‘พท.’ยันอารยะ! เมินองค์ประชุม รอพปชร.ฟัดกัน

สาธิตชี้หากองค์ประชุม 15 ส.ค.ครบ กฎหมายลูกก็น่าจะผ่านได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด “ปชป.-ภท.” ประสานเสียงไม่โดดร่มแน่ ส่วน พปชร.โบ้ยไม่ใช่อยู่ที่เราคนเดียว “เพื่อไทย” ยืนยันเป็นอารยะขัดขืนไม่แสดงตัว ย้อนเกล็ดดีกว่าปาสิ่งของ ลากเก้าอี้ประธานสภา “พิเชษฐ” ปั่นหากมีแจกกล้วยอาจทำให้เกมพลิกผัน อุตตมวอนนักการเมืองทำหน้าที่เรียกศรัทธา

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้แล้วเสร็จตามกรอบ 180 วันได้หรือไม่ว่า ยังไม่ทราบ แต่วุฒิสภาได้เลื่อนประชุมวาระอื่นไป ซึ่งต้องขอขอบคุณที่เปิดโอกาส และขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันอย่างเต็มที่

ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)  กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว อยู่ที่องค์ประชุมร่วมกันทั้งหมดในรัฐสภา ต้องดูว่าวิปรัฐบาลจะหารือกันอย่างไร  รอดูข้อสรุปตรงนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นดำริของนายชวนที่ต้องการให้เปิดประชุมรัฐสภา แต่สมาชิกนิติบัญญัติก็ต้องมานั่งคุยกันว่าจะอย่างไร แต่เรื่องนี้ไม่ทราบลึกๆ จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่ได้อยู่ในวิปรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยอมรับว่าการพิจารณาจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการประชุมในวันที่ 15 ส.ค. โดยขึ้นอยู่กับองค์ประชุม  หากองค์ประชุมครบวันเดียวก็เสร็จทันอยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนหน้าที่มีปัญหาเนื่องจากทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันให้ตกไป เพื่อกลับไปใช้ร่างเดิมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใช้บัตรสองใบและใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้นและมีให้เลือกมากกว่าเดิม

เมื่อถามว่า กมธ.เห็นด้วยแล้วใช่หรือไม่ให้กลับไปใช้ร่างเดิมของ กกต. นายสาธิตกล่าวว่า ตนเองเป็น กมธ.เสียงข้างน้อยซึ่งเห็นด้วยมาตลอดกับสูตรหาร 100 แต่ผลประชุมในวันที่ 15 ส.ค.ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ ส.ส.แต่ละคน ส่วนการที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่เข้าร่วมการประชุมนั้นก็เป็นเอกสิทธิ์ รวมทั้งที่พรรคอื่นหรือ ส.ว.
ไม่เข้าร่วมก็เป็นเอกสิทธิ์เช่นเดียวกัน

“ประชาชนมีสิทธิ์ตำหนิถ้าสภาล่ม แต่ทุกฝ่ายต้องพยายามอธิบายและให้ข้อมูลประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าใจได้ แต่ยอมรับว่ากระทบกับภาพลักษณ์สภาอยู่แล้ว” นายสาธิตระบุ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรค ปชป.ระบุว่า พรรคไม่ได้กำชับอะไรกับ ส.ส.เป็นพิเศษ เพราะเคยมีมติชัดเจนไปแล้วว่า ส.ส.ของพรรคจะเข้าประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ถึงแม้มีความพยายามจากบางฝ่ายบางคนบางพรรคต้องการทำให้สภาล่มเพื่อให้กฎหมายตกไป แต่พรรคไม่ขอเข้าร่วมสังฆกรรม ทำให้สภาล่มตามความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์ในวันที่ 15 ส.ค.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็คงทำตามปกติ โดยพอมีปัจจุบันทันด่วนแบบนี้เชื่อว่า ส.ส.หลายคนก็คงมีการนัดหมายและสิ่งที่ต้องดำเนินการอยู่ ซึ่งก็แล้วแต่ ส.ส.แต่ละคนจะดำเนินการอย่างไร แต่ไม่อยากให้สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงรัฐภาต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์และผิดหวัง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องกราบขออภัยประชาชนด้วย

สภาล่มกระทบภาพลักษณ์

ส่วนนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ระบบบัญชี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยืนยันว่า พรรค ภท.จะเข้าร่วมประชุมครบทุกคน แต่ผลการประชุมจะออกเป็นอย่างไรนั้นคงกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่ามีการกำหนด มีการเล่นเกม จนทำให้สภาล่ม ทำให้กฎหมายลูกที่เรียกกันว่าหาร 100 หรือหาร 500 นั้นไม่ผ่าน ซึ่งสภาล่มที่ผ่านมาจากการฟังกระแสของประชาชนนั้นเป็นภาพลบ ซึ่งก็ไม่เห็นด้วยที่สภาล่ม

“การประชุมสภาวันจันทร์นี้ทุกคนควรที่จะไป เพราะหน้าที่ของ ส.ส.คือต้องเข้าประชุมสภาเพื่อพิจารณากฎหมายต่างๆ ตามหน้าที่ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยควรจะพูดคุยกันในที่ประชุม ซึ่งเป็นบทบาทของ ส.ส.แต่ละคนที่จะแสดงความคิดเห็นและพูดคุยกัน ผมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่จะวอล์กเอาต์ หรือดำเนินการนอกระบบอย่างที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 ก็จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายเอกราชระบุ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา  (ชพน.) กล่าวว่า ไม่ได้ว่าผลออกมาจะหาร 500 หรือหาร  100 ก็ต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในขั้นสุดท้ายอยู่แล้ว

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค ชพน.กล่าวว่า  จะหาร 100 หรือหาร 500 ก็แล้วแต่ที่ประชุมสภา ซึ่งพรรคพร้อมรับทุกกติกา

ด้านความเห็นจากพรรคฝ่ายค้านนั้น นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรค  พท.ว่า พรรคยังคงแสดงจุดยืนเดิมในการไม่เข้าร่วมองค์ประชุม เพราะเป็นจุดยืนตั้งแต่นำร่างนี้เข้าใหม่ๆ จุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง และจะไม่ตามใครด้วย เพราะเชื่อว่าจุดยืนดังกล่าวไม่ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนมากที่สุด

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรค พท. และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีพรรคจะยังคงแสดงจุดยืนเดิมหรือไม่ว่า เรื่องนี้ต้องถามหัวหน้า แต่คงจำเป็นต้องยืนตามแนวทางเดิม แม้ว่าเป็นเรื่องที่เราไม่อยากจะทำ แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพื่อยับยั้งกฎหมายและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

ย้ำใช้อารยะขัดขืน

เมื่อถามย้ำว่า จะแสดงจุดยืนออกมาในลักษณะไหน  นายสุทินกล่าวว่า แบบเดิม เราจะไม่เป็นองค์ประชุมให้  ส่วนการชี้แจงกับประชาชนนั้น ก็คงชี้แจงเหมือนที่ผ่านมาว่ามันเป็นการทำหน้าที่ ไม่ใช่การทิ้งหน้าที่ คือเสียงข้างน้อย หากจะยับยั้งเสียงข้างมาก คิดว่าเป็นเรื่องที่จะเสียหายต่อบ้านเมืองในอนาคต เราต้องใช้ทุกวิถีทางที่จะทำ  แต่ว่ามันก็เป็นวิธีการที่อารยะอยู่ในสภา ไม่ได้ปาสิ่งของ  ไปลากเก้าอี้ ไปทุบตีประธานสภา แต่การนั่งโดยไม่แสดงตัวถือว่าเป็นอารยะ หากว่ารัฐบาลเสียงข้างมากคิดว่าจะลากต่อไป ท่านก็สามารถดันต่อไปได้

ส่วนนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. กล่าวถึงการโจมตีสมาชิกรัฐสภาที่เป็นเหตุให้สภาล่มว่า นักการเมืองทุกคนอยากให้มีการออกกฎหมายให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคยืนยันมาตลอดว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมามีเสียงข้างมากเกเรพาออกนอกทาง  จนถึงเวลานี้ก็ดันทุรังจะเอาให้ได้ เพราะฉะนั้นบรรดา ส.ส.และ ส.ว.จะดึงกฎหมายลูกเข้าสู่กติกาที่ถูกต้อง แต่คนที่พาออกนอกทางต่างหากที่กำลังทำผิดหลักกฎหมาย ทั้งๆ ที่รับร่างแก้ไขกฎหมายไปทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีบรรทัดใดเลยที่ให้หารด้วย 500 พวกท่านเกเร เราไม่เห็นด้วยจึงไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย

 “กฎหมายฉบับนี้มันชัดเจนว่าขัดกับหลักการของกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น พรรคเพื่อไทยจะออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ ถ้าไม่ยึดหลักการในรัฐสภา แล้วออกกฎหมายจะมีประโยชน์อะไร หรือจะยึดตามการถูกครอบงำ รัฐสภาเป็นที่ทำงานของผู้แทนประชาชน ไม่ควรมีใครมาครอบงำ หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นสภาของเผด็จการอย่างนั้นหรือ” นายสมคิด กล่าว                  

เกมวัดพลัง พปชร.

นายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า วันที่ 15 ส.ค. พรรคคงไปสแตนด์บายที่รัฐสภาดูสถานการณ์ก่อน ทราบว่าฝ่ายที่ต้องการสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 500 หารจะระดมคนเข้ามา เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งของฝ่ายรัฐบาลที่แบ่งเป็นสองฝ่ายสู้กันภายในเอง ฝ่ายรัฐบาลเองพยายามเอาสูตร 500 หารให้ได้  เพราะไปเตรียมพรรคการเมืองต่างๆ รองรับสูตร 500 ไว้หมดแล้ว การโหวตในวันที่ 15 ส.ค.จะเป็นเครื่องพิสูจน์พรรคพลังประชารัฐว่าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือไม่ หลังเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย จะได้รู้กันใครอยู่ฝ่ายใด จะบอกอนาคตพรรค พปชร.ได้ แต่ถ้าเสียงไม่แตกก็แสดงว่ายังควบคุมกันได้อยู่ แต่อาจมีสมาชิกส่วนหนึ่งไม่มาประชุม  เพราะไม่อยากเสี่ยงเป็นองค์ประชุม อยู่ร่วมลงมติสูตรบัตร 2 ใบ หาร 500 เพราะหากเกิดความผิดพลาดไปลงในเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอาจมีโทษตามมาภายหลัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มการประชุมวันที่ 15 ส.ค.มีโอกาสที่จะเกิดเหตุองค์ประชุมล่มอีกหรือไม่ นายพิเชษฐตอบว่า การประชุมวันที่ 15 ส.ค.จะเริ่มโหวตมาตรา 24/1 ใหม่ เชื่อว่าคงจะอภิปรายกันไปเรื่อยๆ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคงใช้เวลาอภิปรายกันเยอะให้เนิ่นนานออกไป คงมีการตรวจเช็กองค์ประชุมเป็นบางโอกาส ถ้าคนในห้องประชุมบางตาเมื่อไรจะเสนอนับองค์ประชุมทันที ส่วนตอนโหวตลงมติพรรคจะอยู่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมหรือไม่ คงแล้วแต่ความสมัครใจของแต่ละคน แต่แนวโน้มคงไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม

 เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่พรรค พปชร.เตรียมเกมมาสู้พรรค พท.ให้ย้อนกลับไปเป็นสูตรหาร 500 นายพิเชษฐตอบว่า ถ้ามีการเตรียมการเหมือนตอนโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจควบคุมได้เพราะมีกล้วยเต็มสภา แต่ไม่รู้วันที่ 15 ส.ค.จะแจกกล้วยหรือไม่ ถ้ามีลิงกับกล้วยอาจทำให้เกมพลิกผันได้ แต่ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นสูตรหาร 100 หรือ 500  พรรคเพื่อไทยไม่กลัว พร้อมสู้ทุกสูตร สู้ได้ทั้งนั้น

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ในกรณีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. หรือกฎหมายลูกที่ล่มแล้วล่มอีก จนสังคมตั้งข้อสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในระบบการเมืองของประเทศ และการปฏิบัติหน้าที่ของคนที่เขาเลือกเข้าไปเป็นผู้แทน"

 “ความคิดเห็นในมุมมองของประชาชน สูตรคำนวณ  ส.ส.จะหาร 100 หรือหาร 500 คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด  แต่กระบวนการพิจารณากฎหมายที่ล่มซ้ำซาก คงต้องตั้งคำถามว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพรรคการเมืองในสภา  ตามวิถีทางประชาธิปไตยที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการใช้อำนาจที่ประชาชนมอบให้ และใช้ภาษีของประชาชนไปในทางที่เหมาะสมแล้วหรือ”

นายอุตตมโพสต์อีกว่า "ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองในสภายึดมั่นในความรับผิดชอบต่อประชาชน ที่ได้มอบความไว้วางใจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติ  หวังให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม มิใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คิดว่าในภาวะวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เราต้องช่วยกันทุกวิถีทางที่จะรักษาไว้ซึ่งศรัทธาของประชาชนที่มีต่อฝ่ายการเมือง".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง