สั่งจับตาสถานการณ์น้ำ24ชม.

กอนช.ออกประกาศเตือนระวังน้ำหลาก-น้ำท่วมขัง แนะให้จับตา 24 ชั่วโมงพื้นที่ฝนตก 90 มม. ปลัด  กทม.ยันความพร้อมป้องกันดูแล แนะชุมชนริมเจ้าพระยาระวัง “ปลอด” โผล่สับรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ทันสภาพอากาศแปรปรวน แนะปลุกผีศูนย์เตือนภัยแห่งชาติที่ก่อตั้ง

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ  (กอนช.) ออกประกาศเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง โดยระบุว่า หลังประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงวันที่ 4-10 ก.ย.65 เพิ่มเติม คือ 1.ภาคเหนือ จ.น่าน (อ.บ่อเกลือ แม่จริม และสันติสุข) จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง พบพระ อุ้มผาง และแม่สอด) จ.อุทัยธานี (อ.บ้านไร่) 2.ภาคตะวันออก จ.นครนายก (อ.เมืองนครนายก และปากพลี) จ.ปราจีนบุรี (อ.นาดี ประจันตคาม และกบินทร์บุรี) จ.ระยอง (อ.แกลง) จ.จันทบุรี (อ.ท่าใหม่ และมะขาม) และ จ.ตราด (อ.เขาสมิง และบ่อไร่)   

3.ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.ท่าม่วง ท่ามะกา พนมทวน และห้วยกระเจา) จ.ลพบุรี (อ.หนองม่วง พัฒนานิคม  ท่าหลวง บ้านหมี่ โคกสำโรง และสระโบสถ์) จ.สระบุรี (อ.แก่งคอย วังม่วง และมวกเหล็ก) จ.สุพรรณบุรี (อ.ดอนเจดีย์  ด่านช้าง เมืองสุพรรณบุรี ศรีประจันต์ สองพี่น้อง สามชุก อู่ทอง และบางปลาม้า) จ.นครปฐม (อ.กำแพงแสน) และ 4. ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี (อ.บ้านตาขุน และวิภาวดี) จ.นครศรีธรรมราช (อ.ลานสกา พิปูน และช้างกลาง) จ.ระนอง  (อ.ละอุ่น และเมืองระนอง) จ.พังงา (อ.กะปง ท้ายเหมือง  ตะกั่วป่า เมืองพังงา และคุระบุรี) จ.กระบี่ (อ.อ่าวลึก) จ.ภูเก็ต (อ.ถลาง และเมืองภูเก็ต)

 โดย กอนช.ยังระบุว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90  มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ 2.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ  พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบาย 3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก และ 4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  รายงานว่า เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่  แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง พิจิตร สระบุรี สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 7 อำเภอ 9 ตำบล 21 หมู่บ้าน  ประชาชนได้รับผลกระทบ 64 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด เหลือเพียง จ.พิจิตร น้ำท่วมใน อ.สามง่าม รวม 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 50 ครัวเรือน

ด้านนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ตามที่ กอนช.มีประกาศแจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา กทม.ได้เตรียมการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมหารือเพื่อประสานข้อมูลร่วมกับกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา  กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อลดผลกระทบและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้น้อยที่สุด

“กทม.ได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้จัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ และตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมทั้งในแนวพื้นที่ของ กทม.และหน่วยงานราชการอื่น รวมถึงของเอกชน โดยขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงบริษัทห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถติดตามสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม.ได้ในสื่อสังคมออนไลน์ของ กทม. หรือโทร. 1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร. 0-2248-5115 หรือแจ้งทางระบบทราฟฟีฟองดูว์”

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  สถานการณ์น้ำในปี 2565 ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาพยิ่งแก้น้ำยิ่งท่วม เพราะสภาพอากาศแปรปรวนมาก ยากต่อการคาดคะเน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ไทยจะเสี่ยงวิกฤต การรับมือและการจัดการกับสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้จะคิดแบบเดิมไม่ได้ เตือนไทยเตรียมรับมือสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด เช่น ระเบิดฝน (Rain Bomb) แบบที่ขึ้นแล้วในเกาหลีและปากีสถาน สามารถเกิดในไทยได้ 

นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า การรายงานและเตือนภัยของรัฐบาลควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมาทำแบบต่างคนต่างพูดไปคนละทิศคนละทาง กรมอุตุวิทยาพูดเรื่องอากาศและน้ำฝน กรมชลประทานพูดเรื่องน้ำท่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พูดเรื่องภาพถ่ายทางอากาศ  ทำให้ประชาชนเอาภาพมาต่อกันไม่ได้ รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทการรายงานและเตือนภัยให้ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตนเองเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ปัจจุบันไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร 

 “หากประเมินวันนี้ แม้สถานการณ์ไม่น่ากังวลเหมือนปี  2554 แต่การที่พายุมาช้ากลับยิ่งเป็นสัญญาณอันตรายมากกว่าเดิม สถิติและธรรมชาติไม่เคยโกหกใคร จึงขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเตรียมรับมือ อย่าชะล่าใจ” นายปลอดประสพกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง