27-29ก.ย.เจอ‘พายุโนรู’ เตือน9จว.ริมเจ้าพระยา

“พายุโนรู” มาแล้ว กรมอุตุฯ   เตือนฝนถล่มช่วง 27-29 ก.ย.นี้ รัฐบาลชี้มี 8 จังหวัดยังเจอสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ สั่งเร่งระบายน้ำเยียวยา ปภ.เตือน 9 จังหวัดริมเจ้าพระยารับมือน้ำเพิ่มสูงขึ้น “ชัชชาติ” ยัน กทม.ยังเอาอยู่น้ำทะลุหนุน   เผยปัญหาสำคัญคือจุดฟันหลอ แจงลุยพื้นที่ในซอกซอยทำให้เห็นดีกว่านั่งในออฟฟิศ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุโนรู ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 กันยายน 2565 ระบุว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 23 ก.ย.พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก หรือด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อนโนรู (NORU) แล้ว และจะเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงทะเลจีนใต้ตอนกลางในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. และคาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย. ส่งผลทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมแรงในช่วงวันที่ 27-29 ก.ย. ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

“ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” ประกาศกรมอุตุฯ ระบุ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ส่งผลให้เกิดน้ำสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งใน 8 จังหวัด ได้แก่ ตาก, ขอนแก่น, มหาสารคาม, อุบลราชธานี, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 19 อำเภอ 134 ตำบล 699 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 31,571 ครัวเรือน โดยรัฐบาลได้เร่งประสานแต่ละจังหวัดดูแลผู้ประสบภัย พร้อมระดมกำลังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

ด้านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)  โดย ปภ.ระบุว่า ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่าช่วงวันที่ 21-26 ก.ย.2565 จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล   ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ 2,200-2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ช่วงวันที่ 25-27 ก.ย.2565 ระดับน้ำท้ายเขื่อนจะเพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 0.30-0.50 เมตร  โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล อ.เสนา และผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.อินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี, อ.ไชโย จ.อ่างทอง, จ.ปทุมธานี, จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ

 “ปภ.ได้แจ้ง 9 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำ ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง”

ขณะที่ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมทุกด้าน เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำตามแนวปฏิบัติมาตรการฤดูฝน 13 มาตรการ พร้อมให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้น จากกรณีที่กรมชลประทานเตรียมปรับเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็นไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที ในลักษณะทยอยปรับการระบายแบบขั้นบันไดตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำ หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงระหว่างวันที่ 21-26 ก.ย.บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 “รัฐบาลได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่เสี่ยงใน 3 จังหวัดคือ สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล โดยนอกจากจะเตรียมพร้อมในการป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยแล้ว ยังให้เตรียมสถานที่อพยพและอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยด้านต่างๆ เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่” น.ส.ทิพานันระบุ

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีกรมอุทกศาสตร์ มีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 22-26 ก.ย. กทม.มีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร ว่าจริงๆ แล้วเรื่องน้ำทะเลหนุนเป็นตัวประกอบกับน้ำเหนือที่ปล่อยมา และทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น เพราะฉะนั้นจุดอ่อนสำคัญสุดคือเขื่อนริมน้ำ และจุดฟันหลอต่างๆ แต่ได้มีการมอนิเตอร์อยู่ตลอด ซึ่งต้องดูฐานน้ำคือน้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือที่ปล่อยออกมา ทั้งนี้ น้ำเหนือที่ปล่อยมาที่บางไทรยังไม่ได้วิกฤต คงต้องดู 2-3 วัน ช่วงใกล้ๆ ปลายเดือน ต้องรอดูตลอด

"ยืนยันว่าตัวฟันหลอคือจุดอ่อน ซึ่งต้องกำชับอีกครั้งหนึ่ง แต่ผู้อำนวยการเขตทุกคนรู้แล้วว่าจุดอ่อนอยู่ที่ตรงไหน จะแก้ตรงไหน แต่สิ่งหนึ่งที่อาจมีปัญหาคือ น้ำขึ้นสูงทำให้การสูบน้ำออกอาจจะทำให้ช้าและยากเล็กน้อยเพราะหัวจุ่มอยู่ใต้น้ำ เมื่อมีน้ำเป็นแรงดันจะทำให้สูบยากขึ้น จึงต้องเตรียมตัวปั๊มน้ำสูบเพิ่มตามสถานี เช่น สถานีสูบน้ำพระโขนง ที่เป็นสถานีหลัก" นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ฝนตกในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งรวมปริมาณน้ำฝน 24 ชั่วโมง ราว 100 มิลลิเมตร ก็มีการระบายได้เร็วหมด ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้วิ่งตรวจแถวราชเทวี โดยส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาพที่ไม่น่ากลัว และระดับน้ำในคลองเราก็ได้พร่องออกหมด แต่ที่เป็นห่วงคือด้านฝั่งธนบุรี ซึ่งได้ไปดูที่คลองราชมนตรีก็ได้มีการพร่องน้ำเร็วเพราะอยู่ติดทะเล แต่ก็ยังมีพื้นที่ย่อยๆ เช่น ซอยเทียนทะเล 26 ซึ่งเป็นที่ต่ำจริงๆ ต้องช่วยในการดูดน้ำออก ฉะนั้นเราพร้อมเต็มที่และต้องรอดูสถานการณ์

 “มีข้อดีอยู่อย่าง คือที่ผ่านมาจะทำให้เราเห็นปัญหาจุดต่างๆ เพราะฉะนั้นจะมีการแก้ปัญหาและมีการจัดลำดับความสำคัญได้เร็วขึ้น โดยข้อมูลพวกนี้บางครั้งอยู่ที่ส่วนกลางจะไม่เห็น นั่งอยู่ในออฟฟิศไม่เห็นหรอกว่าน้ำท่วมที่ซอยย่อย เพราะเรามีเซ็นเซอร์เฉพาะที่ถนนหลัก ซึ่งการลงพื้นที่จะทำให้เราเห็นปัญหามากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง