จับตา'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' หยุดอันตรายมลพิษพลาสติก-ขยะทะเล

หลังผลการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 (INC-5) ณ เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ปลายปี 2567 ไม่บรรลุผล แม้ว่ามีประเทศกว่า 100 ประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มุ่งมั่นการตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติก เพราะขยะพลาสติกก่อปัญหาใหญ่ระดับโลก หลายประเทศประสบกับปัญหาขยะล้นเมือง  และที่น่าวิตกอันตรายของไมโครพลาสติก พลาสติกที่แตกตัวออกกลายเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถพัดพาไปทั่วโลก แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดอย่างขั้วโลกเหนือยังพบไมโครพลาสติก แม้นับร้อยประเทศจริงจังและยืนหยัดต่อหมุดหมายนี้ แต่ยังมีหลายประเทศปฏิเสธที่จะยอมรับประเด็นข้างต้น นำมาสู่การต่อเวลาจนเกิดการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5.2 (INC-5.2) ขึ้นอีกครั้งกลางปี 2568  

ก่อนเวทีเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5.2 จะเปิดฉาก กรีนพีซ ประเทศไทย  มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม  และ มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดเวทีเสวนา “ไปกันต่อ INC- 5.2: ยังไงดีสนธิสัญญาพลาสติกโลก” ชวนภาคประชาสังคมร่วมถอดบทสรุปจากการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก จุดยืนของประเทศไทย และข้อคิดเห็นจากการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกเมืองปูซาน

ผานิต รัตสุข ผู้อำนวยการกองการจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาจากประเทศไทยในเวที INC-5 กล่าวว่า จากมติการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 เมื่อปี 2565 ประเทศต่างๆ รับรองข้อมติการหยุดมลพิษพลาสติกที่มีผลผูกพันข้อกฎหมายระหว่างประเทศ นำมาสู่การจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาฯ ขึ้นมาขับเคลื่อน เดิมทีต้องเสร็จภายในปี 2567 โดยมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง ครั้งที่ 1-5 ซึ่งเวที  INC5 คาดว่าจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และจะสรุปผลปลายปีนี้ที่เปรู แต่ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง  

จากการได้ร่วมประชุมใน INC5 ซึ่งประเทศไทยได้เตรียมท่าทีในประเด็นหลักไว้ ขณะที่ประธาน INC ได้เสนอร่างมาตรการใหม่ หรือ Chair’s Text เพื่อประนีประนอม เพราะจากเวที 4 มีความคิดเห็นแตกต่างกันชัดเจน  ใน Chair’s Text มี 32 มาตรา แบ่งการเจรจาเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่ม 1 ผลิตภัณฑ์พลาสติก สารพลาสติกที่ห่วงกังวล การออกแบบผลิตภัณฑ์ อุปทานของพอลิเมอร์พลาสติก  กลุ่ม 2 การปลดปล่อยมลพิษและการรั่วไหล  การจัดการขยะพลาสติก มลพิษพลาสติกที่มีอยู่ สิ่งแวดล้อมทางทะเล กลุ่ม 3 กลไกทางการเงิน และกลุ่ม 4 การดำเนินงาน การปฏิบัติตาม แผนปฏิบัติการระดับชาติ

หากสรุปสาระสำคัญของเอกสารดังกล่าว ผานิต กล่าวว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก  หารือห้ามการผลิต การใช้การนำเข้า หรือการส่งออก การกำหนดเกณฑ์เพื่อระบุผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นปัญหา ส่วนอุปทานของพอลิเมอร์พลาสติกปฐมภูมิ มีการพิจารณาเป้าหมายระดับโลกในการลดการผลิตพอลิเมอร์พลาสติกให้ถึงระดับที่ยั่งยืน และรับรองใน COP ครั้งที่ 1เกิดการถกเถียงคำว่า”ยั่งยืน” คืออะไร แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์ ดำเนินการตามความสามารถของประเทศ หลักการป้องกันไว้ก่อน   การยกเว้นเมื่อมีการร้องขอ เช่น หากยังปฏิบัติตามมาตรการ จะร้องขอเรื่องเวลา การช่วยเหลือด้านเทคนิค มาตรการลดและขจัดมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการบรรเทาและฟื้นฟู การจัดลำดับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพราะมลพิษพลาสติก ประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเกาะรับขยะพลาสติกของโลก เสี่ยงมลพิษสูง  รวมถึงรูปแบบและจำนวนกองทุนจะมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งในกลุ่มกลไกทางการเงินมีความเห็นต่างอย่างชัดเจน

ประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติ หน.ทีมเจรจาไทยระบุเป็นเรื่องสารเคมีที่ห่วงกังวลที่ใช้ในผลิตภัณฑ์พลาสติก   พลาสติกใช้ครั้งเดียว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่  ยากนำมาใช้ใหม่  การเติมสารเคมีอันตราย  การรายงาน การกำหนดเป้าหมายโลกในการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน   กลไกทางการเงินที่วางให้ประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศต้องสนับสนุนด้านการเงินก็ยังสรุปไม่ได้เช่นกัน นอกจากนี้ มีกลุ่มไม่เห็นด้วยการจัดการสารเคมีในการผลิตพลาสติก เป็นการจัดการที่ต้นทาง อีกกลุ่มประเทศยืนในความคิดจัดการมลพิษพลาสติก นั่นหมายถึง ปลายทาง

 “ จากการวิเคราะห์เอกสารแต่ละประเทศเสนอเข้ามา สหรัฐแสดงจุดยืนให้แต่ละประเทศทำตามแผนงานระดับชาติเรื่องการใช้สารเคมีผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ภาครัฐไม่หนุนจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นปัญหา ซึ่งไม่พูดเรื่องอุปทาน ส่วนจีนเป็นประเทศที่ชัดเจนในท่าที มีเป้าระดับชาติ และเสนอแต่ละประเทศจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกตามความสามารถของประเทศ รวมถึงให้ระบุแนวทางระดับชาติจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ก่อมลพิษ เห็นด้วยบางผลิตภัณฑ์ก่อมลพิษให้มีมาตรการจัดการระดับโลก ส่วนอังกฤษ นอร์เวย์ เสนอผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องควบคุมระดับโลก และมีข้อยกเว้นเช่นพลาสติกเพื่อการขนส่งเพื่อสุขภาพ  บราซิลเสนอเพิ่มรายการสารเคมีที่ห่วงกังวลระดับโลก โดยพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย  หลายประเทศไม่เห็นด้วยกำหนดภาพรวมระดับโลก แต่ให้พิจารณาระดับชาติ ส่วนไทยมีแนวคิดตรงกับแคนาดา สวิส เปรู จอร์เจีย ร่วมสนอมาตรการควบคุมและสารเคมีที่ห่วงกังวล ขณะที่หมู่เกาะคุกในนามประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะในแปซิฟิก กำหนป้าหมายระดับโลกลดการผลิตพลาสติกลงร้อยละ 40  ภายในปี 2583 เทียบกับปี 2568  “ ผานิต กล่าว

ด้าน พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ใน INC5 เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า มีตัวแทนบริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีเข้าร่วมถึง 220 คน สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เป็นข้อกังวลว่าการเจรจาจะทำให้การลดใช้และผลิตพลาสติกจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและนำไปสู่การจัดทำมาตรการที่หันเหไปจากวัตถุประสงค์ตั้งต้น ที่ต้องการให้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อยุติมลพิษพลาสติก ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ (INC) รอบหน้าจึงมีความสำคัญและน่าจับตามองอย่างมาก

ในมุมมอง  ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation กล่าวว่า แม้จะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่การขยายการเจรจาออกไปเป็นเรื่องที่ดีกว่าการรีบทำให้เสร็จแล้วโลกได้สนธิสัญญาที่แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้มา ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้จัดและประเทศสมาชิกต้องหารือว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ และต้องป้องกันให้ไม่เกิดขึ้นอีกในการเจรจาครั้งที่ 5.2 ยังมีอีกหลายข้อบทที่ต้องการเวลามากกว่า 7 วันในการเจรจา ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล เราต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้แตก ไม่เช่นนั้นการเจรจาครั้งที่ 5.2 อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เราจะเสียเวลาไปอีก และโลกเราจะมีโอกาสอีกสักกี่ครั้งที่จะได้เข้าใกล้การแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกได้อย่างแท้จริงขนาดนี้

ส่วน ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ในตอนแรก การประชุม INC5 คาดหวังไว้ว่าอย่างน้อยจะต้องมีการคุยกันเรื่องประเด็นสารเคมีในพลาสติกอย่างจริงจัง และนำไปสู่ร่างสนธิสัญญาพลาสติกที่มีการควบคุมสารเคมีในพลาสติกอย่างเข้มข้น แต่สุดท้ายการประชุม INC5 ครั้งนี้ไม่สามารถหาข้อสรุป รวมทั้งมีความพยายามในการลดความจริงจังต่อมาตราที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในพลาสติก และไม่สามารถเกิดร่างสนธิสัญญาพลาสติกได้ต้องประชุมใน INC5.2 ในอนาคตอีกครั้ง

ภาพโดย Greenpeace

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เชียงใหม่' วิกฤต! ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติไฟป่า 2 อำเภอ อากาศแย่อันดับ 3 ของโลก

จังหวัดเชียงใหม่ได้ออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่า รวม 5 ตำบล ในพื้นที่ 2 อำเภอ

'วัชระ' เปิดหนังสืออธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงแก้ฝุ่นพิษ ข้อมูลละเอียดยิบ

นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร้องเรียนต่อนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ขอให้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ

เก็บขยะศึกษาแหล่งที่มาในทะเล ปลุกความรับผิดชอบผู้ผลิต

กรม ทช. เก็บตัวอย่างขยะทะเลและศึกษาปริมาณขยะบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อตรวจสอบบาร์โค้ดเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตตระหนักถึงพลาสติกและขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือย่อยสลายได้

โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก

ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

ศาลสั่ง'วินโพรเสส'ชดใช้ 1.7 พันล้าน ฟื้นฟูมลพิษ

3 ก.ย.2567 - นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และโฆษก คพ. เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัท วิน โพรเสส จำกัด มีการรับและลักลอบเก็บของเสียเคมีวัตถุจากโรงงานต่างๆ มาเก็บไว้ในพื้นที่ของบริษัทเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งไปกำจัด ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องยาวนาน 10 ปี โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเมื่อปี 2560 คพ.