ถกพรบ.ตร.ป่วน! ‘พรเพชร’ไล่‘เสรี’ อืด!แค่11มาตรา

ที่ประชุมรัฐสภาถกร่าง  พ.ร.บ.ตำรวจฯ สุดอืด ได้แค่ 9 มาตรา  “เสรี” ปะทะเดือด “พรเพชร” โดนเชิญออกนอกห้องประชุม เหตุประท้วงไม่ยอมให้อภิปราย สุดท้ายที่ประชุมลงมติหักกมธ. ยืนตามร่างเดิมให้ ตร.มีอำนาจตามป.วิอาญา-กฎหมายอื่น 

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 9 มิถุนายน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ขอเสนอให้เลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองขึ้นมาพิจารณาก่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ฉบับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 32 ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยให้เลื่อนร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนด้วยคะแนน 392 ต่อ 125 งดออกเสียง 3 ไม่ออกเสียง 3 เสียง

จากนั้นเวลา 10.50 น. เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ วาระที่สอง เรียงตามมาตรา โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกมธ. รายงานผลการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวว่า การพิจารณาเนื้อหาของ กมธ. ได้นำรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชุดที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตสปช., ฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประกอบร่วมกัน รวมถึงนำเอกสารงานวิจัยและงานสัมมนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อสังเกตขององค์กรต่างๆ และรับฟังความเห็น คำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยววข้อง โดยผลการพิจารณาของ กมธ.ฉบับที่รับหลักการ มีจำนวน 172 มาตรา แก้ไขเพิ่มเติม 69 มาตรา เพิ่มขึ้นใหม่ 10 มาตรา และคงไว้ตามร่างเดิม 103 มาตรา และมีข้อสังเกตที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทราบและปฏิบัติ จึงบันทึกไว้ให้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาพรวมการอภิปรายเป็นไปด้วยความล่าช้า ผ่านไป 4 ชั่วโมงเพิ่งพิจารณาได้เพียง 5 มาตรา โดยขณะนี้พิจารณามาตรา 6อำนาจและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เนื่องจากเกือบทุกมาตรามี กมธ.เสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น และมีสมาชิกอภิปราย แต่ที่สุดที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบยืนตามที่คณะ กมธ.แก้ไข ตั้งแต่มาตรา 1 ชื่อพระราชบัญญัติ มาตรา 2 กำหนดวันบังคับใช้ มาตรา 3 ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ฉบับ มาตรา 4 คำนิยาม มาตรา 5 นายกรัฐมนตรีรักษาการ

สำหรับการพิจารณามาตรา 6 อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่ง กมธ.ได้มีการแก้ไข (2) ที่กำหนดให้ สตช.ดูแล ควบคุม และกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น แต่ในร่างเดิมได้กำหนดให้ครอบคลุมไปยัง “กฎหมายอื่น” ด้วย

พล.ต.อ.ชัชชาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. ในฐานะรองประธาน กมธ. ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน กมธ. ชี้แจงถึงการตัดคำว่า “กฎหมายอื่น” ออกว่า กฎหมายที่มีการบัญญัติกำหนดโทษในทางอาญาไว้ เจ้าหน้าที่ทำการจับกุม ตรวจค้นได้โดยอ้างอิงมาจาก ป.วิอาญาทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติว่ามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่นอีก

โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควรกับการอภิปรายมาตราดังกล่าว จนกระทั่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ทำหน้าที่ประธานในขณะนั้น ได้ขอให้สมาชิกช่วยกระชับเวลา เนื่องจากยังมีอีกหลายมาตรารอการพิจารณาอยู่อีกจำนวนมาก สร้างความไม่พอใจให้นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ที่กำลังอภิปรายอยู่จึงกล่าวว่า ตนยังไม่เข้าเนื้อหาเลย อย่างนี้จะรู้เรื่องกันอย่างไร ไม่เข้าใจว่าประธานจะตัดบททำไม ทำให้นายพรเพชรสวนขึ้นมาว่า เป็นเพราะนายเสรีไม่ได้ลงชื่อไว้ นายเสรีสวนทันทีว่า มีข้อบังคับข้อไหนที่ต้องให้ลงชื่อ นายพรเพชร จึงชี้แจงว่ามี ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่สภานี้ทำตลอดมา นายเสรีจึงสวนว่าอะไรคือวิธีปฏิบัติ เพราะตนมีสิทธิอภิปรายได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งนายพรเพชรและนายเสรียังคงตอบโต้กันไปมา จนนายพรเพชร ต้องกดปิดไมค์ไม่ให้นายเสรีพูด และได้ใช้ดุลพินิจว่านายเสรีได้อภิปรายมาพอสมควรแล้ว ทำให้นายเสรีไม่พอใจพร้อมกล่าวว่า ที่บอกว่าสมควรนั้นคืออะไร ท่านลองฟังคนทั้งสภาว่าพอสมควรแล้วหรือ  แต่นายพรเพชรยังยืนยันว่า อภิปรายมาพอสมควรแล้ว และได้เชิญให้ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปราย

โดย พล.อ.ต.เฉลิมชัยกล่าวว่า ตนขอทวงคำตอบของสิ่งที่อภิปรายไปเท่านั้น ไม่มีประเด็นไปทำลายองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเชื่อหลักการว่าสนิมเกิดจากเนื้อใน เช่น วงการแพทย์ที่จะเสียหายก็เกิดจากแพทย์กันเอง ทนายความที่จะเสียหายก็เกิดจากทนายความกันเอง ทำให้นายเสรี พูดแทรกระหว่างที่ พล.อ.ต.เฉลิมชัย อภิปรายว่า ถ้าไม่ให้พูดก็จะประท้วงแบบนี้ ท่านจะไม่ได้ประชุมแน่

จากนั้นนายพรเพชรกล่าวว่า ถ้านายเสรียังประท้วงอยู่ ก็ต้องมีมาตรการต่อไป นายเสรีจึงบอกว่า ก็ไม่เป็นไร ท่านก็ไล่ผมออก เพราะผมทำถูกข้อบังคับ และพยายามที่จะให้นายพรเพชรบอกว่าตัวเองผิดข้อบังคับข้อใด ท่านลองถามประธานรัฐสภาที่นั่งอยู่ข้างๆ ถ้าหากท่านต้องการให้ที่ประชุมสงบ ท่านลองเปลี่ยนประธานที่ประชุม ให้ประธานรัฐสภามาคุม แต่นายพรเพชรยังยืนยันว่าวินิจฉัยถูกต้องตามข้อบังคับที่ 50 แต่นายเสรียังคงไม่พอใจ พยายามขอให้เปลี่ยนประธานที่ประชุมดีกว่า และให้สมาชิกยกมือดูว่า จะให้เปลี่ยนประธานหรือไม่

นายพรเพชรจึงให้นายเสรีนั่งลงเพราะพูดเกินเลยไป แต่นายเสรีย้อนกลับว่า "ไม่นั่ง เพราะยังทำหน้าที่ไม่ครบถ้วน ถ้านั่งก็แสดงว่าไม่รับผิดชอบ ผมไม่นั่ง ท่านกรุณาไล่ผมออกจากห้องด้วย" นายพรเพชรจึงบอกว่า "ผมไม่ไล่ แต่ขอให้นั่งลง และไม่ให้อภิปราย" แต่นายเสรีไม่ยอม และจะขอประท้วงอยู่อย่างนี้ กระทั่งนายพรเพชรกล่าวว่า ถ้ายังประท้วงขอเชิญออกจากห้องประชุม

จากนั้นที่ประชุมได้ดำเนินการต่อไป และได้ลงมติ ผลปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยให้มีการแก้ไขด้วยคะแนน 430 ต่อ 42 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ดังนั้นมาตรา 6 ให้กลับไปใช้ตามร่างเดิม

ต่อมา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้สลับทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวว่า การทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมต้องสลับกันระหว่างตนและนายพรเพชร ขอให้สมาชิกให้เกียรติรองประธานรัฐสภาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ในช่วงเย็นจนถึงค่ำ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาได้เพียง 3 มาตรา โดยในเวลา 18.30 น. ได้ลงมติถึงมาตรา 9 ว่าด้วยวันทำงานและวันหยุดของข้าราชการตำรวจ จากทั้งหมด 172 มาตรา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง