‘หมอโอภาส’เผย เหตุ‘คนตาย’เพิ่ม ฉีดแค่วัคซีน2เข็ม

ไทยพบติดเชื้อใหม่ 2.5 หมื่นราย เสียชีวิต 87 คน กทม.ติดเชื้อมากสุด รองลงมานครศรีธรรมราช นพ.โอภาสเผยสาเหตุยอดตายเพิ่มเพราะไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น วอนประชาชนเชื่อมั่นประสิทธิภาพ​ฟาวิพิราเวียร์ ทำให้ผู้ป่วยโควิดอาการดีขึ้น​ อย่าด้อยค่ายารักษา​ ชี้เคยมีบทเรียนจากวัคซีน หวั่นคนไทยเสียโอกาสเข้าถึง


เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,804 ราย ติดเชื้อในประเทศ 25,720 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 25,558 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 162 ราย, มาจากเรือนจำ 58 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 26 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 18,801 ราย อยู่ระหว่างรักษา 237,519 ราย อาการหนัก 1,414 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 512 ราย


เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 87ราย เป็นชาย 48 ราย หญิง 39 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 59 ราย มีโรคเรื้อรัง 24 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 4 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,328,973 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,067,292 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 24,162 ราย

ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 18 มี.ค. 269,172 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 127,068,984 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 468,424,614 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,093,827 ราย


สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,335 ราย, นครศรีธรรมราช 1,629 ราย, ชลบุรี 1,420 ราย, สมุทรปราการ 928 ราย, สมุทรสาคร 867 ราย, นครปฐม 642 ราย, ร้อยเอ็ด 623 ราย, นนทบุรี 586 ราย, นครราชสีมา 551 ราย และราชบุรี 545 ราย


ที่กระทรวง​สาธารณสุข​ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นนิวไฮว่า ข้อสังเกตคือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยทรงตัวที่ 20,000 รายต่อเนื่องมาราว 2-3 สัปดาห์ ฉะนั้น ข้อที่ไม่ทำให้กังวลมากเกินไปคือ ตัวเลขติดเชื้อไม่พุ่งสูงมาก หากเปรียบเทียบการระบาดโอมิครอน เช่น สหรัฐอเมริกา ยุปโรป หรือรอบบ้านเราอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่เมื่อตัวเลขขึ้นจะขึ้นสูงมาก แต่ไทยเราไม่ขึ้นสูงขนาดนั้นเพราะเรามีมาตรการและประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างดี เพื่อชะลอการระบาดให้มากที่สุด ฉะนั้น ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ 90% จะมีอาการน้อย อีก 10% จะมีอาการหนัก และในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่เสียชีวิต


อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เราจะพยายามลดตัวเลขการเสียชีวิตให้ต่ำที่สุด จากการวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป รวมถึงเป็นคนที่มีโรคประจำตัว ส่วนหญิงตั้งครรภ์ระยะหลังเสียชีวิตลดลงในระลอกโอมิครอน เมื่อไปดูปัจจัยสำคัญพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับหรือได้รับเพียง 2 เข็ม ทั้งนี้ คนที่รับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป โอกาสเสียชีวิตมีน้อยกว่ามาก ข้อมูลปัจจุบัน ผู้ที่รับวัคซีนครบโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าไม่ได้รับถึง 6 เท่า แต่คนที่รับ 3 เข็มแล้วโอกาสเสียชีวิตจะลดลงถึง 41 เท่า


"หลักการคือ ผู้ติดป่วยมาก ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราต้องช่วยกันลดผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทาง มีการพบปะ กิจกรรมร่วมกัน เช่น งานเลี้ยง งานทางศาสนา ในการระบาดโอมิครอนเราพบว่าโอกาสที่ 1 คนติดเชื้อแล้วนำเชื้อไปติดคนในบ้านทั้งเด็กและผู้สูงอายุมากกว่าเดลตา ดังนั้นช่วงสงกรานต์ก็ขอให้ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในบ้าน ด้วย 1.ฉีดวัคซีนคนในบ้าน

2.ผู้สูงอายุรับเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 เป็นต้น"
ถามว่าตัวเลขเสียชีวิตที่สูงเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อแผนการปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า แผนการปรับเป็นโรคประจำถิ่นที่ สธ.เสนอต่อ ศบค. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเห็นชอบคือ อย่างช้าที่สุดคือวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มีเวลาอีก 2-3 เดือนในการเตรียมความพร้อม ดังนั้นช่วงนี้เราต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จัดหายาใหม่ๆ เพื่อปรับแนวทางการรักษา และให้ประชาชนเข้าใจในระบบการดูแล


นพ.โอภาสกล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่สามารถหามาได้ ราคาไม่แพงเกินไป ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น รวมถึงประสบการณ์ของแพทย์ในการรักษา ยานี้ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง รักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสจะเป็นอาการรุนแรงลดน้อยลง และหายกลับบ้านได้มาก จึงมีการรวบรวมข้อมูลปรึกษาคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกวัน การพิจารณาต่างๆ จะต้องผ่านผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการรักษา การป้องกันควบคุมโรค และยังมีคณะวิจัยที่ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมาทำการวิจัยร่วมกัน เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ดี มาให้ประชาชนเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม กลุ่มรับยาฟาวิพิราเวียร์ 79% พบว่ามีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ภายใน 14 วัน ทำให้ผู้วิจัยมั่นใจว่ายานี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยจะให้ 1,800 มิลลิกรัม 2 ครั้งในวันแรก จากนั้นให้ 800 มิลลิกรัม วัลละ 2 ครั้งต่ออีก 4 วัน ช่วยลดอาการของผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญกว่าการไม่ได้รับยา อีกทั้งผู้รับยาจะมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา รูปแบบของยาก็ทานง่าย สะดวก ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล แต่ก็มีข้อจำกัดกับผู้ป่วยอาการค่อนข้างหนัก ประสิทธิภาพจะไม่ดีนัก กระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำแนะนำให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ที่อาการไม่หนัก รักษาแต่เนิ่นๆ


"ขอยืนยันอีกครั้ง ขอพี่น้องประชาชนได้เชื่อมั่นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขทำ และที่สำคัญคือเชื่อมั่นในยาที่ใช้รักษา ขอความกรุณาอย่าไปกังวลและอย่าไปด้อยค่ายาที่รักษา เราเคยมีปัญหาการด้อยค่าวัคซีน จนทำให้พี่น้องประชาชนหลายคนเสียโอกาสในการได้รับวัคซีน แถมบางคนกลัวจนไม่ฉีดวัคซีน และหลายรายน่าเสียใจ เสียชีวิตจากการไม่ได้รับวัคซีน" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง