ศุลกากรเตือน นำเข้า‘กัญชา’ ให้ขออนุญาต

"อนุทิน" ยันปมกัญชาเสรีไม่ฉุดคะแนนภูมิใจไทย ลั่นห้ามผสมในยาสูบทุกชนิด ชี้ล็อกเข้มทุกชั้น ขณะที่ ศุลกากรเตือนประชาชนนำเข้ากัญชา จะต้องผ่านพิธีการศุลกากรให้ถูกต้อง หากลักลอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านนำเรื่องของกัญชาขึ้นมาอภิปรายกล่าวหา จะอธิบายเรื่องนี้ให้ประชาชนกระจ่างอย่างไร ว่าพูดไปหมดแล้ว ส่วนร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน เมื่อไปดูพบว่าในเนื้อหาก็มีรายละเอียดคล้ายกับที่ตนพูดไว้ ขณะนี้กฎหมายที่ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ก็ไม่มีเรื่องของการใช้สันทนาการและนันทนาการ ถือว่าจบไป และหากจะสูบก็เคยย้ำว่าให้อยู่ในบริเวณบ้าน อย่าไปที่ไหน ไม่เคยบอกว่าสูบได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้นต้องฟังให้จบคลิปที่ปราศรัย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าประเด็นเรื่องกัญชาจะไม่ดึงคะแนนเสียงของพรรคภูมิใจไทยลดลงใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เราทำตามที่เคยให้สัญญาไว้กับประชาชน และส่วนหนึ่งที่มาเป็นรัฐบาลได้ก็มาจากเรื่องกัญชา เขาส่งเรามาทำเรื่องกัญชาก็ต้องทำให้เรียบร้อย และเชื่อว่าคะแนนเสียงก็ไม่น่าจะดิ่งลง ทุกอย่างมีข้อป้องกันไว้หมดแล้ว ส่วนที่ระบุว่าไม่มีความรอบคอบไม่มีข้อกฎหมาย ก่อนที่จะนำมาดำเนินการก็ไม่ใช่ เพราะกฎหมายมีห้ามชัดเจนไว้ทุกอย่าง และจากการประชุมคณะกรรมการยาสูบแห่งชาติ ห้ามนำกัญชามาผสมในยาสูบใดๆ ทั้งสิ้น ขอย้ำว่าเราล็อกแล้วล็อกอีก

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านระบบควบคุมทางศุลกาการ ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2565 โดยมีสาระสำคัญให้กัญชากัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ยังคงเป็นยาเสพติดนั้น แม้ว่ากัญชากัญชงจะไม่เป็นยาเสพติดดังกล่าวข้างต้น แต่หากมีการนำเข้า ผู้นำเข้าจะต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงประกาศของกรมวิชาการเกษตรที่ได้ออกประกาศควบคุมนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา และควบคุมป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์อย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่ายังมีการลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชาและต้นกล้ากัญชาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดนไทย ซึ่งหากนำเข้ามาโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร หรือนำเข้ามาโดยผ่านพิธีการศุลกากร

แต่ไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำเข้าอาจได้รับโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 กล่าวคือกรณีแรก หากเป็นการนำเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ถือเป็นความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากรมาตรา 242 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินสี่เท่าของราคาของรวมอากร

กรณีที่สอง หากนำเข้ามาโดยผ่านช่องทางศุลกากร แม้ปัจจุบันกัญชาจะถูกปลดจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 แล้ว แต่การนำเข้ายังต้องคำนึงถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ดังนั้น กัญชายังถือเป็นสินค้าควบคุมการนำเข้า ซึ่งหากไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับอนุญาตก่อนที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย อาจเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อกำกัด ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 244 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาท)

สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์จะนำเข้ากัญชา จะต้องผ่านพิธีการศุลกากรและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากลักลอบนำเข้าหรือนำเข้ามาโดยผ่านพิธีการศุลกากร แต่ไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ และหากนำกัญชาออกนอกประเทศซึ่งประเทศเหล่านั้นยังกำหนดให้กัญชายังเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อาจมีโทษทั้งจำทั้งปรับ หรือโทษสูงสุดคือประหารชีวิต จึงขอให้ศึกษากฎหมายของต่างประเทศให้ดีก่อนจะนำติดตัวออกหรือส่งออกไปต่างประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทั่วประเทศ "ทัศนะของประชาชนต่อนโยบายกัญชาเสรี" จำนวน 1,215 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-15 กรกฎาคม 2565 พบว่า ภาคประชาชนส่วนใหญ่ ยังให้ความเป็นห่วงว่าประชาชนจะใช้ผิดประเภท เพราะประชาชนยังมองว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษถึง 63.5% และส่วนใหญ่ 68.5% คนต่างจังหวัดมองแบบนั้น ส่วนประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมองเพียง 42.7%

นอกจากนี้ หลังจากที่มีการปลดล็อก ประชาชนส่วนใหญ่ 78.2% ตอบว่าไม่เคยใช้กัญชา และ 12.1% ตอบว่าเคยใช้ในช่วงไม่เกิน 1 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องดื่ม 34%, อาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว 26.3%, ขนม คุกกี้ 19.7% และยังมีการสำรวจการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ พบว่าหากแพทย์หรือหมอสั่งยาที่มีส่วนผสมของกัญชาประชาชนส่วนใหญ่ 60.5% ไม่ใช้ เพราะกังวลผลข้างเคียง กลัวใช้ผิด ยังไม่มีผลวิจัยที่เพียงพอ ส่วนที่ตอบว่าใช้ 29% เพราะอยู่ในการดูแลของแพทย์ สนับสนุนเกษตรกรและ 10.5% ไม่แน่ใจ

     สำหรับการสำรวจความรู้เกี่ยวกับกัญชา พบว่า 38.1% รู้ปานกลาง,  31.3% รู้น้อย และ 19.6% รู้มาก ซึ่งรวมไปถึงความรู้ด้านประโยชน์และโทษข้อควรระวังในการใช้ โดยส่วนใหญ่ยังมีความรู้ปานกลางเท่านั้น ส่วนการสำรวจทัศนคติต่อการเปิดเสรีกัญชา ส่วนใหญ่ 58.3% ไม่เห็นด้วย และ 41.7% เห็นด้วย และส่วนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่คือใช้ทางการแพทย์และสันทนาการ

พร้อมกันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองว่าการเปิดเสรีกัญชามีผลกระทบต่อสังคมเด็กและเยาวชน ดังนั้น สิ่งที่ต้องการเสนอแนะคือ ควรให้ความรู้ความเข้าใจผลดีผลเสีย ทั้งระยะสั้น ระยะยาว กำหนดปริมาณการบริโภค ควรมีการกำหนดกลุ่มอายุการใช้ สถานที่ในการใช้ พร้อมมีบทลงโทษที่ใช้มากเกินปริมาณที่กำหนด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อกัญชากัญชงได้ปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พืชกัญชา กัญชาจะสร้างรายได้เฉลี่ยให้กับเกษตรกรประมาณ 8 แสนถึง 1.2 ล้านบาทต่อปีต่อไร่ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่จะส่งผลมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท โตเฉลี่ย 15% ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลจากนโยบายในการส่งเสริม รวมไปถึงความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะตอกย้ำแนวปฏิบัติจัดระเบียบสังคม

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะวางแนวปฏิบัติคณะทำงานบูรณาการมหาดไทย – ตำรวจ ขับเคลื่อนจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้กระทำผิด ชี้ความมั่นคงคือหัวใจเมื่อประชาชนเชื่อมั่น สังคมปลอดภัยแล้วเศรษฐกิจจะตามมา