ห่วงโควิดอีสานพุ่ง วัคซีนจุฬาผลิตไทย

พบผู้ติดเชื้อโควิดในไทยเพิ่ม 9.2 พันราย เสียชีวิต 82 คน 6 จังหวัดอีสานป่วยติดท็อป 10 ของประเทศ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา เป็นห่วง "บุญบั้งไฟ" ทำโควิดอีสานพุ่ง หลังพบอยู่ในช่วงขาขึ้น จี้ฉีดวัคซีนควบคุมโรค เร่งทุก จว.ทำแผนโรคประจำถิ่นก่อน ก.ค. ภูเก็ตรอประเดิม จุฬาฯ เผยข่าวดี วัคซีน "ChulaCov19" ผลิตล็อตแรกในไทยแล้ว จ่อยื่น อย.ทดสอบในมนุษย์

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,288 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,234 ราย, มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,215 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 19 ราย, มาจากเรือนจำ 34 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 20 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 19,119 ราย อยู่ระหว่างรักษา 108,654 ราย อาการหนัก 1,638 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 776 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 82 ราย เป็นชาย 43 ราย หญิง 39 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 61 ราย มีโรคเรื้อรัง 19 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,290,824 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,153,310 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 28,860 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 514,653,221 ราย เสียชีวิตสะสม 6,265,797 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,061 ราย, บุรีรัมย์ 317 ราย,  ศรีสะเกษ 300 ราย, สมุทรปราการ 270 ราย, ขอนแก่น 233 ราย, ชลบุรี 231 ราย,  มหาสารคาม 231 ราย, อุบลราชธานี 201 ราย, นนทบุรี 170 ราย และร้อยเอ็ด 165 ราย

นพ.จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินหน้าทำให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้พบว่าในหลายพื้นที่มีสถานการณ์ดีขึ้น บางพื้นที่กำลังระบาด เช่น ภาคใต้สถานการณ์การระบาดลดลงชัดเจน เพราะมีการระบาดมากก่อนหน้านี้ แต่พื้นที่ภาคใต้ก็ยังมีการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทุกวัน จึงถือว่ายังมีความเสี่ยงอยู่

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คือ ภาคกลางและภาคตะวันออก เพราะมีการติดเชื้อไปมากแล้ว ประกอบกับมีการรับวัคซีนจำนวนมากเช่นเดียวกัน อาจจะมีแนวโน้มเป็นโรคประจำถิ่นได้ก่อนภูมิภาคอื่นๆ

"แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น ต้องทำพร้อมกันทั้งประเทศ จะประกาศพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งก่อนไม่ได้ เพราะเรายังมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน เป้าหมายคือในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเตรียมการเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งได้เสนอเข้าศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ในการประชุมรอบที่แล้ว คือมอบหมายให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนการรับมือการเป็นโรคประจำถิ่น เช่น หากพบการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ จะมีมาตรการตรวจจับเร็วและควบคุมโรคอย่างไร การเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มาตรการหน่วยงานองค์กรต้องช่วยกัน ดังนั้น ภายในจังหวัดต้องจัดทำแผนของตัวเองและเสนอผลการดำเนินการกลับมาส่วนกลางก่อนเดือนกรกฎาคมนี้" นพ.จักรรัฐกล่าว

อีสานระบาดขาขึ้น

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ยังน่ากังวลคือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำลังมีการระบาดขาขึ้น และคาดว่าน่าจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีก 2-3 สัปดาห์ และจากตัวเลขข้อมูล 3 ด้าน ทั้งยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ยอดผู้ป่วยปอดอักเสบ และเสียชีวิตยังสูง เป็นอันดับต้นๆ ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งคือการฉีดวัคซีนมีปัญหามาก ฉีดน้อยทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส)

"โดยมองว่าเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง ติดเชื้อแล้วมีอาการไม่มาก เลยฉีดวัคซีนแค่ 2 เข็มพอ ซึ่งขอยืนยันว่าวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอต่อการป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ ต้อง 3 เข็มขึ้นไป ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุ" นพ.จักรรัฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่เดือนพฤษภาคมนี้ จะมีประเพณีสำคัญคือ งานบุญบั้งไฟ ซึ่งหลายจังหวัดอนุมัติจัดกิจกรรมแล้ว ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า เรื่องมาตรการคงไม่ต้องปรับอะไร แต่พื้นที่ต้องมีการดูแลและบริหารจัดการให้ได้ เพราะตัวเลขการติดเชื้อ หากมีจำนวนมากอาจจะไม่น่ากังวลเท่าจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ

"ถ้าปอดอักเสบไม่มากก็โอเค ซึ่งส่วนนี้วัคซีนจะช่วยได้มาก จึงต้องเร่งให้มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงวัย ลูกหลานก็ต้องฉีดวัคซีนเพื่อตัดวงจรการนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุ" นพ.จักรรัฐกล่าว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้ผู้ป่วยใหม่ทุกคนเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับอาการ หรือลงทะเบียนในระบบ Home Isolation พร้อมเตือนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ขณะนี้มีการแอบอ้างมาจากหน่วยงานสาธารณสุข โทร.หาผู้ป่วยเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือให้โอนเงิน หากพบกรณีเช่นนี้ อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคล เพราะอาจถูกมิจฉาชีพนำไปสวมรอยทำธุรกรรมสูญเสียทรัพย์สิน หรืออาจถูกนำไปก่ออาชญากรรมอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้เดือดร้อนหรือยุ่งยากภายหลัง จึงฝากให้ทุกคนระมัดระวัง ทั้งด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิต ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนให้ประวัติหรือข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่นๆ รวมทั้งเตือนผู้ที่คิดหาประโยชน์ อย่าซ้ำเติมผู้ป่วย และการหลอกลวงใช้ข้อมูลบุคคลอื่นเป็นความผิดทางกฎหมายและมีโทษทางอาญาด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับการชี้แจงจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือจากสายด่วน สปสช. 1330  ว่า จะโทร.หาประชาชนเฉพาะในกรณีเมื่อบุคคลนั้นลงทะเบียนเข้ารับการดูแลในระบบ Home Isolation การโทร.หาผู้ป่วยก็จะไม่สอบถามข้อมูลส่วนบุคคลเนื่องจากได้รับแจ้งข้อมูลผู้ป่วยตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนแล้ว ดังนั้น อย่าได้ให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับคนที่อ้างโทร.มาจาก สปสช. รวมไปถึงหากพบมีการแจ้งให้โอนเงินไม่ว่าจะกรณีใดๆ อย่าได้หลงเชื่อโดยเด็ดขาด

ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด "ChulaCov19" ชนิด mRNA สัญชาติไทยว่า ภาพรวมถือว่าเป็นข่าวดี ซึ่งการพัฒนาระยะแรกเป็นการออกแบบวัคซีนและให้โรงงานในสหรัฐอเมริกาผลิตล็อตแรก มีข่าวดีว่าผ่านการพิสูจน์ในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว มีความปลอดภัย กระตุ้นภูมิได้สูงเป็นที่น่าพอใจ ขนาดที่เราเลือกเมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ที่อนุมัติใช้ในไทย เราได้ภูมิที่สูงกว่าชัดเจน

ผลิตวัคซีนในไทยได้แล้ว

 “ส่วนระยะที่ 2 คือการผลิตวัคซีนในประเทศ โดยบริษัท ไบโอเน็ตเอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานในไทย สามารถผลิตวัคซีนล็อตแรกเรียบร้อยแล้ว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ 2 อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก อย. คาดว่าจะได้รับคำตอบเร็วๆ นี้ หากทดสอบได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ น่าจะขอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ภายในปลายปี 2565” ศ.นพ.เกียรติระบุ

ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยีของเราเอง ตั้งแต่คิดค้น ออกแบบ ทดสอบ และผลิตได้ในโรงงานในประเทศ ทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้ หากเกิดการระบาดของโควิดกลับมาใหม่ ไม่ว่าสายพันธุ์ไหน หรือเกิดโรคระบาดใหม่ ๆ ขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาวัคซีนได้เองในระยะเวลาที่เร็วขึ้น เพราะเราพัฒนาได้ครบห่วงโซ่ด้วยตัวเราเอง ทั้งคิดค้น ออกแบบ ผลิตและทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ภายในไม่เกิน 6 เดือน ไม่ใช่ใช้เวลานานปีกว่าเหมือนตอนนี้ เพราะห่วงโซ่ยังไม่ครบวงจร

วันเดียวกันนี้ นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่า 100 คน มาประมาณ 10 วันแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 39 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่างประเทศที่เข้ามาเพราะได้ยกเลิกการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาแล้ว  จะดูเพียงฉีดวัคซีนครบ และมีประกันชีวิต สามารถเดินทางเข้าประเทศได้

"เมื่อจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจนจำนวนผู้ฉีดวัคซีนมีมากขึ้น และขณะนี้อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยเตรียมตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น การจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องมีอัตราตายที่น้อยกว่า 0.1% ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ ต้องมีเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนครอบคลุมเกิน 60% ให้ความสำคัญกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรเกิน 60% เช่นกัน ถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัดภูเก็ต ช่วงนี้มีผู้ป่วยน้อยลงเตรียมพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น"

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าล่าสุด จ.นครราชสีมาพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ตามคาดการณ์พีกสูง TR-PCR +196 ราย ATK +1,566 ราย รวม +1,762 ราย วันนี้ผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย โดยยอดผู้ป่วยเสียชีวิตตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมาสะสม 204 ราย รวมผู้ป่วยสะสมจำนวน 142,148 ราย รักษาหายกลับบ้านสะสม 113,808 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 28,136 ราย ส่วนการติดเชื้อในพื้นที่จังหวัด 1,759 ราย ผู้ป่วยนอกพื้นที่จังหวัด 3 ราย ส่วนอำเภอที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงแต่ยังสูดสุด อ.เมืองนครราชสีมา 176 ราย, อ.พิมาย 149 ราย, อ.ด่านขุนทด 102 ราย, อ.โนนสูง 101 ราย, อ.ห้วยแถลง 87 ราย, อ.ประทาย 87 ราย, อ.ปากช่อง 83 ราย, อ.โนนไทย 81 ราย เป็นต้น ส่วนอำเภอข่าวดีวันนี้มี 1 อำเภอที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเป็น 0 อาทิ อ.เทพารักษ์

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานข้อมูลสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 ถึงวันที่ 3 พ.ค.65 ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 317 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.สตึก เป็นเพศชาย อายุ 89 ปี โดยพบติดเชื้อในพื้นที่จังหวัด 313 ราย และติดเชื้อจากนอกพื้นที่ 4 ราย ซึ่งติดเชื้อมาจากจังหวัดเสี่ยงทั้งหมด รวมยอดผู้ป่วยสะสมติดเชื้อโควิด-19 ระลอกมกราคม 42,904 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 76 ราย หายป่วยสะสม 38,395 ราย กลับบ้านวันนี้ 478 ราย และยังรักษาอยู่ 4,433 ราย กระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง