แจงงบลับตรวจสอบได้ ย้ำลดนายพล50%ปี70

"ผบ.เหล่าทัพ" ตบเท้าชี้แจง กมธ.งบปี 66 วงเงิน 1.97 แสนล้านบาท เผยงบลับตรวจสอบได้ สตง.กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่ม มีคณะกรรมการควบคุมการเบิกจ่าย ยันแผนลดนายพล 50% ปี 70 ตอบปมดรามายืนยันไม่ใช่รถประจำตำแหน่ง แต่เป็นรถที่เสริมสร้างการปฏิบัติงาน

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.2566 เพื่อพิจารณางบของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 197,292,732,000 ล้านบาท โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์  ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พล.อ.ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ  (ผบ.ทอ.) เข้าร่วมชี้แจงภาพรวมงบประมาณของหน่วยงานภายใต้กำกับดูแล และงบของเหล่าทัพต่างๆ อย่างพร้อมเพรียง

เริ่มต้นเป็นการพิจารณางบของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ก่อนที่จะมีการพิจารณางบที่ขอในปีนี้ ได้ให้กรมบัญชีกลางรายงานตัวเลขการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 พบว่าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เบิกจ่ายไป 67.52%  จากที่ขอ ใกล้เคียงกับกองบัญชาการกองทัพไทย ที่เบิกจ่ายไป 68.22%

พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ข้อมูลความมั่นคงมีชั้นความลับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงขอให้ระมัดระวังในการนำไปเผยแพร่ภายนอกต่อบุคลคลอื่น ทั้งนี้ทุกประเทศต้องจัดกำลังทหารป้องกันประเทศ ปกป้องอธิปไตย รับมือภัยคุกคาม แม้ความมั่นคงประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ก็คือความอยู่รอดของประเทศ ส่งผลถึงเศรษฐกิจความเป็นอยู่ประชาชน การเสริมสร้างกำลังทหารเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 52 และ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551

 “ปัจจุบันกองทัพไทยมียุทโธปกรณ์คิดเป็นเงินรวมทั้งหมดประมาณ 500,000 ล้านบาท การจัดหาทดแทนในส่วนที่จำเป็น และซ่อมบำรุงคิดเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 2% เพื่อดูแลรักษาให้คงสภาพ รวมถึงงบประมาณด้านการฝึกกำลังพล รวมถึงการสับเปลี่ยนกำลังทดแทนเมื่อมีการปรับย้ายการฝึกร่วมกับมิตรประเทศ ทั้งนี้หากกองทัพไทยเข้มแข็งก็สามารถรองรับภารกิจต่างๆ เช่น โควิด สถานการณ์วิกฤต ภัยพิบัติต่างๆ กองทัพมีความสมบูรณ์ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น เพราะมีหน่วยทหารอยู่ทั่วประเทศเข้าถึงพื้นที่รวดเร็ว” พล.อ.เฉลิมพลกล่าว

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ กมธ.วิสามัญฯ สอบถามในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมและกองทัพ อาทิ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน  ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ สอบถามกรณีที่เครื่องบินมิก-29 ของกองทัพเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าไทย ทางเมียนมานิ่งเฉยไม่ได้ขอโทษและอธิบายใดๆ มีเพียงแต่กองทัพไทยที่ชี้แจงแทน ขอถามว่างบประมาณที่ได้นั้นไปไหน การปฏิบัติการล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ หากเครื่องบินมิก-29 บินเข้ามาใน กทม.ซึ่งใช้เวลาไม่กี่นาทีจะทำอย่างไร ท่านละเลยหรือจงใจละเลยปฏิบัติหน้าที่ เราใช้งบประมาณเกือบ 200,000 ล้านบาททุกปีในการจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ แต่ไม่สามารถป้องกันประเทศได้ ทำไมถึงช้า และเทคโนโลยีเรานั้นใช้ยากลำบากจนเขาสามารถใช้ดินแดนของไทยปฏิบัติการได้สำเร็จ เราต้องรักษากฎบัตรประชาชาติ การปฏิบัติการครั้งนี้ถือว่าประเทศไทยได้รับความเสียหาย หากเกิดขึ้นอีกโดยมีการโจมตีประเทศไทยนั้นจะทำอย่างไร กองทัพอากาศจะซื้อเครื่องบินขับไล่เอฟ-35 ทำไม ทำไมไม่ใช้ระบบเรดาร์ป้องกันประเทศ มันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า เมื่อเทียบกองทัพไทยกับจำนวนประชากรที่มีในประเทศถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ในอาเซียน และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณพบว่า มากกว่าครึ่งเป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายประจำเรื่องเงินเดือน  เบี้ยเลี้ยง และค่าใช้จ่ายบุคลากร จึงอยากทราบแผนงานกองทัพในการที่จะปรับลดจำนวนกำลังพลอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันหากพิจารณาไปถึงการเกณฑ์ทหารของกองทัพบก ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายบุคลากรจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ยังอยากทราบถึงงบลับ จำนวน 469,955,000  บาท ที่อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก  กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการกองทัพไทย  ว่าจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้หรือไม่

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ สัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย ระบุได้รับการแจ้งจากคนในกองทัพว่า ปัจจุบันทุกเหล่าทัพมีการเช่ารถยนต์ให้ผู้บริหารระดับสูง รวม 36 คน เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม, รองปลัดฯ, ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และที่ปรึกษากองทัพ โดยรถที่เช่าเป็นรถเบนซ์ S500 และ S400  ซึ่งในจดหมายดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การเช่ารถให้ผู้บริหารกองทัพมีหลักเกณฑ์เหมือนหน่วยราชการอื่นทั่วไปหรือไม่ ที่จะต้องมีการกำหนดวงเงิน ค่าเช่า และจำนวนซีซีของรถยนต์ เทียบกับตำแหน่งต่างๆ ซึ่งตนอยากได้รับคำชี้แจงจากกองทัพ

ต่อมา พล.อ.วรเกียรติได้ตอบข้อซักถาม กมธ.วิสามัญฯ เกี่ยวกับแผนปรับลดกำลังพลว่า ตามนโยบาย รมว.กลาโหมจะต้องลดกำลังพลภาพรวมให้ได้ 5% ในปี  2570 ส่วนการเกณฑ์ทหารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดการเกณฑ์ต่อเนื่อง เช่นปีนี้เรียกเกณฑ์ 81,000 คน จากยอดผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร 500,000 คน คิดเป็น 15.9% นอกจากนี้กองทัพบกมีโครงการสมัครใจเป็นทหาร โดยมีสถิติผู้สมัครใจเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันกองทัพพยายามเพิ่มแรงจูงใจให้เข้ามาเป็นทหารกองประจำการ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากองทัพพิจารณาเรียกเกณฑ์ทหารในจำนวนที่เหมาะสมและรอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณ

พล.อ.วรเกียรติกล่าวต่อว่า ส่วนตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นทหารชั้นนายพลตั้งแต่พลตรีถึงพลเอก มีนโยบายลด  50% ในปี 2570 ทุกปีที่มีการปรับย้ายจะลดตามกรอบที่กำหนด ปัจจุบันลดกว่า 200 นาย คิดเป็น 2.5% เรื่องรถยนต์ประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวงกลาโหม, รองปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้น ยืนยันไม่ใช่รถประจำตำแหน่ง แต่เป็นรถที่เสริมสร้างการปฏิบัติงาน มีระบบสั่งการสามารถควบคุมการทำงานเพื่อตอบสนองภารกิจเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องจัดหารถที่มีสมรรถนะสูง ไม่ได้ใช้งบลับหรืองบพิเศษ เป็นงบปกติทั่วไป

 ปลัดกระทรวงกลาโหมกล่าวอีกว่า การใช้งบลับของกองทัพยืนยันว่ามีความจำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจกระทรวงกลาโหม และการใช้จ่ายเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ใช้ในภารกิจเกี่ยวกับ 1.ความมั่นคงและป้องกันประเทศ 2.ยาเสพติด 3.งานด้านการข่าว 4.ภารกิจต้องปกปิดผลประโยชน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือความก้าวหน้าเทคโนโลยี ต้องรายงานนายกฯ และ รมว.กลาโหมทุก 3 เดือน ว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง นอกจากนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเมื่อปี 2564 ในการตรวจสอบการใช้งบลับ  และผู้ว่าฯ สตง.เคยเดินทางมาพบตนและ ผบ.เหล่าทัพ และได้ให้ความร่วมมืออย่างดีมาตลอดในการให้ข้อมูล อีกทั้งยังมีคณะกรรมการควบคุมการเบิกจ่ายงบลับ

นอกจากนี้ พล.อ.วรเกียรติชี้แจงเพิ่มเติมถึงการแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ว่า เราพยายามแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับทั้ง 2 ฝ่าย โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ตอนทำทีโออาร์ก็ไม่คิดว่าเยอรมนีจะไม่ขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้จีน ทั้งที่ที่ผ่านมาเขาขายให้มาตลอด

 พล.อ.วรเกียรติกล่าวต่อว่า ส่วนการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 ของกองทัพอากาศนั้น ยืนยันว่าช่วงแรกกองทัพอากาศได้ตั้งงบประมาณในการจัดหาเครื่องบินทดแทน โดยตั้งงบในปี 2561 แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเป็นเครื่องบินของประเทศไหน ทั้งนี้ในการเสนอซื้อเครื่องบินจะต้องมีงบประมาณรองรับเพื่อเป็นหลักประกัน ส่วนกระบวนการจัดซื้อที่จะต้องผ่านสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ ในการจะดำเนินการเร่งรัดให้อย่างไร และเชื่อว่ากองทัพอากาศมีแผนรองรับอยู่แล้ว หากการดำเนินการล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจบการชี้แจงงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย  พล.อ.เฉลิมพลได้กล่าวขอบคุณ กมธ.วิสามัญฯ ที่ให้เหล่าทัพได้มาชี้แจง จากนั้นขออนุญาตประธานในที่ประชุมเปิดเพลง "กองทัพไทยหัวใจเพื่อประชาชน" เพื่อให้ กมธ.วิสามัญฯ ได้เข้าใจภารกิจทหาร เพราะตนพูดไม่เก่ง จึงให้ลูกน้องรวบรวมว่ากองทัพได้ทำอะไรบ้าง โดยประธานได้กล่าวอนุญาตเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศการประชุม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง