กนง.ขยับดอกเบี้ย0.25% แบงก์กรุงเทพนำร่องขึ้น

ตามคาด! “กนง.” มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 1% ต่อปี หลังประเมินเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น พร้อมคงคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ไว้ที่ 3.3% ส่วนปีหน้าเศรษฐกิจแผ่วเหลือ 3.8% ยันไม่ออกนโยบายรุนแรงคุมค่าเงินบาท ธอส.ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้บ้านถึงสิ้นปี แบงก์กรุงเทพนำร่องปรับขึ้นแล้ว

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กนง.ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อปี จาก 0.75% ต่อปี เป็น 1% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยคณะกรรมการ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการ กนง.พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

 “กนง.ประเมินว่าการปรับขึ้นนโยบายครั้งนี้ จะส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ให้มีการทยอยตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าของธนาคารพาณิชย์อยู่ในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและเอสเอ็มอี หลังจากการก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย” นายปิติระบุ

นอกจากนี้ ยังได้คงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ไว้ที่ 3.3% ขณะที่ปรับลดคาดการณ์ในปี 2566 ลงเหลือ 3.8% จากเดิมที่ 4.2% ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทย 9.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 6 ล้านคน ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 21 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 19 ล้านคน

ขณะที่การส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 8.2% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 7.9% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 1.1% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะส่งผลต่อภาคการส่งออก แม้ว่าจะไม่ได้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมก็ตาม

ทั้งนี้ ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 6.3% จากเดิมที่ 6.2% และปี 2566 เป็น 2.6% จากคาดการณ์เดิม 2.5% โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.2% และปี 2566 อยู่ที่ 2.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 2% โดยแนวสูงขึ้น จากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง

 “แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระห่างการฟื้นตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดย กนง.จะติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน” นายปิติกล่าว

เลขานุการ กนง.กล่าวว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาทยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเงินบาทที่อ่อนค่าเร็วและต่อเนื่อง เป็นผลมาจากดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก โดยตั้งแต่ต้นปีเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าไปแล้ว 18.4% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลง 12.1% แต่ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค โดยเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากปัจจัยของโลก จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็ว ประกอบกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไปในสหรัฐ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลแค่ไทยเท่านั้น แต่เป็นเหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพระบบการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ดี จะช่วยลดทอนผลกระทบของการอ่อนค่าของเงินบาท โดยตั้งแต่ต้นปีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นบวกที่ 4,474 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับที่สูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ยังไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเมื่อเทียบกับหลายประเทศ นักลงทุนยังไม่ได้หนีออก ส่วนการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ค่าเงินบาทที่อ่อนลงจะช่วยผู้ส่งออกด้วยส่วนหนึ่ง และการส่งผ่านของต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นไปยังอัตราเงินเฟ้อ ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่มีความผันผวนสูง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้ค่าเงินห่างไกลจากปัจจัยพื้นฐานมาก ขณะที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยมีข้อจำกัดในการดูแลเรื่องค่าเงิน ซึ่งจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีการขึ้นดอกเบี้ยไป 0.25% ต่อปี แต่เงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ในระดับ 12.1% ขณะที่หลายประเทศมีการขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ค่าเงินก็อ่อนค่าแรงกว่าไทย ดังนั้นนโยบายดอกเบี้ยจึงมีเป้าหมายหลักในการดูแลเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเป็นหลัก ยังไม่เห็นประเด็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยที่กระชากรุนแรงเพื่อดูแลค่าเงิน แต่ ธปท.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทางด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ยืนยันตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 โดยธนาคารยังมีความสามารถรองรับได้เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้า ส่วนครึ่งแรกปี 2566 ต้องดูแนวโน้มปัจจัยต่างๆ ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะหากดอกเบี้ยตลาดเพิ่มสูงขึ้น และ ธอส.ต้องปรับดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านขึ้น 0.25% จะกระทบกับลูกค้าธนาคารแค่หลักพันบัญชีเท่านั้น หากขึ้น 0.50% จะกระทบลูกค้าหลักหมื่นบัญชี จากลูกค้าทั้งหมด 1.5 ล้านบัญชี ซึ่ง ธอส. มีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องอยู่แล้ว

ขณะที่นางรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับ กนง. เพื่อช่วยลดความเสี่ยงแนวโน้มของค่าเงินบาท และเงินเฟ้อที่จะปรับสูงขึ้นไปกว่านี้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับเพิ่มขึ้น 0.15-0.50% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ เอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา เพิ่มขึ้น 0.40% ต่อปี, เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี เพิ่มขึ้น 0.375% ต่อปี และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี เพิ่มขึ้น 0.30% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.2565 ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ฝากเงิน และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มเปราะบาง ในด้านเงินกู้ ธนาคารจึงได้ปรับอัตราดอกเบี้ย MRR ในอัตราที่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อื่นๆ

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มดอกเบี้ยว่า     คาดว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ และอาจลากไปถึงช่วงแรกของปีหน้า ขึ้นกับระดับความแรงของอัตราเงินเฟ้อและขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้งของเฟด ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 2566 เป็นอย่างน้อย แต่ในขนาดการปรับขึ้นที่ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2565 นี้ คาดว่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า ตราบใดที่เงินดอลลาร์มีแรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง