ปลดล็อก7ชาติ พ้นดง‘โควิด19’

รองอธิบดีกรมการแพทย์ยอมรับ หลังจากนี้ผู้ติดเชื้อโควิดจะทยอยเพิ่มขึ้น 2-3 หมื่นคนต่อวัน ไทยปลดล็อก อิตาลี อิหร่าน มาเลเซีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และเมียนมาจากเขตระบาดโควิดแล้ว

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์  รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อหลังจากนี้จะทยอยเพิ่มขึ้น โดยอาจจะถึง 20,000-30,000 คนต่อวัน โดยนับรวมทั้งการตรวจ RT-PCR และ ATK แต่ยอดผู้ป่วยหนักตอนนี้อยู่ที่รวมประมาณ 1,000 คน โดยถือว่าคงที่แต่ไต่ขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าแม้ยอดติดเชื้อจะเพิ่ม แต่ก็อาการไม่หนัก และมีแค่ส่วนน้อยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล

ส่วนการพบสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ตอนนี้อยู่ที่ราวร้อยละ 50 จากผู้ป่วยทั้งหมดในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจใช้เวลา 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน สายพันธุ์ดังกล่าวถึงอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90

นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า สำหรับช่วงหยุดยาวสัปดาห์หน้านี้  ได้ย้ำถึงมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชน เมื่อออกจากบ้านทุกครั้ง และย้ำเรื่องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นว่ามีความสำคัญมาก สองเข็มยังไม่พอ ไม่สามารถกันโอมิครอนได้ ส่วนการพบเด็กนักเรียนติดเชื้อนั้น ยืนยันว่ามีมาตรการรองรับแล้ว โรงเรียนสั่งปิดเรียนในชั้นเรียนก็สามารถทำได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยครู นักเรียน และบุคลากรด้านการศึกษา หลังพบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายโรงเรียน โดยขอความร่วมมือสถานศึกษา  โรงเรียน ให้ลดหรืองดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของนักเรียนจำนวนมากออกไปก่อน พร้อมให้กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงสาธารณสุข ประสานการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ให้คำแนะนำในการป้องกัน ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงเรียน ด้วย มาตรการสร้างความปลอดภัย ป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา (6 หลัก 6 เสริม 7 เข้ม) กำหนดแผนเผชิญเหตุที่เป็นลำดับขั้นตอน รวมทั้งขอให้ผู้ปกครองนำเด็กนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 5-18 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเกณท์ ด้วยความยินยอมและสมัครใจ เพื่อให้นักเรียนยังสามารถมาเรียน Onsite ได้อย่างปลอดภัย

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันที่  9 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 2,084  ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,083 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,319,604  ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ขณะที่หายป่วยกลับบ้าน  2,417 ราย รวมหายป่วยสะสม 2,318,998 ราย  (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา  24,734 ราย

เสียชีวิต 15 ราย เสียชีวิตสะสม 9,115 ราย (ตั้งแต่  1 มกราคม 2565) ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 754 ราย ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม (ตั้งแต่ 28 ก.พ.64 - 7 ก.ค.65) รวม  140,221,958 โดส ใน 77 จังหวัด ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 57,019,249 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2  สะสม 53,252,664 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ขึ้นไป  สะสม 29,950,045 ราย

ทั้งนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus  Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ.2565  ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า "ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง และความเสี่ยงที่ท้องที่นอกราชอาณาจักรจะเป็นแหล่งแพร่ของโรคมีน้อยลงและมีความใกล้เคียงกัน

ประกอบกับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประชาชนในราชอาณาจักรมีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรส่วนใหญ่ล้วนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แล้ว ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของประเทศไทยในการเปิดรับผู้เดินทางจากทั่วโลก  และเพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ที่อาจจะเข้ามาในราชอาณาจักรมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ จึงเห็นสมควรให้มีการประกาศยกเลิกสาธารณรัฐอิตาลี (Italian Republic) สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of  Iran) มาเลเซีย (Malaysia) ราชอาณาจักรกัมพูชา  (Kingdom of Cambodia)

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao  People’s Democratic Republic) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of  Indonesia) และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า  (Republic of the Union of Myanmar)

จากการเป็นท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019  (COVID-19)) ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป".

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง