นศ.ยื่นฟ้องยกเลิกฉุกเฉิน รัฐให้รอ‘ศบค.’เคาะก.ย.นี้

ติดโควิดใหม่ 1,531 ราย เสียชีวิตเพิ่ม  28 ราย "อนุทิน" แจงแยกกักรักษาโควิด 5 วัน มี คกก. พิจารณาตามข้อมูลวิชาการ โฆษกรัฐบาลย้ำการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค.พิจารณาความเหมาะสมพร้อมประเมินสถานการณ์-ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ขอ ปชช.รอฟังผลประชุม ก.ย.นี้ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษายื่นฟ้อง "บิ๊กตู่-ผบ.ทสส." ขอศาลแพ่งสั่ง​ยกเลิก  ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลนัดฟังคำสั่ง 23 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 1,531 ราย  จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 1,531 ราย ผู้ป่วยสะสม  2,412,276 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,298 ราย หายป่วยสะสม 2,416,333 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 18,829 ราย เสียชีวิต 28 ราย เสียชีวิตสะสม 10,357 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล  883 ราย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า แนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการด้วยรูปแบบ 5+5 คือ แยกกักรักษาที่บ้าน 5 วัน และสังเกตอาการโดยเข้มงวดมาตรการป้องกันตนเองอีก 5 วัน มีข้อมูลวิชาการรองรับและไม่ได้เป็นการตัดสินใจเองของคนหนึ่งคนใด แต่เป็นการพิจารณาผ่านคณะกรรมการ ทั้งคณะกรรมการวิชาการ ศบค.ชุดเล็ก และ ศบค.ชุดใหญ่ ถือเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายและทางปฏิบัติ ซึ่งแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ ความรุนแรงของโรค ความพร้อมของการรักษาพยาบาล  ยารักษา และการบริหารวัคซีนป้องกัน

นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19  ขณะนี้ บางจังหวัดยังมีการระบาดแบบ small wave  แต่ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมในการรองรับ ทั้งเวชภัณฑ์ ยา และวัคซีน ขอให้ประชาชนมารับการฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อเดินหน้าใช้ชีวิตตามปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาเข้มแข็งขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น การจ้างงานทยอยกลับมา โดยกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความสูญเสีย สำหรับการซื้อยาต้านไวรัสโควิด-19 ในร้านขายยาที่จะเริ่มวันที่ 1 กันยายน 2565 ยืนยันว่าจะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น ส่วนเรื่องการกำหนดราคาไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข แต่เชื่อว่าจะเป็นไปตามกลไกการตลาด

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  หรือ ศบค.ยังไม่ได้มีการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้  พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ศบค.จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งก่อน เนื่องจากยังเหลือระยะเวลาการประกาศใช้จนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ สิ่งสำคัญของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น  โดยไม่ได้มุ่งหวังการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประเด็นอื่นแต่อย่างใด รวมทั้งเพื่อเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยจากโควิด-19 โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ ซึ่งสนใจที่จะมาศึกษาแนวทางการดำเนินงานจากประเทศไทยด้วยซ้ำไป

นายอนุชากล่าวว่า แม้ไม่ได้มีการหารือเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ที่ประชุม ศบค.ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในการจัดทำกรอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติ  และช่วงเวลาในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-Pandemic เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด -19 หรือเป็นแผนการปรับลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ภายใต้หลักการเพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ โดย  ศบค.ได้พิจารณาทั้งการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงด้านการป้องกัน

 “ก่อนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ศบค.จะมีการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน  หลังจากการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวัง ว่าจะต้องคงกลไกในการควบคุมและบริหารจัดการอะไรไว้บ้าง ซึ่งต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดวิกฤตและความเสียหายในมิติต่างๆ เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นต้องแก้ไขได้ทันท่วงที เน้นมีแผนรองรับที่ดี และวิกฤตความเสียหายต้องไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้นจึงขอให้รอผลการประชุม  ศบค.ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้” นายอนุชากล่าว

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ตัวแทนภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย น.ส.เจนิสษา แสงอรุณ  นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นาย พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, นายวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายสิรภพ อัตโตหิ  นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  นายศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายเชษฐา กลิ่นดี สมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, นายณพกิตติ์ มะโนชัย  นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นโจทก์ที่  1-7 

ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด​ (ผบ.ทสส.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558  ฯ ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 และขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว

ทั้งนี้​ สืบเนื่องจากวันที่ 27 ก.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี  ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม

นายนรเศรษฐ์กล่าวว่า พวกตนมายื่นฟ้องและจะขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราว สั่งไม่ให้บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับนี้ เพราะช่วงวันที่ 23-24 ส.ค.ที่จะถึงนี้ อาจจะมีการชุมนุมสาธารณะ เพื่อติดตามกรณีที่นายกฯ จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ หากมีการปล่อยให้ใช้ข้อกำหนดฉบับดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ ที่มีการออกประกาศในลักษณะนี้มา ในช่วงที่กำลังมีการจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8  ปี และจะออกจากตำแหน่งหรือไม่ รวมถึงกำลังจะมีการชุมนุม

น.ส.เจนิสษา แสงอรุณ ตัวแทนนักศึกษา กล่าวว่า  ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และข้อกำหนดดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมต่อตัวพวกเราเองและประชาชน เพราะเป็นการลักไก่เพิ่มโทษอย่างที่ทนายพูด แล้วอ้างว่าการที่ใช้ประกาศรวมทั้งข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่พวกเราก็ตั้งข้อสังเกตว่า จะใช้เพื่อควบคุมโรคหรือควบคุมสิ่งใดกันแน่ หรือจะใช้ควบคุมการชุมนุมที่เป็นสิทธิเสรีภาพของพวกเราประชาชนทั่วไปหรือไม่ นี่จึงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องมายื่นฟ้องเพื่อที่จะขอให้เพิกถอนข้อกำหนดในครั้งนี้

ต่อมานายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม เปิดเผยว่า ในวันนี้ศาลแพ่งได้ทำการไต่สวนฉุกเฉิน ฝ่ายโจทก์มี น.ส.เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับพวกรวม 2 ปาก เข้าเบิกความ และศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 23 ส.ค. เวลา 10.30 น.ว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สั่งระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดนายกฯ และประกาศของ ผบ.ทสส.ก่อนมีคำพิพากษาหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง