั้งด้านแรงงาน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแบกรับสังคมสูงวัย ฯลฯ

ในมุมโครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบัน วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีจำนวนประชากรไทยประมาณ 66 ล้านคน หากเทียบการเกิดของเด็กในปี พ.ศ. 2508 มีอัตราเกิดอยู่ที่ปีละ 6 คน แต่ตอนนี้อัตราเกิดอยู่ที่ปีละ 1 คนกว่า จึงได้มีการคาดประมาณไว้ว่าเด็กประถมวัยจะลดจำนวนลงในปีพ.ศ. 2566 มีเด็กประถมวัย 0-6 ปี จำนวน 4.3 ล้านคน  แต่ในปีพ.ศ. 2583 จะเหลือเพียง 3.1 ล้านคน ในขณะที่ปีพ.ศ. 2564 อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดประมาณ 2,700 คน คิดเป็น 5.2 คนต่อทารกแรกเกิดมีชีพ 1,000 คน หรือตายก่อนวัยอันควรด้วยอุบัติเหตุและจมน้ำกว่า 1,200 คน  อีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ขนาดครอบครัว เพราะขนาดครอบครัวที่มีเพียงสามี-ภรรยา และไม่มีลูกเพิ่มขึ้น 20% ส่วนครอบครัวแบบพ่อแม่-ลูกลดลงเหลือ 52% และเด็กที่อยู่ในครัวเรือนยากจนมีถึง 3.5 แสนคน

น.ส.วรวรรณ กล่าวต่อว่า ความท้าทายในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของ Generation ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างครอบครัว โดยในอนาคตประชากรรุ่นใหม่จะเพิ่มมากขึ้น มีค่านิยมแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น ที่สำคัญคือการมีลูกไม่ใช่เป้าหมายลำดับต้นๆ ของคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงในอนาคต และในอนาคตมีแนวโน้มที่ประชากรรุ่นใหม่จะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีบุตรหลานพึ่งพิง

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการกองมารดาและทารก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องเริ่มมองถึงต้นตอของปัญหาเด็กเกิดน้อยว่าเป็นของใคร เพราะบางคนมีมุมมองในเชิงนโยบาย ก็ต้องเป็นปัญหาของภาครัฐ แต่ในมุมของแพทย์แบ่งกลุ่ม 3 กลุ่ม 1.กลุ่มไม่อยากมีลูก 2.กลุ่มมีบุตรยาก ในช่วงหลายปี มีการเสนอสิทธิประโยชน์ สามารถเบิกจ่ายได้ อยู่ในระหว่างการพิจารณา 3.กลุ่มก้ำกลึงว่าจะมีหรือไม่มีลูกดี โดยรัฐอาจจะช่วยเรื่องเงินอุดหนุน เพราะบางทีเงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้อาจจะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดู หรือการสนับสนุนเรื่องวันลาอย่างในประเทศสวีเดนลาได้ 1 ปีครึ่ง หรือศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ เพราะการมีคนช่วยดูแลที่ดีเป็นแรงจูงใจให้ประชากรอยากมีลูกได้เอง ซึ่งในหลายจังหวัดมีการแข่งขันการสร้างศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทยอาจจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ  แต่สุดท้ายเราไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้หากคนผู้นั้นไม่อยากมีลูก

ด้าน ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวเสริมว่า การเพิ่มจำนวนการเกิดนี้ อาจต้องมองในหลายมิติเพิ่มเติมการเพิ่มจำนวนการเกิดจากผู้ที่มีความพร้อมหรือจากคนไทยเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทันต่อการรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อ GDP และความมั่นคงของประเทศในภาพรวม การให้ความสำคัญกับทุกการเกิดในประเทศ หรือการนำเข้าแรงงานที่มีศักยภาพสูงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่รับมือกับปัญหาได้เร็วกว่า และไม่ว่าจะเลือกมาตรการใดเป็นมาตรการหลัก รัฐบาลควรเป็นผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความครอบคลุม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ตลอดจนร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยข้อเสนอดังกล่าวได้นำมากำหนดเป็นมาตรการทางเลือกให้กับรัฐบาลต่อไป

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 17-18 พ.ศ.2567-2568 แสดงความเห็นว่า ทางออกของปัญหาเด็กเกิดน้อยคือการร่วมมือกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน  มีการทำวิจัยที่ครอบคลุมความซับซ้อนของปัญหาเด็กเกิดน้อยที่จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 3-5 ปี และในขณะนี้ประเทศไทย GDP ต่อประชากรอยู่อันดับที่ 70 จากทั้งหมด 190 ประเทศ ซึ่งในประเทศที่อยู่ในอันที่ 1-69 มีเพียง 10% ที่มีประชากรสูงกว่าประเทศไทย อีก 90% ของประเทศที่มี GDP สูง เป็นประเทศที่มีคนน้อยกว่าไทย ดังนั้นเมื่อมองปัญหาเด็กเกิดน้อย จะต้องไม่เน้นที่ปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นที่คุณภาพด้วย และคาดว่าอีก 20 ปี ลำบากแน่หากเด็กยังเกิดน้อยอยู่

เพิ่มเพื่อน