ปลุกม็อบกดดันศาล แพทย์ชนบท-นักวิชาการ-คณะหลอมรวมจี้8ปีพอเถอะ

มติผู้ตรวจการแผ่นดินปัดตกคำร้องวาระ 8 ปีนายกฯ เหตุไม่อยู่ในอำนาจพิจารณา “สภา” เร่งตรวจรายชื่อฝ่ายค้าน ก่อนส่งศาล รธน.ตีความปมร้อน “อนุชา” มั่นใจไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองทำ “บิ๊กตู่” พ้นตำแหน่ง “เพื่อไทย”วอนศาลวินิจฉัยก่อน 24 ส.ค. หวั่นทำสังคมแตกแยกเกิดความขัดแย้ง “ก้าวไกล” จี้ประยุทธ์ลาออกดีกว่ายุบสภา “ชมรมแพทย์ชนบท” ปลุกกระแส 8 ปีแล้วพอเถอะนะ “คณะหลอมรวมประชาชน” ลากยาว 4 วัน 21-24 ส.ค. เปิดเวทีลานคนเมืองกดดัน

มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) ที่หลายฝ่ายต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว                   โดยเมื่อวันที่ 18 ส.ค.65 มีรายงานว่า ในการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่วงเย็นวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ยุติเรื่องกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้พิจารณาและมีความเห็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยปัญหาวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องดังกล่าวไม่ใช่การขอให้พิจารณาว่าบทบัญญัติของกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มาตรา 23 (1) กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่เป็นเรื่องของคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ให้ กกต.หรือ ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่น ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินมาตรา 37(4) กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับไว้พิจารณา โดยขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ระหว่างการจัดทำคำวินิจฉัยและมีหนังสือแจ้งผู้ร้อง

ขณะที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีพรรคฝ่ายค้านยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อที่พรรคร่วมฝ่ายค้านลงชื่อกันมาว่าถูกต้องหรือไม่ โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด หากเสร็จเรียบร้อยและส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเมื่อใด จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

นายอนุชา นาคาศัย  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ มีหลายความเห็นที่มองแตกต่างกัน แต่สุดท้ายต้องจบที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวขอมองความตามรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ด้วยลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งหากจะตีความนอกเหนือจากนี้คงเป็นไปได้ยาก จะทำให้สังคมสับสน และต่อไปคงทำให้กฎหมายมีปัญหาทั้งหมด

 “พรรค พปชร.ไม่มีพูดถึงเรื่องดังกล่าว เพราะคิดแบบตรงไปตรงมา ศาลตัดสินอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น และเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือทำให้พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง”นายอนุชากล่าว

ด้านนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นข้อถกเถียงว่าจะเริ่มนับเมื่อไหร่ จนพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลง

ฝ่ายค้านจี้ลาออกดีกว่ายุบ

"วันนี้สังคมเกิดข้อถกเถียงต่อประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม รวมถึงความเสียหายจากการบริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ขอวอนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้โดยเร็วก่อนวันที่ 24 ส.ค. ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายในการดำรงตำแหน่ง เพราะวันนี้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่" รอง ปธ.ยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยระบุ

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการยุบสภาว่า ไม่มีเหตุผลที่จะยุบสภา เราก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพิจารณา สภาไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง พล.อ.ประยุทธ์ไปขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นเรื่องของสภาเลย แม้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ มีอำนาจในการยุบสภา แต่ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะดำเนินการเช่นนั้น รอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ รอคำวินิจฉัยไม่ดีกว่าหรือ

“มันมีทางออกตั้งหลายทาง ถ้าสมมุติว่าเลือกไม่ได้ก็แล้วแต่ เป็นอำนาจนายกฯ โดยนายกฯ มั่นใจว่าไม่พ้นตำแหน่ง แต่สังคมทั่วไปรับรู้แล้วว่าท่านไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ต่อ นอกจากนี้ผมมองว่าเป็นไปไม่ได้หาก พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจลาออกก่อนวันที่ 24 ส.ค. เพราะถ้าลาออกจะหลุดจากตำแหน่งทันที แต่ยุบสภายังรักษาการ กว่าจะจัดการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ 3-4 เดือน” นายสมคิดกล่าว 

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า เรื่องการยุบสภาคือความขัดแย้งของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่ได้มีความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การยุบสภาแต่อย่างใด แม้การยุบสภาก็ดีในแง่การคืนอำนาจให้ประชาชน แต่เวลานี้การแก้กติกาการเลือกตั้งคือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่แล้วเสร็จ ถ้ายุบสภาจะใช้กติกาใด จะทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมืองขึ้น ซึ่งนายกฯจะตอบคำถามนี้ไม่ได้เช่นกัน และไม่ควรใช้กลไกการยุบสภามาเป็นทางออก  

 “ที่สำคัญกว่านั้นเวลานี้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องใช้รัฐบาลตัวจริงในการแก้ปัญหา นายกฯ จะเอาเรื่องการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี ซึ่งเป็นปัญหาส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับปัญหาของประชาชนไม่ได้ ทางออกมีวิธีการคือนายกฯ ลาออก หรือศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีการเลือกนายกฯ หรือนายกฯ รักษาการคนใหม่ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า มีการยื่นหนังสือต่อสภาเพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังจะครบรอบในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว ขอให้ประชาชนมาติดตามไปด้วยกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างตำนานการทำลายความเชื่อถือศรัทธาต่อองค์กรของตัวเอง แล้วมาโทษคนที่วิจารณ์ทีหลังอีกครั้งหรือไม่

หลายกลุ่มออกกดดัน

วันเดียวกัน ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ “8 ปีแล้ว พอเถอะนะ” เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า วันที่ 23 ส.ค.2565 นับว่าครบ 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างชัดเจน ท่านรับเงินเดือนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปีแล้ว ท่านใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปี ท่านรับสวัสดิการจากภาษีประชาชนในฐานะนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมาว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว จึงถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะก้าวลงจากตำแหน่งอย่างมีศักดิ์ศรีตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2560

“ในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ยังเหลืออยู่นี้ ชมรมแพทย์ชนบทขอเชิญชวนให้ทุกองค์กรในสังคมไทย ร่วมกันแสดงออก สร้างกระแส 8 ปีพอแล้วกันให้กระหึ่ม  ประเทศไทยยังมีคนดีคนเก่งที่สามารถทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้จำนวนไม่น้อย ขอให้นายกฯ ประยุทธ์มีสำนึกประชาธิปไตย ก้าวลงจากตำแหน่งตามกติกาอย่างคนรู้จักพอ เปิดทางให้เมืองไทยเดินไปข้างหน้า เปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยได้เติบโต” แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบทระบุ

ส่วนเครือข่ายนักวิชาการ เสียงประชาชน 8 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 8 สื่อสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลและสื่อออนไลน์ ได้แถลงการณ์การจัดโหวต “เสียงประชาชน” ครั้งที่สอง เรื่อง “นายกรัฐมนตรีควรอยู่เกิน 8 ปีหรือไม่” ระบุว่า การจัดโหวตครั้งนี้ นอกจากนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัยเดิมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็เพิ่มมหาวิทยาลัยจากภูมิภาคทั้ง 4 รวมเป็นทั้งหมด 8 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โดยสื่อมวลชนที่เข้าร่วมจากเดิมคือ โทรทัศน์ดิจิทัล 4 ช่อง ได้แก่ เนชั่น ไทยรัฐทีวี ข่าวเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวี และอีก 4 แห่งใหม่ คือ The Standard, the Matter, the Momentum และ the Reporters รวมเป็น 8 แห่ง โดยคำถามที่จะให้ประชาชนโหวตจะเป็นเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ โดยจะไม่ถามข้อกฎหมาย เนื่องจากการวินิจฉัยเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะถามความเห็นประชาชน

คณะหลอมรวมประชาชน ได้แถลงข่าวการเปลี่ยนสถานที่จัดเวทีสาธารณะ “นับถอยหลัง 8 ปี ประยุทธ์” โดยจะย้ายมาจัดอย่างต่อเนื่องที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. ในวันที่ 21-24 ส.ค. เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากนายกรัฐมนตรีตาม ม.158 ที่กำหนดให้มีเวลารวมกันไม่เกิน 8 ปี

 นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำระบุว่า เนื่องจากการจัดเวทีสาธารณะที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว มีประชาชนมาจำมาก คณะหลอมรวมประชาชนมีมติย้ายไปจัดที่ลานคนเมือง กทม. โดยจองสถานที่ไว้แล้ว 4 วัน ซึ่งถ้าวันที่ 21 ส.ค.นี้ ประชาชนมามาก พล.อ.ประยุทธ์ก็จะตัดสินใจได้ง่าย ถ้ามีคนมากก็แสดงกำลังต่อไปถึงวันที่ 22 ส.ค. แล้วเคาต์ดาวน์ไปถึงเที่ยงคืนวันที่ 23 ส.ค. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จะออก-ไม่ออกก็ช่างหัว พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าออกเราก็ฉลองชัยชนะร่วมกัน

 “หากถึงรุ่งเช้าวันที่ 24 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อนแล้ว ประชาชนจะได้ร่วมกำหนดทิศทาง ซึ่งอยู่ที่มติของประชาชนจะตัดสินใจ ส่วนการไปทำเนียบรัฐบาลอยู่ที่มติของประชาชนเช่นกัน โดยสถานการณ์จะอธิบายการชุมนุมยืดเยื้อ เช่น มีการปฏิวัติตัวเองก็ชุมนุมกันต่อไป ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นคำตอบ ในวันที่ 23 ส.ค.จะชุมนุมยันเที่ยงคืน จนถึงการตัดสินใจเฮือกสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์” นายจตุพรกล่าว

นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำ ระบุว่า แนวคิดของคณะหลอมรวมประชาชนที่เสนอ เพื่อต้องการให้ศาล รธน.นำไปใช้ประกอบการพิจารณาเวลานายกรัฐมนตรีตาม ม.158 ของ รธน. 2560 โดยมีความเห็นว่า ม.158 มีกระบวนการ 3 ขั้นตอนในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แล้วบังคับใช้ในการกำหนดเวลานายกรัฐมนตรี 8 ปีต้องเป็นไปตามบทเฉพาะกาล ม.264 เพราะมีความมุ่งหมายต้องการแก้ไขการเมืองให้มีประสิทธิภาพ ขจัดอิทธิพลในการดำรงตำแหน่ง และเกิดความหวังในการปฏิรูปประเทศ ถ้า รธน.มีความประสงค์เขียนเป็นอย่างอื่น ก็สามารถเขียนไว้ใน ม.264 ได้ เมื่อไม่เขียนก็ไม่มีข้อยกเว้น

“การนับระยะเวลา 8 ปี จึงนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 เรื่อยมาจนครบ 8 ปี จากนั้นพิจารณา ม.168 มาประกอบกัน เพื่อพิจารณาทางออก ไม่เกิดทางตันหรือสุญญากาศการบริหารประเทศ เพราะ ม.168 วรรคท้าย กำหนด ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นๆ เฉพาะเท่าที่จําเป็นไปพลางก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ” นายนิติธรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์