เขื่อนในพื้นที่มรดกโลก'ดงพญาเย็น-เขาใหญ่'

ผืนป่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คนส่วนใหญ่จะนึกถึง ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และ ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แต่ตอนนี้ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กำลังสุ่มเสี่ยงภัยคุกคาม หนึ่งในนั้น คือ โครงการเขื่อนในพื้นที่มรดกโลก ย้อนไปปี 2564 การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 มีเสียงสะท้อนจากคณะกรรมการมรดกโลกขอให้ไทยยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่อย่างถาวร  พร้อมเสนอแนะให้จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA สำหรับลุ่มน้ำรวมถึงแหล่งมรดกโลก และให้ระงับข้อเสนอการก่อสร้างเขื่อนโดยรอบพื้นที่ที่อาจกระทบต่อคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล จนกว่ารายงาน SEA จะสมบูรณ์และถูกตรวจสอบโดยศูนย์มรดกโลกและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ  มติคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ก็ย้ำให้ยกเลิกแผนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในแหล่งมรดกโลกโดยไม่เกี่ยวกับรายงาน SEA

อย่างไรก็ตาม องค์กรอนุรักษ์ต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ มีความเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านเขื่อนในพื้นที่มรดกโลกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สมาคมพลเมืองนครนายก เครือข่ายรักษ์เขาใหญ่ ผู้นำชุมชนบ้านคลองมะเดื่อ ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเวทีเสวนา “นิเวศลำธารกับหมอหม่อง” โดย นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มาสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องระบบนิเวศลำธารให้กับชาวนครนายกและปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบหากอนุมัติสร้างเขื่อนของรัฐ  พร้อมอัพเดทสถานการณ์เขื่อนในพื้นที่มรดกโลกกับอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ  กล่าวว่า พื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อช.ทับลาน อช.ตาพระยา อช.ปางสีดา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ปี 2548 ขณะนี้มีโครงการเขื่อนที่อยู่ในแผนการก่อสร้างทั้งหมด 7 เขื่อน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน, อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ,อ่างเก็บน้ำไสน้อยไสใหญ่, อ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร ,อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างคลองวังมืด และอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา ตอนนี้ชลประทานบอกว่าจะทำแค่อ่างเก็บน้ำไสน้อยแห่งเดียว ไสใหญ่ไม่ทำแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร หากไม่ทำตรงนี้ จะไปทำอ่างเก็บน้ำแทน 2 แห่ง ส่วนอ่างเก็บน้ำทับลานมีอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มขนาดสันเขื่อนให้มีความกว้างมากขึ้น

“ ในพื้นที่ป่าดงพญาเย็นเ-เขาใหญ่ มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วถึง 10 กว่าแห่ง ถ้ามีอีก  7 เขื่อนเกิดขึ้น จะสูญเสียพื้นที่ป่ารวมทั้งหมด 16,000 ไร่  ขณะที่ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ อุทยานฯ เขาใหญ่จะเสียพื้นที่ป่า 1,853  ไร่  มีทั้งพื้นที่ในอุทยาน ป่าคุ้มครอง นอกเขตอช. พื้นที่ประชาชนอยู่อาศัยและเป็นพื้นที่ผ่อนผันต่างๆ ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน ถ้าสร้างเขื่อนจะเสียพื้นที่อุทยานฯ 4,579 ไร่  “  อรยุพา กล่าว

เหตุผลที่ต้องค้านเขื่อน อรยุพา กล่าวว่า พื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนมรดกโลก ป่าอนุรักษ์มีบทบาทเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับเรา ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ระบุการมีทรัพยากรธรรมชาติที่ดี ทำให้เศรษฐกิจยั่งยืน และมนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี อนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยให้สัตยาบันไว้ ไทยต้องปฏิบัติตาม ปี 65 รัฐบาลไทยร่วมปฏิญญากลาสโกว์ ใจความสำคัญหยุดการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2573  แต่โครงการรัฐบาลไทยกลับสวนทาง นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ร่วมประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตอกย้ำคำมั่นสัญญาและพุดถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากโครงการก่อสร้างในพื้นที่อนุรักษ์ ระบบกลไกการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อมก็มีปัญหา ทั้ง EIA HIA EHIA  SEA ไม่ว่าหยิบเล่มไหนมาพบปัญหาหมด ขอให้กลไกตรวจสอบที่ถูกต้องและเป็นธรรม  

“ แม้จะมีคำเตือนจากคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้ว แต่กลับยังมีกระบวนการศึกษาเดินหน้าสำรวจวิจัยในพื้นที่ดำเนินการอยู่เป็นระยะ รวมทั้งโครงการกาอสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครนายก  ชาวบ้านไม่เคยอยู่อย่างสงบสุขต้องออกไปปกป้องป่า เครือข่ายในพื้นที่ยังเดินหน้าปกป้องบ้านของตัวเองไปยื่นหนังสือคัดค้านตามที่ต่างๆ รวมถึงร่วมสำรวจสัตว์ป่า  เข้าป่า ปีนเขาไปตั้งกล้อง บันทึกหลักฐาน ใช้หลักวิทยาศาสตร์นำการค้าน มีนักวิชาการร่วมสำรวจปลา เราไม่ได้ค้านหัวชนฝา แต่มีเหตุผลและทางออก สำรวจไปถึงฝั่งห้วยสะโตน อุททานฯ ตาพระยา พบวัวแดง เสือโคร่ง  ซึ่งเขาใหญ่ไม่มีเสือโคร่ง จะเป็นพื้นที่ถูกสร้างอ่างเก็บน้ำเช่นกัน ” เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ

อรยุพา กล่าวว่า มนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกมาแล้ว 6 ข้อจาก 9 ข้อ โลกไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ปกติธรรมชาติเจอภัยคุกคามเล็กน้อยสามารถกลับคืนเหมือนเดิมได้ แต่วันนี้เราเผชิญความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอันดับ 1 ส่งผลความมั่นคงทางอาหารและชีวิต บางพื้นที่สูญเสียไปแล้วยากจะได้กลับมา เราเผชิญวิกฤตภาวะโลกเดือด เรายังบริหารจัดการน้ำแบบเดิมๆ ได้อีกหรือไม่ ทุกวันนี้อ่างในพื้นที่ยังไม่มีน้ำ แล้วยังจะสร้างอ่างขนาดใหญ่แห่งใหม่ จะเป็นทางออกในการจัดการน้ำที่มีความจำเป็นในอนาคตหรือไม่

ด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กล่าวว่า  ลำธาร เปรียบเสมือนร่างกายของมนุษย์เรา มีอวัยวะส่วนต่าง ๆ ส่วนที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ลำธารน้ำไหลแตกต่างจากน้ำในเขื่อน หรือน้ำในโอ่ง ในบึง ในหนอง คือเป็นน้ำที่กำลังหายใจอยู่ และทำให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  ถึงแม้กรมชลประทานจะอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าจำนวนน้อย แต่นี่คือเป็นรอยต่อที่มีความสำคัญมากระหว่างโลกใต้น้ำกับโลกบนบก พืชชายน้ำมีความสำคัญตั้งแต่การรักษาไม่ให้ตลิ่งมีการทรุดตัว พังทลาย ป้องกันสารพิษที่ถูกชะล้างมาจากบนบก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ คือเริ่มต้นจากมีออกซิเจนเยอะ มีสารอินทรีย์เพียงพอ มีแพลงตอน สาหร่ายต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม และมีแมลงเหล่านี้อาศัยอยู่ แล้วก็มีสัตว์ต่างๆ อย่างปลา นาก ตะกอง กิ้งก่าน้ำ เป็นที่มาของลำตะคอง บริเวณลำน้ำซึ่งมีเจ้าตัวตะกองอยู่มากมายนั่นเอง

นอกจากนี้ หมอหม่องได้เชื่อมโยงให้เครือข่ายมองเห็นภาพร่วมกันว่า เขื่อนหนึ่งตัวที่สร้างไว้กั้นทางน้ำไหล ตะกอนจะค่อย ๆ จมลงและพัดพาไปไม่ถึงอ่าวไทย ไม่ใช่แค่คนคลองมะเดื่อที่จะเดือดร้อน แต่คนที่อยู่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นสมรภูมิรบกันระหว่างทะเลกับบก ปกติจะมีตะกอนจากต้นน้ำไหลมาทับถม ทดแทนส่วนที่คลื่นทะเลขุดออกได้อย่างสมดุล แต่เมื่อตะกอนไปไม่ถึงชายฝั่งแล้ว จึงเกิดการเสียดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ แหว่งหายไปเรื่อย ๆ

“ หลายคนอาจจะพูดว่าเขื่อนคลองมะเดื่อเสียพื้นที่ป่านิดเดียว ทำไมแค่นี้จะเสียสละไม่ได้ แค่ 1,800 ไร่ เขาใหญ่มีป่าเป็น 1,000,000 ไร่ ทำไมต้องโวยวาย จริงอยู่ที่มันเป็น 0.1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าเขาใหญ่ แต่ป่ามันไม่ได้เท่ากันหรือเหมือนกันหมด นิเวศริมน้ำที่เป็นลำห้วยลำธารแบบนี้ มีสัตว์คนละแบบ พืชพันธุ์คนละอย่าง จะเอามาหารพื้นที่ 1,300,000 มันไม่ใช่ นี่คือ พื้นที่ที่หายากที่สุด ผมเป็นหมอหัวใจ เปรียบเทียบกับหัวใจแล้วกัน หัวใจคิดเป็นน้ำหนักของร่างกายเราแค่ 0.4 เปอร์เซ็นต์ ตัดออกแล้วกันได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ ฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้มันไม่เท่ากัน ไม่เท่าพื้นที่ภูเขา ไม่เท่าพื้นที่ทุ่งหญ้า แต่มันคือพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นบริเวณที่มีความร่ำรวยและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด นี่คือสิ่งที่เราหวงแหนมาก” หมอหม่อง กล่าว

รองประธานมูลนิธิสืบฯ  เรียกร้องใช้กรมชลประทานใช้หาทางออกอื่นที่ไม่ใช่เขื่อน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดการน้ำเมื่อ 100 ปีที่แล้ว โดยบอกว่า เราต้องรักษาป่าให้ได้ หากต้องการน้ำมีทางออกเป็นคำตอบอื่นอีกมาก แต่ต้องใช้กึ๋นในการคิด เพราะนิเวศบริการ หมายความว่า คุณค่าที่นำมาถึงมนุษย์เราอย่างมากมาย ในแง่ของเศรษฐกิจ แต่มากกว่านั้นคือการได้สัมผัสกับลำธารเย็นๆ ได้ฟังเสียงลำธารหายใจที่ชะล้างความวุ่นวายใจเราได้ นี่คือศักดิ์สิทธิ์ คุณค่าที่ใหญ่ไปกว่าตัวเลข ถ้าเรามองว่า มนุษย์ใหญ่ที่สุดแล้วจัดการทรัพยากรแบบที่เราทำมาแล้วก่อให้เกิดปัญหามากมาย   แต่ถ้าเรารู้แล้วว่าเราจะดำรงอยู่ในโลกนี้ต่อไปโดยไม่สร้างมลพิษ เกิดโลกร้อน สัตว์สูญพันธุ์ นี่คือ มุมมองใหม่ที่รัฐบาลจะต้องหาทางทำ

“  ทุกตารางนิ้วในป่าตอนนี้เหลือน้อยเสียจนเสียไปอีกหนึ่งตารางเมตร หนึ่งตารางนิ้วไม่ควรแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาแลก หมอนักอนุรักษ์กล่าวในท้าย

อย่างไรก็ตาม บนเวทีโลกก็มีข้อห่วงกังวลแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของไทยจากคณะกรรมการการมรดกโลก ซึ่งมีทั้งการลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ เส้นทางคมนาคมที่ตัดผ่านผืนป่า ทำให้ป่าเล็กลง ภัยคุกคามการบุกรุกพื้นที่ ปริมาณนักท่องเที่ยว และเรื่องการพัฒนาโครงสร้างเพื่อเก็บน้ำ ทั้งอ่างเก็บน้ำและเขื่อน จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 กรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย ปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา มีมติที่เกี่ยวข้องกับประเทศ ในส่วนกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เน้นย้ำประเด็นไม้พะยูง  ขอบเขตอุทยานฯ ทับลานที่ต้องปรับปรุงแนวเขต  การแก้ไข พรบ. อุทยานแห่งชาติ พรบ.การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  สิ่งที่กระทบกับชุมชน ตัวชี้วัดการดำเนินงาน งบประมาณ  การร้องขอเส้นทางถนน 348 อีกด้วย นอกจากป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่แล้ว ยังเพิ่มข้อกังวลโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในกลุ่มป่าแก่งกระจานมรดกโลกด้วย

ภาพ : เพจรักษ์คลองมะเดื่อ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อเสนอแก้ไขปัญหา 'ทับลาน' มูลนิธิสืบฯยัน ไม่ควรเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน

เพจ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความ ระบุว่า เปิดข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแนวเขตและที่ดินในพื้นที่ อช.ทับลาน โดยมีการแบ่งรูปแบบพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ต้านสร้างเขื่อน 7 แห่ง ชี้สูญเสียป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 1.6 หมื่นไร่

นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดข้อมูลสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของโครงการเขื่อนในพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุม 2 จังหวัด

'มูลนิธิสืบ' แถลงฉบับที่ 2 ทวงถามคืบหน้าสอบทุจริตเรียกรับสินบนกรมอุทยานฯ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ทวงถามความคืบหน้าการคืนความชอบธรรมให้บุคลากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรียกรับสินบน ระบุว่า

'ประธานมูลนิธิสืบ' ชี้เปรี้ยง 3 เรื่อง ทุบหม้อข้าวการทุจริตในกรมอุทยานฯ

ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ถ้าจะทุบหม้อข้าวของการทุจริตในกรมอุทยาน ต้อง "ทุบ" สามเรื่อง ได้แก่ 1. ทุบซื้อขายตำแหน่ง ต้องวางระบบการเข้าสู่ตำแหน่งตามความความรู้และประสบการณ์ให้ได้