'กาฬสินธุ์'โมเดลนำร่องไม่จน แห่งแรก

การทำให้คนทั้งประเทศหายจน อาจเป็นเรื่องยากมากกว่าการทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโต แม้บางคนบอกว่าทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน ถ้าเศรษฐกิจไม่โต แล้วคนจะหายจนได้อย่างไร  ซึ่งก็เป็นมุมมองด้านหนึ่งที่เป็นจริง แต่อีกหลายด้านที่เป็นจริงด้วยเช่นกัน และแสดงผลแล้วในหลายประเทศ  บ่งบอกว่าบางครั้งความร่ำรวย ก็อาจจะเซ็นกระสายมาถึงคนจนเพียงน้อยนิด  ทำให้ประเทศนั้นๆมีคนรวยแค่หยิบมือ แต่มีคนจนเป็นฐานใหญ่  และนี่เป็นบ่อเกิดทำให้เกิดคำว่า”ความเหลื่อมล้ำ “ในสังคม

โดยประเทศไทยถูกระบุว่า เป็นประเทศลำดับต้นๆของโลก ที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ  ความยากจนได้แผ่ชยายไปทุกสังคม โดยมีที่มาของปัญหาที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนราวกับปมด้าย  

เมื่อมีการเปิดมิติใหม่ ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ที่ประกาศว่านำวิชาการมาแก้ปัญหาคนจนในประเทศไทยให้หมดไป จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมาก    แม้จะผ่านมา 4ปี การขุดลึก พร้อมกับเดินหน้าขจัดความยากจน ยังดำเนินต่อไป แต่ก็ถือว่ายังไม่บรรลุผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด  โดยล่าสุด บพท.ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยกว่างซี ของประเทศจีน เพื่อนำประสบการณ์และองค์ความรู้การพัฒนาขนบทและแก้ปัญหาความยากจนของมหาวิทยาลัยแห่งนี้  มาปรับใช้กับประเทศไทย   ซึ่งเปรียบเสมือนการเพิ่มสารเร่งการแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น  

พื้นที่ 20 จังหวัดที่มีครัวเรือนยากจนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ถูกเลือกเป็นเป้าหมายใหญ่ ในการแก้ปัญหา ความยากจน  และ 7 จังหวัด ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง แก้ปัญหาชุดแรก  ได้แก่  ลำปาง กาฬสินธุ์  มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา  ก่อนที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป

ในทางปฎิบัติ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดแรก ที่จะเป็น”โมเดล” นำร่องแก้ปัญหาความยากจน  ก่อนเป็นแห่งแรก ด้วยเหตุผลว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่เป็นเครือข่ายทางวิชาการ และเป็น”พี่เลี้ยง”การทะลุทะลวงความยากจน มีความพร้อมมากที่สุด ที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ยังได้ประกาศนโยบายว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่  โดยมีโครงการ”การแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่แบบร่วมมือด้วยนวัตกรรมและการขับเคลื่อนระบบข้อมูลในจังหวัดกาพสินธุ์”ซึ่งมี รศ. จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี  และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ร่วมกันเป็นคณะทำงานขับเคลื่อน

 โครงการส่งเสริมการเพาะเห็ดในครัวเรือน   และการเผาถ่านแบบลดอ๊อกซิเจน ไม่ทำให้เกิดควัน ลดปัญหาPM2.5 หรือมลพิษทางอากาศ  และไม่ทำลายเนื้อไม้ ทำให้ได้ถ่าน 95% จากไม้ที่เผา โดยมีเตาเผาที่ประดิษฐ์โดยอาจารย์มหาวิทยาลัย กาฬสินธุ์   เป็น 2 โครงการเด่น ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ใช้นำร่องการแก้ปัญหาความยากจนในจังหวัด นอกจากนั้น ยังมีโครงการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และอื่นๆ ที่แนะนำส่งเสริม แต่ชาวบ้านจะเลือกทำอาชีพไหน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและความพร้อมของแต่ละคน

“บางคนไม่อยากเพาะเห็ด เพราะเขาไม่พร้อม ด้วยอายุ และสุขภาพ เนื่องจาก เห็ดต้องมีการดูแล จึงหันมาเลี้ยงไก่แทน เพราะดูแลน้อยกว่า ซึ่งเราจะให้เลือกตามความสมัครใจ “อาจารย์ม.กาฬสินธุ์ ที่ดูแลโครงการกล่าว

ภาพความยากจนของกาฬสินธุ์เป็นอย่างไร ผศ. ดร.วิชยุทธ จันทะรี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กาฬสินธุ์จนแบบไม่มีจริงๆ เป็นจังหวัดที่จนอันดับ 3 ใน 20จังหวัดรายได้ต่ำ  ทั้งที่ตามทฤษฎีวัดความจนมี หลายตัว เช่น จนเพราะกายภาพ สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย  จนเพราะไม่มีต้นทุนทางสังคม   จนเพราะไม่มีต้นทุนเศรษฐกิจ  แต่สำหรับกาฬสินธุ์จนเพราะปัญหาต้นทุนมนุษย์  คนส่วนใหญ่เรียนจบแค่ป. 6 ก็ออกไปทำงาน  อันดับแรกวิ่งไปที่จ.ขอนแก่น  ชลบุรี ระยอง เป็นการขายแรงงาน หรือบางรายขายไกลต่างประเทศ เช่น  เกาหลี ไต้หวัน  หรือเป็นการเข้าสู้ตลาดแรงงานแบบไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาที่สูง  แต่พอเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ก็ต้องเดินทางกลับ ยิ่งปี 2560 เป็นต้นมา เศรษฐกิจมีปัญหาหนักสุด  ทำให้แรงงานที่กลับมาแล้วไม่ได้กลับไปทำงานต่ออีก  ต้องกลับมาที่บ้านเกิด  ขณะที่ ในพื้นเอง ก็มีปัญหาการพนัน ยาเสพติด   ทำให้คนไม่ได้ทำมาหากินจริงๆ จังๆ  

ผศ. ดร.วิชยุทธ จันทะรี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

“การทำงานของเราในปีแรกได้ผลลัพธ์ดีมาก ทำให้บพท.เลือกเรานำร่อง เบื้องต้นมาจากการที่เราเก็บข้อมูลเอง ไม่ยึดข้อมูลภาครัฐ  ที่ไม่แม่นยำ ทำให้รู้ว่าคนจนในจังหวัดอยู่ตรงไหนเช่น เราพบว่า คนจนบางคนจนเพราะขาดสิทธิ์ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร หรือความช่วยเหลือของรัฐ  บางคนจนเพราะพันธุกรรม จะด้วยสันดานหรือยาเสพติด จนเพราะทุพลภาพ เป็นต้น “

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กำหนดพื้นที่ขจัดความยากจนไว้ 6 อำเภอ  และวางแผนไว้ว่าในปี 2570  จะต้องแก้ปัญหาความยากจนในจังหวัดให้ได้  โดยในปี 2567 จะขยายพื้นที่โครงการเป็น 12 อำเภอ ในปี 2568  ขยายเพิ่มเป็น 18 อำเภอ หรือครบทุกอำเภอของจังหวัด  ใน 2  ปีที่เหลือ  จะใช้เวลา 1 ปี ในการทบทวนกระบวนการแก้ปัญหาทั้งหมดทุกอำเภอ ก่อนสรุปผล

“6อำเภอ ที่จะนำร่องแก้ปัญหา  ทางจังหวัดไ/ฟเขียว ทุกคนต่างระดมหาคนมาช่วย ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดคุยกับมหาดไทย พัฒนาชุมชน เพื่อให้นำงบฯ เข้ามาลง  ถือว่าเป็นการร้อยเรียง เป็นเหมือนโครงข่ายเหมือนใยแมงมุม ในการทำงาน ใครที่เข้มแข็งก็ดึงเข้ามาช่วย  “รองอธิการบดีกล่าว

การเผาถ่านโดยเตาเผาแบบใหม่ ไม่สูญเสียเนื้อถ่าน และไม่เกิดควัน หนึ่งในอาชีพส่งเสริมแก้จน

การออกแบบส่งเสริมอาชีพเพาะเห็ด และเผาถ่าน ล้วนผ่านการคิดมาแล้วของนักวิชาการ ตั้งแต่การมองเห็นวัตถุดิบตั้งต้น ที่มีอยู่ในพื้นที่  เช่น มีเศษแป้งจากโรงผลิตแป้ง และน้ำตาล  มีตอต้นมันจำนวนมากในพื้นที่ ที่สามารถนำเผาเป็นถ่านกับเตาเผาไร้ควันได้อย่างดี ตลอดจนการมองเรื่องตลาดรองรับ โดยรศ.ดร.วิชยุทธ บอกว่า ตั้งเป้าที่จะให้กาฬสินธุ์เป็นเมืองเห็ดอัจฉริยะครบวงจร ทั้งการผลิตอุปกรณ์เพาะเห็ด โรงเรือนสำเร็จรูป เชื้อเห็ด การเพาะเห็ด และการแปรรูปเห็ด ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องเห็ดล้นตลาด การผลิตสามารถไปต่อได้อย่างดี

“เรามีแผนที่จะเอาโรงเรือนเห็ด ไปไว้ทุกโรงเรียน และเล็งว่าจะผลิตเห็ดมิวกี้ ที่มีราคาแพงกิโลกละ  400 บาท ซึ่งจะทำให้กาฬสินธุ์ เป็นเมืองเห็ดอัจฉริยะครบวงจร”

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ขาวบ้านมีอาชีพทำกิน ความยากจนลดน้อยลง   แต่ยังไม่เพียงพอ รศ.ดร.วิชยุทธ บอกว่า การแก้ปัญหาต้องมีความยั่งยืนด้วย โดยต้องยอมรับความจริงว่า  การเข้าไปดูแลช่วยเหลือชาวบ้านอาจมีความไม่เสถียรต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งเป็นผลมาจาก การเปลี่ยนผู้นำ หรือปัจจัยอื่นๆ ทำให้ตนเองมาคิดเรื่องนี้ และผุดหลักสูตรบริหารจัดการความยากจนขึ้น  เป็นหลักสูตรเรียนแบบไม่เก็บหน่วยกิต เหมาะกับ นักศึกษาปริญญาโท หรือข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น  เอกชนที่เป็นเจ้าของกิจการ

“คนที่มาเรียน จะต้องลงพื้นที่ เปรียบเสมือนเป็นArea Manager บริหารจัดการ และทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่  ซึ่งเหมือนกับการได้คนเช้าไปดูแลโครงการ ให้มีความต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ทำให้ขาวบ้านคนที่ใกล้รวย ก็จะรวย คนที่จนไม่มีเงินเลย ก็จะหลุดจากความจน  ” รองอธิการบดีฯกล่าว

อุทัย เก่งสาริกิจ ชาวบ้าน ต.สหัสขันธ์ เข้าโครงการแก้จน โดยการเพาะเห็ด

อุทัย เก่งสาริกิจ ชาวบ้าน ต.สหัสขันธ์  อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์  ที่อยู่ในโครงการแก้ปัญหาความยากจน ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ก่อนหน้านี้อุทัย มีอาชีพเก็บของเก่าขายมีรายได้เดือนละประมาณ 5,000-6,000 บาท แต่มีสมาชิกปากท้องในครอบครัวให้ต้องเลี้ยงดูถึง 20 คน รายได้จึงไม่เพียงพอ แต่เมื่อมาเช้าโครงการเพาะเห็ด แก้ปัญหาความยากจน เมื่อ 2ปีที่แล้ว โดยมีอาจารย์จาก ม.กาฬสินธุ์เป็นพี่เลี้ยงคอยสอนวิธีการทำในช่วงแรก  และยังได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบแป้งจากโรงงานผลิตแป้งมัน ทำให้ทุกวันนี้ อุทัยสามารถลืมตาอ้าปากได้ ปัจจุบันจะเก็บเห็ดเดือนละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งจะขายได้ประมาณ 1หมื่น

“แต่ก่อนพี่อุทัย เป็นคนไม่ค่อยพูด แต่พอเขามีรายได้จากการเพาะเห็ด สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ค่อยกล้าพูดมากขึ้น  มีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น เพราะวันนี้ แกไม่ใช่คนที่คอยรับความช่่วยเหลือจากคนอื่นแต่ฝ่ายเดียวเหมือนแต่ก่อน  ตอนนี้เวลามีงานบุญที่วัด หรืองานในชุมนุม แกก็จะเอาเห็ดที่ตัวเองเพาะไปช่วยทำบุญ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ทางวัดจะช่วยครอบครัวแก “อาจารย์จาก ม.กาฬสินธุ์ท่านหนึ่งกล่าว

เรื่องของอุทัย เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาความจน  ไม่ได้ทำให้แค่ปากท้องอิ่มเท่านั้น  แต่ยังกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมาได้ .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธนารักษ์แจงปมตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุ จ.กาฬสินธุ์

“ธนารักษ์” แจงปมตัดไม้พะยูง ในที่ราชพัสดุ จ.กาฬสินธุ์ ระบุเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน-เอกสาร ส่ง ป.ป.ช. ดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมยืนยันไม่มีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์เกี่ยวข้องกรณีชายฉกรรจ์อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่นำสว่านเจาะไม้พะยูง 9 ต้น