ตร.แจงกม.PDPAดูเจตนา อย่ากังวลมุ่งคุ้มครองสิทธิ

ตร.แจงยิบกฎหมาย  "PDPA" คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิระบุถ่ายภาพ คลิปวิดีโอติดภาพบุคคลอื่นโดยไม่เจตนา โพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยไม่แสวงหากำไร  ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายสามารถทำได้  ชี้พิจารณาจากเจตนาเป็นหลัก "ชัยวุฒิ" ยันมีประโยชน์ต่อการคุ้มครองข้อมูลของปชช. "กสทช." ขานรับ PDPA ตั้งคณะทำงานร่วมกับองค์กรภาคี พร้อมหารือเกี่ยวกับแนวทางการบังคับใช้

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ กฎหมาย PDPA จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงถึงเจตนารมณ์กฎหมายดังกล่าว โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ  และเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิ และข้อมูลส่วนบุคคลที่ประชาชนอาจเกิดความวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม มีประชาชนบางส่วนยังขาดความเข้าใจในตัวกฎหมาย ได้มีการส่งต่อข้อความที่มีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนเข้าใจผิด จึงขอประชาสัมพันธ์ในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.การถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอที่ติดภาพของบุคคลอื่นโดยไม่เจตนา และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลที่ถูกถ่าย หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว สามารถทำได้ 2.การโพสต์ภาพหรือคลิปวิดีโอที่ติดภาพของบุคคลอื่นในสื่อสังคมออนไลน์ หากทำเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย สามารถทำได้ 3.การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากติดเพื่อป้องกันอาชญากรรมและรักษาความปลอดภัย 4.การทำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมก่อน ในกรณีดังนี้ 4.1. เป็นการทำตามสัญญา 4.2. เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ 4.3. เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตหรือร่างกายของบุคคล 4.4. เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ 4.5. เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ 4.6. เป็นการใช้เพื่อปกป้องประโยชน์ หรือสิทธิของตน

รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ตร.ขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชน ให้งดส่งต่อข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว เพราะอาจทำให้ถูกผู้ไม่หวังดีอาศัยความเข้าใจผิดดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. กล่าวว่า กฎหมาย PDPA นั้น มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ทำให้หลังจากนี้จะให้ฝ่ายกฎหมายทำความเข้าใจกับตำรวจทั่วประเทศอีกครั้ง โดยหลักการแล้วเป็นการคุ้มครองข้อมูลที่องค์กรต่างๆ  มีอยู่ และได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ ห้ามไม่ให้ไปเผยแพร่ ขายต่อ หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปทำอะไร การเผยแพร่ต่างๆ จะต้องตีความอีกครั้ง ทั้งนี้ จะพิจารณาจากเจตนาเป็นหลักว่าอะไรสามารถทำได้หรือไม่ได้ เช่น การไม่ไปเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว อาทิ องค์กรต่างๆ ที่มีข้อมูลในการสมัครสมาชิกจะไม่สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลส่งต่อไปได้ส่วนของตำรวจจะมีข้อมูลประวัติของประชาชนต่างๆ ทั้งกองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ระบบไบโอแมทริกซ์ ฯลฯ หากปล่อยให้มีการแฮ็กได้ง่ายอาจจะต้องรับผิดทางปกครอง ทางแพ่ง ทางอาญา ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม กล่าวว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา คือข้อมูลที่เราไปติดต่อธุรกิจ ติดต่อร้านค้า เราก็จะให้ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนตัวต่างๆในการทำธุรกรรมที่เรามีกิจการ เช่น อาจจะมีบริษัทประกันภัยชีวิต ธนาคาร ร้านค้าออนไลน์ หรือการไปซื้อยา ไปร้านเสริมสวย ซึ่งจะมีข้อมูลของลูกค้าที่เราไปให้ไว้ข้อมูลเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ส่วนประชาชนก็จะมีสิทธิ์ในข้อมูลของตัวเอง ถ้าไม่ให้ความยินยอมร้านค้าหรือธุรกิจที่เอาข้อมูลของท่านไป จะเอาข้อมูลนั้นไปใช้ไม่ได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นกฎหมายที่มีประโยชน์จริงในการคุ้มครองข้อมูลของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการให้ข้อมูลกับกิจการร้านค้าต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น

"กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ดูแลประชาชนในเรื่องข้อมูลข่าวสารของท่าน ไม่ใช่กฎหมายที่มุ่งจะไปเอาผิดหรือลงโทษใคร เพราะฉะนั้นไม่ต้องวิตกกังวล เพียงแต่ว่าหากข้อมูลของท่านมีการรั่วไหล มีการนำไปใช้ที่ไม่ถูกต้อง ท่านก็ร้องเรียนติดต่อเข้ามาได้ตามกฎหมาย ก็สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับคนที่เอาข้อมูลไปใช้ได้" นายชัยวุฒิ กล่าว

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ 1/2565 เรื่อง "กฎหมาย PDPA กับมิติใหม่ของการจัดการปัญหา SCAM" ว่า การแก้ไขปัญหา SCAM ที่เป็นการหลอกลวงโดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบและทำงานร่วมกัน ทั้ง กสทช. ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ตำรวจ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในภาครัฐและภาคประชาสังคม เช่น คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และองค์กรเพื่อผู้บริโภคต่างๆ จึงเสนอให้สร้างคณะทำงานร่วมในลักษณะพหุภาคีที่มีองค์ประกอบดังกล่าว ภารกิจของคณะทำงานต้องพิจารณาตลอดกระบวนการของการเก็บ รักษา ใช้ประโยชน์ และสื่อสารข้อมูลบนแพลตฟอร์มต่างๆ ให้มีความปลอดภัยจากการละเมิด ไม่ควรผลักภาระให้ผู้บริโภคเป็นผู้รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพ ซึ่งมีแต่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) กล่าวว่า เชื่อว่าจากนี้จะมีการร้องเรียนจากประชาชนมากขึ้น ควรมีการจัดทำช่องทางการร้องเรียนออนไลน์ อย่างกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำรับแจ้งความออนไลน์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้แจ้งความออนไลน์เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยเดือนละ 1.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการถูกหลอกวงเงินวันละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กฎหมาย PDPA ถือเป็นโอกาสสำคัญของทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลของไทย และเป็นความท้าทายของทุกองค์กรและภาคส่วนที่จะฝ่าวิกฤตปัญหานี้ร่วมกันได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งในการตระหนักรู้ถึงคุณค่าและมูลค่าของข้อมูลส่วนบุคคลของทุกภาคส่วนอย่างสมดุล

ขณะที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติออกประกาศว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ใช้บังคับแก่บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรมหรืองานวรรณกรรมอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น จึงขอให้สมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติทุกองค์กร ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน  เพื่อจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง