จับตาการระบาดโรคทางเดินหายใจ ย้ำวัคซีนป้องกันยังจำเป็นทุกกลุ่มอายุ

เป็นที่น่าจับตาสำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งรุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว ขณะที่ประเทศไทยก็ต้องเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจหลายชนิด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเตือนว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ต้องจับตาในปี 2568 ซึ่งรวมถึงโควิด-19 ปอดอักเสบ และ RSV

โดยในกลุ่มประชากรที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุดและเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด ขณะเดียวกัน ไวรัส RSV ส่งผลให้เด็กเล็กจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเริ่มพบการติดเชื้อในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไปมากขึ้น นอกจากนี้ โรคปอดอักเสบยังคงเป็นปัญหาใหญ่ โดยมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 400,000 ราย โดยกลุ่มเสี่ยงสูงสุดคือเด็กอายุ 0-4 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้โรคทางเดินหายใจรุนแรงและแพร่กระจายง่ายขึ้น ทำให้สถานการณ์โรคในไทยต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ด้วยเหตุนี้บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัด เสวนา “Prevention First – อุ่นใจเมื่อป้องกันไว้ก่อน” เจาะลึกถึงสถานการณ์เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจในประเทศไทย ตลอดจนวิธีป้องกันตัว

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา โรคติดเชื้อทางเดินหายใจยังคงเป็นปัญหาสำคัญของคนไทย ข้อมูลจากกองระบาด กรมควบคุมโรค ระบุว่าโรคหลักที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ โควิด-19, ปอดอักเสบ และปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) แม้ว่าหลายคนจะคิดว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง แต่ตัวเลขผู้ป่วยกลับเพิ่มขึ้นจาก 600,000 คนในปี 2566 เป็นกว่า 700,000 คนในปี 2567 ซึ่งยังถือว่าสูงมาก โดยในจำนวนนี้ กลุ่มที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่รักษาตัวเองที่บ้าน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงกว่าที่รายงานถึง 10 เท่า อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลดลง ในปี 2568 พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 แล้วกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV มีผู้ป่วยสะสมกว่า 8,000 ราย โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เด็กอายุ 0-2 ปี (51.84%) รองลงมาคือเด็กอายุ 2-4 ปี และ 5-9 ปี นอกจากนี้ ยังเริ่มพบการติดเชื้อใน ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นประมาณ 3% การระบาดของ RSV สามารถเกิดได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วง ฤดูฝนและฤดูหนาว โดยสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดคือ RSV-A (65.52%) และ RSV-B (34.48%) อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่าแนวโน้มผู้ป่วยลดลง

สำหรับโรคปอดอักเสบ มีผู้ป่วยในปี 2567 กว่า 400,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 ราย ซึ่งสูงกว่าปี 2566 จากการสำรวจโดยสุ่มตรวจใน 8 โรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรคและพันธมิตร พบว่าสาเหตุของโรคมาจากทั้งเชื้อ ไวรัสและแบคทีเรีย โดยเชื้อไวรัสที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่, RSV และโควิด-19 และเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลัก ได้แก่ Streptococcus pneumoniae (เชื้อนิวโมคอคคัส) ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังและป้องกันโรคทางเดินหายใจในกลุ่มเสี่ยง

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า มี 3 ประการ ได้แก่ 1.ตัวโรค  เชื้อไวรัสอาจมีการ กลายพันธุ์ ทำให้เกิดการติดเชื้อใหม่ได้ง่ายขึ้น แม้บางคนเคยติดเชื้อมาก่อน ก็อาจติดเชื้อซ้ำได้ 2.ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เด็กเล็ก มีภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ ส่วน ผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป 3.การเดินทางและสิ่งแวดล้อม การเดินทางไปต่างประเทศอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและนำเชื้อกลับเข้ามาแพร่ในประเทศ  อย่าง ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบอยู่แล้ว แต่เนื่องจากการป้องกันและการฉีดวัคซีนลดลง ทำให้การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น

ดังนั้นคนไทยที่เดินทางไปญี่ปุ่นควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การระบาดยังคงเป็นไปตามฤดูกาลภายในประเทศ หากสถานการณ์รุนแรงจนเป็นวิกฤติ องค์การอนามัยโลก (WHO) อาจมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประเทศไทยก็ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีแนมโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นด้วย  ขณะเดียวกัน ฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นยังทำให้อาการของโรคทางเดินหายใจรุนแรงขึ้นกว่าเดิม  ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้โรคทางเดินหายใจแพร่กระจายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุ”

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า เขื้อไวรัสที่เป็นวายร้ายของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือ โควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และ RSV ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นที่เข้าผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และแพร่กระจายไปที่สมองหรือปอดทำให้เกิดการอักเสบได้ นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุที่น่าเป็นห่วง ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 0-6 เดือน ยังไม่พร้อมที่จะสร้างภูมิคุ้มกันเอง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง หลังจาก 6 เดือนก็สามารถที่จะรับวัคซีน และสร้างภูมิคุ้มกันให้เข็งแรงขึ้น แต่ต้องมีการไปฉีดอย่างสม่ำเสมอ

“จากการศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนในเด็กควรเริ่มตั้ง 6 เดือนขึ้นไป ทั้งวัคซีนโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นในการป้องกันแม่ควรจะได้รับวัคซีนเหล่านี้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการส่งต่อภูมิคุ้มกันมากยังลูก หลังคลอดในช่วง 0-6 เดือน สำหรับวัคซีน RSV ปัจจุบันมีการพัฒนาให้สามารถฉีดได้ในผู้ใหญ่และหญิงตั้งครรภ์ และในอนาคตจะเร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้วัคซีน RSV ที่สามารถฉีดในเด็กได้ เพราะณ ปัจจุบันวัคซีน ถือเป็นอาวุธที่สำคัญ แต่หากไม่มีวัคซีนก็จะมีการพัฒนายาต้านไวรัสและแบคทีเรีย หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป อย่างไรก็ตามวัคซีน คือสิ่งที่เลียนแบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติ แต่สามารถช่วยป้องกันและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ เมื่อภูมิคุ้มกันที่สร้างแบบธรรมลดลง” นพ.ทวี กล่าว

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าเสริมว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้จำเป็นเฉพาะเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ก็ควรได้รับเช่นกัน เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันจะลดลง วัคซีนช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและป้องกันอาการรุนแรงเมื่อป่วย โดยการพิจารณาฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับ อายุ โรคประจำตัว ประวัติการฉีดวัคซีน และสถานะภูมิคุ้มกัน กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง

ผลการสุ่มสำรวจผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าว ดาราเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ ปอดอักเสบและการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อนิวโมคอคคัส ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ในหลายกรณี เมื่อติดเชื้อไวรัส ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่าย ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพราะการป้องกันถูกกว่าการรักษา และปัจจุบัน โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ แต่การฉีดวัคซีนยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ พบว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมีโอกาสป่วยหนักมากกว่าผู้ที่ฉีดต่อเนื่อง” ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวต่อว่า การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ใหญ่มีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันปอดอักเสบ ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือในบางรายอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและนำไปสู่การเสียชีวิต วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดอย่างน้อย 4 ชนิด ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 โรคติดเชื้อไวรัส RSV และโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม

แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ

นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไฟเซอร์มุ่งพัฒนายาและวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นภัยคุกคามทั่วโลก โดยวัคซีนที่จำเป็นสำหรับโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น วัคซีน PCV ป้องกันโรคปอดอักเสบ ถูกพัฒนาให้ครอบคลุม เชื้อนิวโมคอคคัส 20 สายพันธุ์ เพิ่มจากรุ่นก่อนที่ใช้มานานกว่า 20 ปี เพื่อป้องกันเชื้อที่รุนแรงยิ่งขึ้น, วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ชนิดสองสายพันธุ์ (Bivalent RSV preF Vaccine) ครอบคลุมทั้งสายพันธุ์ A และ B ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อส่งต่อภูมิคุ้มกันสู่ลูก และในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

 ผู้ติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กและผู้สูงอายุ

และวัคซีนโควิด-19 ยังคงจำเป็น โดยเฉพาะสำหรับ กลุ่มเปราะบาง (608) ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงเด็กเล็กและผู้ใกล้ชิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนตามสายพันธุ์ที่ระบาด โดยวัคซีนของไฟเซอร์ผ่านการศึกษาที่เข้มงวด ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก พร้อมกระบวนการเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร และตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับวัคซีน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' แจงโรค 'RSV' ความจริง 10 เรื่องที่ควรรู้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า RSV ความจริงที่ควรรู้

'สมศักดิ์' ลุยฉีดวัคซีน 'กาฬหลังแอ่น-ไข้หวัดใหญ่' ให้ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ 7,000 คน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราช

อาจารย์หมอจุฬาฯ เตือนไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก ฉีดวัคซีนไม่พอ ต้องป้องกันตัวเองด้วย

วัคซีนอย่างเดียวไม่พอที่จะยับยั้งการระบาด แต่พฤติกรรมป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวัคซีน