สธ.ยันยาฟาวิฯไม่ขาดแคลน

"หมอหนู" ยันฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาดแคลน แค่สั่งเพิ่มดูแลเด็กช่วงเปิดเทอม ชี้จัดซื้อยารักษาโควิดทำตามหลักเกณฑ์ ไม่เคยนำมาขายต่อ เตือนแพทย์ชนบทเคารพผู้บังคับบัญชา แนะลาออกวิจารณ์สะดวกกว่า สธ.แจงเคสเด็ก 6 ขวบติดโควิดเสียชีวิตจากภาวะ MIS-C  อย่าตื่นตระหนก ฉีดวัคซีนป้องกันได้

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. รายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,607 ราย โดยเป็นผู้ป่วยในประเทศทั้งหมด ผู้ป่วยสะสม 2,345,026 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,318 ราย หายป่วยสะสม 2,345,449 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 23,445 ราย เสียชีวิต 23 ราย เสียชีวิตสะสม 9,375 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 854 ราย

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี  และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า การประชุม ศบค.ชุดใหญ่สัปดาห์นี้ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากมีวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่รัฐสภา ทั้งนี้ การรักษาโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัสเสมอไป สามารถรักษาได้ตามอาการ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และบางรายที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 หรือมีโรคร่วม จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด ที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และจ่ายให้ประชาชนที่เข้ารักษาตามสิทธิสถานพยาบาลของรัฐ

ทั้งนี้ ได้ถามสอบไปยัง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เช้านี้ ระบุว่ายารักษาโควิด-19 ยังเป็นการจดทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ไม่สามารถหาได้ตามท้องตลาด ซึ่งการจัดซื้อยารักษาโควิดมีทั้งแบบซื้อตรงกับบริษัทแม่ที่ผลิตยา กับบริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์การผลิต ซึ่งจะมีราคาที่ถูกลงมา แต่ย้ำว่าจะซื้อยาจากแหล่งไหน จะต้องดูว่าบริษัทนั้นได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ขึ้นทะเบียนก็ซื้อไม่ได้

ส่วน รพ.เอกชน คลินิกเอกชนที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะถูกต้อง หากจะซื้อยาต้องซื้อจากบริษัทผู้จำหน่ายยาโดยตรง ไม่สามารถนำเข้ามาได้ ดังนั้น การโฆษณาว่ามียานำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านมาขายอยู่ตามอินเทอร์เน็ต ผิดกฎหมายทันที แต่หากเป็นการจ่ายยาใน รพ.ใหญ่ๆ รพ.เอกชน สามารถติดต่อผู้ผลิตยาที่ขึ้นทะเบียนแล้วนำมาขายได้ ส่วนเรื่องราคายาเป็นความพึงพอใจของผู้ซื้อผู้ขาย

ส่วนกรณีชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกตว่าราคายาที่ รพ.เอกชนจัดหามาได้ราคาถูกกว่าที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหาหลายเท่านั้น ไม่ทราบเรื่องราคาที่ รพ.เอกชนจัดหามา เพราะหน้าที่การจัดหาและซื้อยาเวชภัณฑ์เป็นหน้าที่ของ สธ. และต้องผ่านคณะกรรมการตามขั้นตอนตามระเบียบกฎหมาย และการใช้เพื่อประชาชน ในสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ประธานชมรมแพทย์ชนบทคือข้าราชการของ สธ. ต้องให้ความเคารพต่อดุลยพินิจของปลัด สธ.ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาด้วย ถ้าอยากตั้งคำถาม ก็ต้องลาออกมาแล้วไปอยู่ในคณะกรรมการอย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้สิทธิตามกฎหมายมาตั้งคำถามได้

นายอนุทินยืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่มีขาดแคลน โดย อภ.สั่งเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ทั้งในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ แต่ในช่วงนี้จำเป็นต้องสั่งยาฟาวิพิราเวียร์มาเพิ่ม เพราะโมลนูพิราเวียร์ใช้ได้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ยาฟาวิพิราเวียร์สามารถรักษาเด็กได้ จึงจำเป็นต้องสั่งเพิ่ม เลยกลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่าทำไมต้องการใช้เยอะ เนื่องจากใช้รักษาเด็ก เพราะเป็นช่วงเปิดเทอมแล้ว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ อภ.ซื้อมาเพื่อบริการให้ประชาชนฟรี และไม่มีการเอามาขายต่อ โดยขณะนี้ได้จัดซื้อยามาจากหลายแหล่งตามที่ผู้ผลิตได้มาขึ้นทะเบียนไว้กับ อย. ทั้งนี้ หากภาคเอกชนจะจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ จะต้องไปเจรจาซื้อกับบริษัทที่ได้มาขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.เอง

เภสัชกรหญิงศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า อภ.ดำเนินการจัดหายาต้านโควิด โมลนูพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ตามความต้องการของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข  กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19 สำหรับการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 5 ล้านแคปซูลนั้น อภ.ส่งมอบแล้วจำนวน 2 ล้านแคปซูลเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา อีกจำนวน 3 ล้านแคปซูล คาดว่าสามารถส่งมอบได้ไม่เกินปลายเดือนนี้ ขณะนี้ดำเนินการจัดหาเพิ่มเติมอีก 5 ล้านแคปซูล นอกจากนี้ อภ.ดำเนินการจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่วันที่ 1-20 ก.ค. 65 แล้วประมาณ 10 ล้านเม็ด และดำเนินการทยอยส่งมอบอย่างต่อเนื่องทุกวัน ขณะนี้เร่งกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งจัดหาเพิ่มเพื่อสำรองไว้ด้วย

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่จังหวัดตรัง ว่าเป็นการตรวจตามระบบเฝ้าระวังป้องกันสายพันธุ์ตามปกติของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้พบว่ามีความผิดปกติอะไร แต่เป็นรอบการสุ่มตรวจสายพันธุ์ตามปกติ เมื่อตรวจเบื้องต้นแล้วพบว่าไม่เข้ากับสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 ที่มีในไทยจึงต้องส่งถอดพันธุกรรมทั้งตัว และพบว่าเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 จึงได้รายงานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อทำการสอบสวนโรคต่อไป พร้อมทั้งรายงานไปยังฐานข้อมูล GISAID เพราะสายพันธุ์ดังกล่าว ทางองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู ส่วนอาการของผู้ติดโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ที่จังหวัดตรัง 1 คนนั้น ยังไม่มีอาการที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่นๆ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีข่าวเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 อายุ 6 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 ป่วยหนักและเสียชีวิตจากภาวะ MIS-C หรือการอักเสบหลายอวัยวะ ไม่มีประวัติฉีดวัคซีนโควิดว่า จากการตรวจสอบกับหน่วยงานในพื้นที่ ข้อมูลเบื้องต้นเป็นเด็กชายอายุ 6 ขวบ 8 เดือน เรียนชั้น ป.2 บ้านพักอยู่ จ.ปทุมธานี ถูกวินิจฉัยโรคโควิด-19 มีอาการไข้ น้ำมูก ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย รักษาที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนส่งตัวมารับการรักษาต่อที่ รพ.ปทุมธานี เนื่องจากมีอาการซึม มือเท้าเย็นและช็อก เมื่อวันที่ 19 ก.ค. แพทย์ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เกิดภาวะอักเสบในหลายอวัยวะ หรือภาวะ MIS-C ทั้งที่หัวใจและปอด ส่งผลทำให้อาการรุนแรงเสียชีวิต สอดคล้องกับประวัติเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะ MIS-C กรมควบคุมโรคขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอย่างยิ่ง

 “ภาวะ MIS-C ในเด็กป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เราต้องระวัง แต่อย่าตื่นตระหนก เพราะไม่ได้เกิดบ่อยในเด็กที่เป็นโควิด หากเด็กได้รับการฉีดวัคซีนครบจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยน้อยลง กรณีที่ป่วยอาการจะไม่รุนแรง จึงเชิญชวนให้นำบุตรหลานไปฉีดวัคซีน ที่มีทั้งไฟเซอร์และซิโนแวค" อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง