‘วธ.’ ทำจดหมายเหตุ โควิดระบาดในไทย!

.vce-row-container .vcv-lozad {display: none}

กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำจดหมายเหตุการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย บันทึกลำดับเหตุการณ์สำคัญ บอกเล่าความร่วมมือร่วมใจของคนไทยจนสามารถผ่านวิกฤตครั้งใหญ่  เพื่อไทยโวยเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลังวันเกษียณ 30 กันยายน ไม่ทันสมัย ไม่เป็นสากล

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 23 ก.ย.65 ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รายงานถึงความคืบหน้าการจัดทำจดหมายเหตุการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งได้บันทึกลำดับเหตุการณ์สำคัญ นโยบาย ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และเป็นองค์ความรู้และการดูแลจัดการกรณีเกิดสถานการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นในอนาคต

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมได้รวบรวม สืบค้นข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63-31 ก.ค.65 จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ประกอบด้วย แหล่งข้อมูลหนังสือพิมพ์ออนไลน์ จำนวน 11,574 แฟ้ม, เอกสารดิจิทัลจากเว็บไซต์หน่วยงาน จำนวน 12,858 แฟ้ม, ขอข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับกระทรวงและจังหวัดจำนวน 30 หน่วยงาน รวมเอกสาร 13,108 รายการ, เอกสารจากผู้ว่าราชการ 73 จังหวัด รวม 1,839 รายการ และรวบรวมภาพถ่ายจากเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง 2,734 รายการ

ทั้งหมดจะถูกเรียบเรียงเป็นเนื้อหาซึ่งมีเค้าโครงเบื้องต้น ดังนี้ 1.ความเป็นมาของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ 2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนำเสนอทั้งผลกระทบด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (new normal) 3.การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 นำเสนอในมิติการบริหารจัดการ การป้องกัน การกำหนดมาตรการ แก้ไข เยียวยา ฟื้นฟูทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ 4.ลำดับเหตุการณ์สำคัญ นำเสนอการแพร่ระบาดในแต่ละระลอก และ 5.สรุปบทเรียนประเทศจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

“รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในที่ประชุม ศบค. ได้มีข้อสั่งการให้คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่สะท้อนถึงความร่วมมือของคนไทย ทั้งการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เป็นการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังเห็นว่า ด้วยความร่วมมือของคนไทยประเทศ จึงสามารถผ่านวิกฤตครั้งใหญ่นี้มาได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่าการเรียบเรียงเนื้อหาชั้นแรกจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 จากนั้นจะมีการปรับแก้เค้าโครงและเนื้อหาให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการและเอกสารที่ได้รับ ต่อด้วยการตรวจแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิตามขั้นตอน เสร็จสิ้นภายในมิ.ย.66 จากนั้นดำเนินการตามขั้นตอนทางทะเบียนเพื่อนำเข้าระบบเอกสารจดหมายเหตุของประเทศต่อไป

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วหลังสถานการณ์โควิด-19 ในไทยแผ่วลงตามลำดับ และปิดฉากการทำงานของ ศบค.ในวันที่ 30 ก.ย. ว่า ชุดความคิดจะเลิกอะไรต้องเลิกหลังเกษียณ 30 กันยายน และจะเริ่มอะไรก็ต้องเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม ตามปีงบประมาณใหม่ ไม่ทันสมัย ไม่เป็นสากล เป็นมาตรการที่ล่าช้าไม่ทันการณ์ ไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ประชาชนคนไทยเรียกร้องให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลาย แต่รัฐบาลไม่ยกเลิก มีความพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อจํากัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อปราบม็อบนักศึกษา ม็อบเกษตรกร ม็อบชาวบ้านที่เดือดร้อนจากโครงการต่างๆ ของรัฐ แต่พอถูกกดดันจากประเทศต่างๆ ที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม เพราะการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ ไม่สบายใจ รัฐบาลถึงกลับลำ ประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วให้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คุมโควิดแทนมาเป็นปี แต่รัฐบาลก็ยืนกรานกระต่ายขาเดียวมาโดยตลอดว่าใช้ทดแทนกันไม่ได้ แต่พอจะใช้แทนได้ก็ใช้แทนได้ แสดงให้เห็นถึงการไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่

“คุณภาพชีวิตของคนไทยภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลมั่นคง แต่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิ รัฐบาลจึงควรต้องระมัดระวังให้มาก” นายอนุสรณ์กล่าว

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์​ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ (พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ) แทน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จะมีบทบาทมากขึ้น และจะมีการนัดประชุมกันในสัปดาห์หน้า เพื่อมาตรการรองรับที่รับไม้ต่อจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้มีการกังวลอะไร เพราะอัตราการฉีดวัคซีนของกรุงเทพฯ สูงมาก รวมถึงอัตราการครองเตียงที่เตียงเหลือมากมาย และเราพร้อมที่จะก้าวสู่การเปิดเมืองอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จะมีการคุยกับผู้เชี่ยวชาญถึงมาตรการ หรือมาตรการการใส่หน้ากากอนามัย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะตอกย้ำแนวปฏิบัติจัดระเบียบสังคม

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะวางแนวปฏิบัติคณะทำงานบูรณาการมหาดไทย – ตำรวจ ขับเคลื่อนจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้กระทำผิด ชี้ความมั่นคงคือหัวใจเมื่อประชาชนเชื่อมั่น สังคมปลอดภัยแล้วเศรษฐกิจจะตามมา