‘อุตุ’ เตือนฝนถล่ม ลากยาวถึง21ก.ย.

.vce-row-container .vcv-lozad {display: none}

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือน ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยจนถึง 21 กันยา. เหนือ อีสาน กลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดนหนักเป็นพิเศษ ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน “ชัชชาติ” หารือ “เสรี” เผยสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด จ่อปรับยุทธศาสตร์ วางโครงสร้างใหม่ ให้ ผอ.เขตเป็นผู้บัญชาการส่วนหน้า

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 กรมอุตุนิยมวิทยา โดย น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์   อธิบดีกรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนฉบับที่ 4 เรื่อง "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 17- 21 กันยายน 2565)" ว่า ในช่วงวันที่ 17- 21 ก.ย.65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ วันที่ 17 กันยายน 2565  ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และพิษณุโลก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด

ในช่วงวันที่ 18-19 กันยายน 2565 ภาคเหนือ : จังหวัดลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด,  ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา

ให้ชาวเรือระวัง

ในช่วงวันที่ 20-21 กันยายน 2565 ภาคเหนือ : จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ยโสธร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี,  ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันออก : จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

กรมอุตุนิยมวิทยา ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา  และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกาศ ณ วันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2565 เวลา 05.00 น. ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2565 เวลา 17.00 น.

ที่ห้องประชุมโรงเรียนกุศลศึกษา วัดชัยพฤกษมาลาฯ เขตตลิ่งชัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ประชุมร่วมกับนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน สำนักงานเขตตลิ่งชัน ประชาชนในชุมชนตลิ่งชัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมด้วย เพื่อเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม

โดยนายชัชชาติกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือร่วมกับนายเสรี ซึ่งได้เชิญ กทม. กรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนด้วย มาร่วมพูดคุยกัน ซึ่งท่านได้สรุปให้เห็นว่า จริงๆ แล้วสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงมีความชัดเจนขึ้น ฝนที่เพิ่มขึ้นก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน สอดคล้องกับที่เราเห็นว่าช่วงเดือนที่ผ่านมาที่ฝนตกที่เพิ่มขึ้น 150% ในช่วงต้นเดือนแรกของเดือน ก.ย. เป็นผลให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งแผนการรองรับต้องคุยกันในรายละเอียดให้ยาวขึ้นว่าจะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร จะวางแผนโครงการอย่างไร ซึ่งนายเสรีก็ได้ให้คำแนะนำในการวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

ผอ.เขตเป็นหน่วยส่วนหน้า

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า โดยในระยะสั้นต้องมีการบัญชาการจาก กทม. จัดให้ผอ.เขตเป็นผู้บัญชาการส่วนหน้า ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว โดยมีสำนักการระบายน้ำเป็นตัวกำกับ จะเห็นภาพรวมของน้ำทั้งหมด การจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งปลัด รองปลัด และสำนักการระบายน้ำ โดยมี ผอ.เขตเป็นหน่วยส่วนหน้า ที่นายเสรีพูดมาเป็นสิ่งที่ดีมากๆ การเอาชุมชนและประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม อย่าให้เขารอให้เราเข้าไปแก้ปัญหาให้ ให้เอาเขามาเป็นส่วนร่วมในการชี้ปัญหาและเป็นคำตอบให้เราด้วย จริงๆ แล้วเรามีแนวร่วมอีกเป็นแสนเป็นล้านคนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น  

"ซึ่งการลงพื้นที่ในหลายๆ แห่ง ประชาชนจะเป็นคนพาไปชี้เลยว่าตรงไหนจุดอ่อน เราอาจจะทำเป็นแนวร่วม หรือหน่วยอาสากู้น้ำท่วมในชุมชน กทม.อาจจะให้ทรัพยากรไปช่วย เช่น กระสอบทราย เมื่อถึงเวลาเขาก็อาจจะมาช่วยอุดช่วยอะไรได้ โดยที่เรายังไม่ทันเข้าไป โดยดำเนินการบรรเทาไปก่อน เป็นการยับยั้งวิกฤตไปก่อน รวมถึงการให้ข้อมูลน้ำข้อมูลปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปพัฒนากันต่อ"

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ส่วนในระยะยาวที่นายเสรีพูดถึงจะเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมชลประทานจังหวัดต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าดูจากแผนการระบายน้ำของกทม.ที่ผ่านมา เราจะระบายน้ำไปในพื้นที่ของเราเอง จากแสนแสบมาที่ประตูระบายน้ำพระโขนง ลาดพร้าวมาออกบางซื่อ ก็อยู่ในพื้นที่ กทม.ทั้งหมด ลาดกระบังมาออกประเวศ ทำให้ทุกอย่างมันไหลมาอยู่ที่ตรงกลางทั้งหมด แต่ในอนาคตไม่ได้แล้ว ยิ่งน้ำทางตอนเหนือที่นายเสรีพูด ต้องผ่านทางจังหวัดอื่น ต้องดูน้ำในภาพรวม

“จริงๆ แล้วแต่ละจังหวัดต้องพูดคุยกัน โดยมีกรมชลประทานเป็นตัวเชื่อมประสาน ถ้าแต่ละจังหวัดระบายน้ำเองไม่ได้แน่ ต้องมีการหารือกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับปริมณฑล ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว เรื่องฝุ่น PM 2.5 ก็คล้ายๆ กัน ฝุ่นก็ลอยข้ามไปข้ามมา เรื่องมลพิษ เรื่องการจราจร เรื่องที่อยู่อาศัยต่างๆ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นแนวทางที่จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ด้านนายเสรี ได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ความกรุณามาร่วมพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชุมชนตลิ่งชัน รวมถึงจังหวัดรอยต่อที่มาร่วมคุยกัน ซึ่งก็พร้อมรับน้ำ แต่ด้วยในข้อจำกัดต่างๆ ผู้ว่าฯ กทม.ก็มีนโยบายและแผนการที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลางถึงระยะยาว ซึ่งมีความตั้งใจเกินร้อย ความตั้งใจที่ท่านมีคิดว่าประชาชนต้องสบายใจ อีกทั้งผู้ว่าฯ กทม.และรองผู้ว่าฯ กทม.ก็มีความรู้พื้นฐานในด้านนี้ เราจึงไม่กังวลในเรื่องแผนและนโยบายการบริหารจัดการ

เป็นสิ่งที่ทำกันมานาน

"อนาคตข้างหน้าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ผู้ว่าฯ กทม. ก็รับปากว่าจะวางรากฐานให้ ถ้ามีผู้ว่าฯ กทม.ท่านใหม่มา ก็คงต้องเดินตามนโยบาย หากไม่เดินแล้วก็จะติดขัดอีก ท้ายนี้ขอขอบคุณที่ท่านจะวางรากฐานไว้ให้ ทั้งนี้ จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนว่าจะมีฝนในช่วงวันที่ 17-22 ก.ย.นี้ กทม.มีเรดาร์แจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้า 3 ชั่วโมงว่าจะมีฝนตกพื้นที่ไหน แต่เรดาร์ไม่บอกว่าน้ำจะท่วมพื้นที่ไหน ฉะนั้น ผอ.เขตทุกเขตจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือ พร้อมกับแจ้งเตือนประชาชนด้วย" นายเสรีกล่าว

ในขณะที่นายธเนศร์กล่าวด้วยว่า กรมชลประทานเป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติที่ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม. จะเห็นว่าการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เขตลาดกระบัง คลองประเวศ คลองแสนแสบ เราได้พยายามที่จะติดตั้งเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำในแนวเหนือใต้ให้ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด

“จริงๆ แล้วแผนบริหารจัดน้ำก็มีการวางรากฐานมานาน ผู้ว่าฯ หลายท่านที่ผ่านมาก็ได้วางสิ่งดีๆ เอาไว้ ก็นำมาปรับปรุงบ้าง หรือว่าเพิ่มเติมเข้าไป เป็นสิ่งที่ทำกันมานาน โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้เพิ่งทำนะ ทำมาหลายผู้ว่าฯ แล้ว ทำต่อเนื่องกันมา อุโมงค์ระบายน้ำก็เป็นผลงานของหลายผู้ว่าฯ ถือว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เอาแผนมาปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีมีผู้ติดตามสอบถามความคืบหน้าของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง หลังจากได้ออกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยว่า ทางกรุงเทพมหานครได้มีการประชุมหารือกับอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ ปภ.กำลังเร่งจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือในแต่ละด้าน  คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 19 ก.ย.นี้ และจะนำมาพิจารณาสรุปร่วมกับ กทม.อีกครั้ง หลังจากนั้นสำนักงานเขตจะประกาศแจ้งให้ผู้ประสบภัยมาลงทะเบียนเพื่อขอรับช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

สำหรับหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือที่พิจารณา จะครอบคลุมด้านการดำรงชีพ โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม เช่น ถุงยังชีพ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพที่เสียหายจากน้ำท่วม เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ เตือน 28 จังหวัด ระวังอันตรายฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ใน 24 ชม.ข้างหน้า

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด

พายุฤดูร้อนถล่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มเพียบ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจาก สอต.พะเยา สอต.เชียงใหม่ สอต.แพร่ และ สอต.เชียงราย เกี่ยวกับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน วาตภัย เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ในพื้นที่ ดังนี้