ดีเซลพุ่ง35บาท/ลิตร เล็งหั่นกำไรการกลั่น

นายกฯ เผยขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันลดราคาแล้ว ย้ำรัฐบาลพยายามทำเต็มที่เพราะโรงกลั่นมีกฎหมายคุ้มครอง ด้าน "สุพัฒนพงษ์" เล็งสแกนสัญญาโรงกลั่น หั่นกำไรค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมัน ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะไปทางไหน 14 มิ.ย.เคาะแน่ ดีเซลชนเพดาน  กบน.ลั่นขึ้นราคาอีก 1 บาท/ลิตร

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  กล่าวถึงกรณีพรรคกล้าเสนอให้ลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นว่า ตอนนี้กำลังหาทางอยู่ในเรื่องของการกลั่น ให้ตรวจสอบไปแล้ว ต้องเป็นการขอความร่วมมือเพราะกฎหมายมันมีอยู่  เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด ทำให้ได้มากที่สุด ก็ต้องไปติดตามด้วยว่าราคาน้ำมันราคาเท่าไหร่ เพราะราคาขึ้นเกือบทุกวัน

"รัฐบาลก็ลดภาษีไปเยอะพอสมควร ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินหรือซับซิไดซ์ ก็เหลือแต่โรงกลั่นที่มีกฎหมายคุ้มครองเขาอยู่ ซึ่งก็ขอความร่วมมือเขาไปแล้ว ซึ่งตรงนี้รับทราบจากรัฐมนตรีพลังงาน รัฐบาลก็ทำทุกอย่างเต็มที่ในกรอบที่สามารถดำเนินการได้"

เมื่อถามว่า ตอนนี้กองทุนน้ำมันใกล้ติดลบจะแสนล้านบาทแล้ว นายกฯ ถามกลับว่า แล้วจะทำอย่างไร ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวระยะยาวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ลองไปดูที่อื่น ใช่เฉพาะประเทศไทยหรือเปล่า ก็เป็นกันทุกที่ มันอยู่ที่รัฐบาลดูแลประชาชนไปมากน้อยแค่ไหน เราก็พยายามดูแลหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าอะไรต่างๆ ซึ่งก็ต้องใช้เงินจำนวนมากๆ ลงไป ก็ต้องไปดูตรงนั้น

"วันนี้เราก็ดูให้ครอบคลุมทุกมิติ ถ้าเราดูแลประชาชน  แน่นอนค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเรานั้นจะมาจากไหนล่ะ ก็ต้องมีทางออก วิธีการของรัฐบาลก็มีไม่กี่วิธี  คือก็ต้องหาเงินมาเสริมตรงนี้ให้ ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี รัฐบาลก็ต้องพยายามทำให้ได้ มากน้อยก็ต้องทำ  ก็ไปเปรียบเทียบดูเอาก็แล้วกัน กับประเทศอื่นเขาว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง ราคาน้ำมันก็เห็นอยู่แล้วว่าต่างแค่ไหนอย่างไร ต้องมองบริบททั้งหมดที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งภายในและภายนอก" นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ว่า หากไปดูข้อเท็จริงจากข้อมูลการประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน  (สนพ.) มีตัวเลขค่าการกลั่นกำหนดไว้อยู่แล้ว ต้องยอมรับว่าช่วงหลังค่าการกลั่นขึ้นมามาก ค่าเฉลี่ยประมาณ 3 บาทต่อลิตร แต่วันนี้อยู่ที่ประมาณ 5 บาทต่อลิตร เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม แต่ทั้งปี 65 ค่าเฉลี่ยประมาณ 3  บาทต่อลิตร เมื่อไปเทียบช่วงโควิด-19 ต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร ช่วงนั้นโรงกลั่นไม่ได้กำไร แต่ค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ประมาณ 2 บาทต่อลิตร ถ้าไปดูย้อนหลังในอดีตที่โรงกลั่นได้อยู่ เพราะฉะนั้นหากดูในช่วง 5 ปีย้อนหลังไป ค่าเฉลี่ยที่โรงกลั่นได้อยู่ก่อนหน้านั้นได้ประมาณ 1 บาทต่อลิตร เพิ่งมาได้เฉลี่ย 3 บาทต่อลิตร ซึ่งเฉลี่ยออกมาแล้วไม่สูงมากเกินกว่าในอดีตกับค่าเฉลี่ย

 “อยากจะทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน ไม่ใช่เอาจุดต่ำสุดของประวัติศาสตร์กับจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์มาเทียบกัน อย่างนี้ประชาชนจะเข้าใจผิดได้ ต้องดูว่าค่าเฉลี่ยจริงที่เขาได้รับเป็นอย่างไร เพราะในช่วงโควิด-19 เขาต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร ก็ไม่เคยเจอมาติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปี ก็เพิ่งมาได้ช่วงนี้ เราไม่ได้วางใจในเรื่องของการดูแลเรื่องกำไรเกินควร หรือที่เรียกว่าลาภลอย เราก็ดูอยู่”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ตอนนี้เรามีข้อสรุปแล้วว่าจะไปในทางใด หลังจากได้หารือกันกับหลายฝ่าย อาทิ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยดูจากอำนาจฐานของกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่จะมีกำกับดูแล ซึ่ง สคบ.บอกว่าอำนาจไปได้ไม่ถึง และถ้าจะทำต้องใช้เวลานาน ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์อำนาจก็อยู่ในระดับราคาที่ประกาศหน้าสถานีบริการตามกฎหมายชั่งตวงวัด จึงอยากให้กระทรวงพลังงานใช้อำนาจตามฐานกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งเมื่อกลับมาดูก็พอจะมีช่องทางอยู่บ้าง แต่ต้องใช้เวลาซึ่งคิดว่าไม่นานจะได้ข้อสรุป

"กฤษฎีกาตอบกลับมาว่าช่องทางกระทรวงพลังงานพอจะมีอยู่ แต่อาจจะไม่เรียกโดยตรง ไม่คุมเลย ไม่เหมือนไปคุมราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำไม่ได้ อำนาจเราไม่มี ต้องเรียกเงินเข้ากองทุนน้ำมันมา แล้วเอาเงินก้อนนี้มาเป็นส่วนลดให้ราคาน้ำมันบางประเภทได้ แต่จะเป็นเงินเท่าไหร่อย่างไรก็ต้องดูให้เหมาะสมด้วย โดยกฤษฎีกาและอัยการจะไปดู และต้องยืนยันกลับมาว่าสามารถทำได้ทันทีหรือไม่ เพราะมีข้อสัญญาระหว่างกระทรวง สัญญาโรงกลั่นในอดีต ต้องไปดูอีกว่ามีข้อตกลงที่รัฐไปดึงดูดเขามาลงทุนให้ความมั่นใจอะไรเขาไว้บ้าง ต้องไม่ขัดกับข้อกฎหมายเหล่านั้น วันนี้ไม่มีเพดานค่าหน้าโรงกลั่น เพราะให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี  แต่ถ้าพบว่าส่วนต่างของกำไรห่างสูงขึ้นจึงต้องดำเนินการ"

รมว.พลังงานบอกว่า ในวันที่ 14 มิ.ย.จะได้ข้อสรุปสูตรการเก็บค่าการกลั่น โดยมีหลักการว่าค่าเฉลี่ยในอดีตได้เท่าไหร่ วันนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยพอสมควรก็ควรแบ่งกัน เหมือนในประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ และที่พรรคกล้าตกไป คือ เราไม่ได้ทำเฉพาะน้ำมัน แต่เราจะทำมากกว่านั้น คือโรงแยกแก๊ส ไม่ได้บลัฟ แต่ต้องไปดูข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เคยตั้งกระทู้ถามนายสุพัฒนพงษ์ แต่ก็ขอเลื่อนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำชี้แจง ดังนั้นขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ให้ลงมาดูแลอย่างจริงจัง และถ้านายสุพัฒนพงษ์ทำไม่ได้ก็เปลี่ยนตัวออกไป แล้วให้นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าและอดีต  รมว.การคลังมาเป็นแทน เพราะคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าเดิม

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้ปรับขึ้นราคาน้ำดีเซลลิตรละ 1 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลปรับจากลิตรละ 33.94 บาท เป็นลิตรละ 34.94 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.65 เป็นต้นไป สาเหตุของการปรับราคาเนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวนมาก ราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil)  อยู่ที่ 172.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (10 มิ.ย.65) เพิ่มขึ้นจากเดิมสัปดาห์ก่อนซึ่งอยู่ที่ราคา 158.29 เหรียญสหรัฐฯ  ต่อบาร์เรล (2 มิ.ย.65) 

อย่างไรก็ตาม การกลั่นน้ำมันที่จะมาทดแทนน้ำมันรัสเซีย เพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันก็ไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกเพิ่มขึ้นช้ามาก ขณะที่ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 12 มิ.ย.65 ติดลบ 91,089 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 54,574 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ  36,515 ล้านบาท

นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จากค่าโดยสารเมื่อปี 2562 ที่ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละประมาณ 27 บาท จนถึง ณ เวลานี้ ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 34 บาท ปรับเพิ่มขึ้นถึงลิตรละประมาณ 7 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นเที่ยวละประมาณ 1,400 บาท โดยเฉลี่ยหากวิ่งวันละ  50 เที่ยว ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นกว่าวันละประมาณ 70,000  บาท จึงขอเป็นตัวแทนในการกล่าวขอโทษประชาชนผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการรถโดยสารในชีวิตประจำวันว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารจะพยายามยืนหยัด เพื่อเคียงข้างการให้บริการให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ โดยระหว่างที่ยังไม่มีทางออกในการแบกรับต้นทุนนี้  อาจต้องส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบในความไม่สะดวกในการใช้บริการ เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการต้องลดเที่ยววิ่งลงและทยอยหยุดการให้บริการในบางเส้นทาง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง