ลุ้นดับตํ่า80เป็นโรคประจำถิ่น

ไทยติดเชื้อ 2.7 หมื่นราย ตรวจเอทีเคเป็นบวก 1.6 หมื่นราย ดับยังสูง 85 คน ศบค.ชี้สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ต้องตายน้อยกว่า 80 ถึงจะเป็นโรคประจำถิ่นได้ ฉีดเข็มกระตุ้นกลุ่ม 608 ถึงเป้า 70% ได้แค่ 7 จว. แนะพื้นที่เร่งรณรงค์ หวังสงกรานต์ไม่มีคลัสเตอร์เพิ่ม ศบค.เปิดข้อมูลกิจกรรมที่สามารถทำได้ใน "สงกรานต์ 2565"

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 27,560 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 27,298 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 27,283 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 162 ราย, มาจากเรือนจำ 54 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 61 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้มีผลบวกจากการตรวจหาเชื้อแบบเอทีเค 16,079 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,628,347 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 25,077 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,356,447 ราย อยู่ระหว่างรักษา 246,770 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,808 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 713 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 85 ราย เป็นชาย 51 ราย หญิง 34 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 69 ราย มีโรคเรื้อรัง 15 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 25,130 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 487,092,477 ราย เสียชีวิตสะสม 6,162,358 ราย

10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ประกอบด้วย กทม. 3,344 ราย, ชลบุรี 1,414 ราย,  นครศรีธรรมราช 1,412 ราย, สมุทรสาคร 978 ราย, สมุทรปราการ 945 ราย, สงขลา 789 ราย, ขอนแก่น 711 ราย,  ราชบุรี 679 ราย, ฉะเชิงเทรา 639 ราย   และนนทบุรี 612 ราย อย่างไรก็ตาม ทิศทางแนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจยังเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ประเทศไทยยังเป็นช่วงขาขึ้น มาตรการต่างๆ จึงยังสำคัญ และเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนที่จะช่วยลดอาการหนักได้ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ที่ยังมากกว่า 80 รายนั้น ซึ่งการที่จะทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้ อัตราการเสียชีวิตต่อวันควรจะต้องน้อยกว่า 80 ราย แต่เรายังมีทิศทางผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น            

พญ.สุมนีกล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง ข้อมูลวันที่ 30 มี.ค. มีจังหวัดที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กลุ่ม 608 เกิน 70% แล้ว 7 จังหวัด ได้แก่  นนทบุรี น่าน สมุทรปราการ ลำพูน มหาสารคาม ชัยนาท ภูเก็ต และมีจังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นให้กลุ่ม 608 เกิน 60% แล้วจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สมุทรสงคราม ระยอง ลพบุรี และ กทม. ขณะที่การฉีดเข็มกระตุ้นให้กับบุคคลทั่วไป มีจังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นได้ตามเป้า เกิน 70% แล้ว จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ น่าน พระนครศรีอยุธยา ลำพูน ภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 60% แล้ว จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง ระยอง ชัยนาท มหาสารคาม สระบุรี และ กทม. 

พญ.สุมนีกล่าวว่า สรุปสถานการณ์โควิดประเทศไทยวันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อหายใจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ส่วนผู้เสียชีวิตยังมีแนวโน้มเป็นไปตามที่คาดการณ์ ภาพรวมผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนักยังเพิ่มขึ้น ต้องขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงต้องรณรงค์ให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ มาฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้สงกรานต์นี้มีการพบปะสังสรรค์กันอย่างปลอดภัย ไม่มีคลัสเตอร์โควิด-19 เพิ่มขึ้นมา 

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เปิดข้อมูลกิจกรรมที่สามารถทำได้ใน "สงกรานต์ 2565" โดยกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้และกิจกรรมที่ควรงด มีดังต่อไปนี้

 (1) พื้นที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะหรือพื้นที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ ให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดงาน จัดสถานที่และดำเนินกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมทั้งมาตรการปลอดภัย สำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้

ก.การจัดกิจกรรมในลักษณะของการเล่นน้ำ หรือจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี สามารถกระทำได้

ข.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม

ค.ห้ามการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่

ง.ให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้า-ออกและให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม

จ.ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัดตามขนาดของสถานที่ หรือพื้นที่จัดกิจกรรมเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน

 (2) ห้ามการเล่นน้ำ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม

 (3) สำหรับการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน สามารถดำเนินการได้ โดยให้ ศปก.ในพื้นที่ที่ตั้งของชุมชนนั้นๆ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาอนุญาต และต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับแนวทางและมาตรการที่กำหนดในข้อกำหนดนี้ด้วย

 (4) สถานที่หรือการจัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้เกิดมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะด้วย

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ โดยให้ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง สามารถเข้าใช้บริการหน่วยบริการปฐมภูมิในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถไปใช้บริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่นทั่วกรุงเทพมหานคร โดยไม่ต้องมีใบส่งตัวจากหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นมา

 “ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นมา ประชาชนผู้ถือบัตรทองสามารถเข้ารับบริการในระบบบริการปฐมภูมิในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่ง โดยหน่วยบริการจะไม่มีการเรียกใบส่งตัว แต่ในกรณีโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางนั้น จะไม่ได้จัดหน่วยปฐมภูมิ ดังนั้นจึงอาจมีกรณีขอใบส่งตัวของผู้ป่วย ซึ่งประชาชนสามารถเช็กเครือข่ายของโรงพยาบาลได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือไลน์ @nhso ก่อนเข้ารับบริการได้” น.ส.ไตรศุลีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง