ต้องรอฟัง‘ศบค.’ ถอดแมสก์ที่โล่ง ปลดล็อกผับบาร์

"บิ๊กตู่" กระชับอำนาจบริหารโควิด! บอก "ชัชชาติ" รอฟัง ศบค.ไฟเขียวกรุงเทพฯ ถอดแมสก์ ขณะที่  ศปก.ศบค.ขีดเส้น 10 วันประเมินยอดติดเชื้อหลังปลดล็อกผับบาร์ ก่อนพิจารณาปล่อยถึงตี 2 ด้าน สธ.ชี้สัญญาณดีป่วยหนัก-เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ชี้กลุ่ม 608  น่าห่วงคนไม่รับวัคซีน เร่งฉีดเข็มกระตุ้นอีก 20 ล้านโดสให้ทะลุ 60% ตามเป้า

เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,162 ราย ติดเชื้อในประเทศ  2,159 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ  2,159 ราย จากเรือนจำ 1 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 4,879 ราย อยู่ระหว่างรักษา 29,509 ราย อาการหนัก 761 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 375 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 27 ราย เป็นชาย  13 ราย หญิง 14 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 20 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ศบค. พิจารณาผ่อนคลายให้ถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้ง  รวมถึงขอขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจากเวลาเที่ยงคืนเป็นตี 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กระบวนการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ ศปก.ศบค.ซึ่งตนเองกำกับดูแล มีการประชุมสัปดาห์ละครั้ง โดยทุกหน่วยงานจะเข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอปัญหาและข้อพิจารณาต่างๆ ซึ่ง ศปก. ศบค.จะรวบรวมให้เป็นแนวทางตามที่รัฐบาลกำหนด คือจะต้องให้มีการผ่อนคลายแบบเป็นขั้นเป็นตอนภายใต้ความปลอดภัย

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ส่วนการผ่อนคลายเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ไปถึงเวลาตี 2 นั้น เมื่อมีการผ่อนคลายหลายกิจกรรม/กิจการที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ก็จะประเมิน 10 วัน ดังนั้นอีกไม่กี่วันเราก็จะได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อ ประชาชนที่ได้รับผลประทบ การฝ่าฝืน ละเมิดกฎหมาย การให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือของผู้ประกอบการเป็นอย่างไร ดังนั้นโรดแมปที่วางไว้คือ ในรอบ 10 วันก็จะประชุมเพื่อประเมินและพิจารณาขยายเพิ่ม เช่นหากเป็นไปตามนโยบายทั่วประเทศก็อาจจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมดได้ สถานบริการทั้งหมดที่ตั้งเป้าเอาไว้จะต้องเปิดบริการได้เหมือนภาวะปกติภายใต้มาตรการควบคุมโรค

 “เรื่องการถอดหน้ากากมีข้อกำหนดเป็นกฎหมายกำกับไว้ เพราะฉะนั้นหากผ่านการพิจารณาจาก ศปก.ศบค.​ หรือมีข้อเสนอจากส่วนราชการต่างๆ แล้ว จะต้องเสนอไปยังศบค.เพื่อแก้กฎหมาย แก้ข้อกำหนดที่ออกโดย พ.ร.ก. ซึ่งขณะนี้ข้อกำหนดฉบับที่ 24 กำกับไว้เรื่องหน้ากากอนามัย  โดยใครจะไปสั่งให้ถอดอะไรโดยพลการไม่ได้ พร้อมยืนยันว่าอยากให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพตามปกติของกฎหมายปกติ ซึ่งจะเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่าการเร่งให้ถอดหน้ากากอนามัย โดยจะเป็นการพิจารณากฎหมายควบคู่กันไป”  พล.อ.สุพจน์ระบุ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ถึงกรณีที่ นายชัชชาติเตรียมเสนอ ศบค.ให้คนกรุงเทพฯ ได้ถอดหน้ากากอนามัยในสถานที่เปิดว่า "เขาพิจารณาอยู่แล้ว  หลายเรื่อง ศบค.เขาพิจารณาล่วงหน้าหมดแล้ว ขอให้รอฟังเขา"

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมของประเทศ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิต มีแนวโน้มลดลงสอดคล้องกับข้อบ่งชี้ เช่นการรักษาใน รพ.ที่เตียงไอซียู  เตียงอาการหนักใช้ไปเพียง 10% ทำให้ระบบสาธารณสุขเริ่มกลับไปให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นตามปกติ​ ​อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่อนุญาตให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะเปิดให้บริการ ยังไม่พบแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามอีก 1-2 สัปดาห์จึงจะบอกได้ชัดเจนว่า การเปิดสถานบันเทิงไม่มีผลกระทบต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้มีอาการหนักมากนัก

 “สำหรับผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 20-30 รายต่อวัน  ปัจจัยสำคัญมาจาก 1.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เห็นชัดจะอยู่ในกลุ่ม 70 ปีขึ้นไป 2.ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งใน 2 ปัจจัยนี้เป็นกลุ่ม 608 ที่มีสัดส่วนเสียชีวิตสูง อย่างวันนี้รายงาน  27 ราย มี 26 รายที่อยู่ในกลุ่ม 608 คิดเป็น 96%  และ 3.ส่วนใหญ่ไม่ได้วัคซีนสูงถึง 59% ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น 30% ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ตัวเลขมาตลอด เราจึงพยายามลดการสูญเสียชีวิตด้วยการเร่งฉีดวัคซีนร่วมมาตรการอื่นที่จำเป็น โดยที่ประชุมอีโอซีได้เห็นชอบแผนเร่งรัดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดอาการป่วยหนักและรุนแรงถึงกว่า 30% โดยเฉพาะช่วงต่อไปที่เราจะเปิดประเทศเปิดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น” นพ.โอภาสระบุ

นพ.โอภาสระบุถึงกรณีสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย หลังจากถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการสั่งซื้อเข้ามาเกินความต้องการและรอวันหมดอายุว่า รายงานข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.65 เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว  56 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 81.7 เข็มที่ 2 ฉีด 52 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75.9 และเข็มที่ 3 ฉีด 28 ล้านคน  คิดเป็นร้อยละ 41.1 โดยตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อเปิดกิจการต่างๆ ให้ปลอดภัย คือต้องฉีดเข็มที่ 3 อย่างน้อยร้อยละ 60 ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราต้องเร่งรัดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายอีก 15-20 ล้านโดส ทั้งนี้มีหลายจังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นมากกว่าร้อยละ 60 มี 20 จังหวัด คือ ภูเก็ต  นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา น่าน  สระบุรี ลำพูน ระยอง นครนายก ฉะเชิงเทรา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ยโสธร สมุทรสงคราม ชลบุรี ลพบุรี มหาสารคาม  และนครปฐม

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนคำถามที่ประชาชนอยากทราบคือ เราต้องฉีดทุกปีหรือไม่ จึงต้องเรียนว่าอยู่ในแผนที่เราดำเนินการแล้ว แต่จะฉีดทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ชัด แต่อย่างน้อยเรามีแผนเตรียมการแล้ว เช่นปี 2565 ที่จัดซื้อ 120 ล้านโดส ตอนนี้เรานำเข้ามา 36 ล้านโดส ฉะนั้นส่วนที่เหลือจะสำรองไว้ปีหน้า หรือเพื่อฉีดเป็นการกระตุ้นทุกปี​ เทียบตัวเลขง่ายๆ คนไทย 70 ล้านคน ฉีดคนละ 2 เข็ม รวมเป็น  140 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ฉีดสะสม 138 ล้านโดส แต่หากต้องฉีด 3 เข็ม ก็รวมเป็น 210 ล้านโดส ซึ่งจัดซื้อทั้งหมด  138 ล้านโดส ซึ่งมีสัญญาการส่งมอบในมือ หากจำเป็นต้องหาวัคซีนเพิ่มเติมก็จะมีแหล่งวัคซีนให้เหมาะสมกับคนไทย

เมื่อ​ถามถึงวัคซีนเข็มที่ 5 จะต้องฉีดระยะใด นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำวัคซีนเข็มที่ 5  สำหรับประชาชนทั่วไปออกมาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากข้อมูลยังไม่เพียงพอ แต่ก็มีประชาชนที่รับเข็มที่ 5 แล้ว ซึ่งขอให้แพทย์พิจารณาตามเหมาะสม เช่น ผู้เดินทางต่างประเทศ ผู้แพ้วัคซีน เป็นต้น ซึ่งจะดูเป็นรายบุคคล รวมถึงผู้ที่ประสงค์รับวัคซีนเนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันต่ำ หรือโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้โรครุนแรง แพทย์สามารถพิจารณาให้เข็มที่ 5 ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง