เทือกเขาอันนัมสกัด‘โนรู’ เตือน50จว.ฝนยังตกหนัก

กรมอุตุฯ เผย "โนรู" สิ้นฤทธิ์แล้ว จากพายุดีเปรสชันกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง  แต่เตือนกว่า 50 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้ง กทม.และปริมณฑลระวังฝนตกหนัก "ดร.ธรณ์" ชี้เทือกเขา “อันนัม” ในเวียดนาม-ลาวช่วยไทยไว้ "บิ๊กป้อม" มีคิวไปลุยน้ำที่ชัยนาทวันจันทร์ที่จะถึงนี้

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ลงนามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโนรู ฉบับที่ 21 ระบุว่า พายุดีเปรสชันโนรู มีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด หรือที่ละติจูด 15.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 103.5 องศาตะวันออก โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป  ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก  โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2565

และประกาศเตือนฉบับที่ 22 ระบุจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในวันที่ 30 กันยายน ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์, ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกล่าวถึงพายุไต้ฝุ่นโนรูว่า "พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา"

นี่คือประโยคสั้นๆ แต่ผมคิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด "พายุโนรู" ที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้ แล้วโนรูตายที่ไหน?

คำตอบคือพายุหมดแรงบน “อันนัม” เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย อันนัมไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เทือกเขาอยู่ในเวียดนาม ในลาว และมีส่วนปลายอยู่ในเขมร แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา

อันนัมทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชัน แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้

อันนัมยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ อันนัมยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและเขมรมีความสุข และนั่นคือเรื่องที่อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ถึงปราการแห่งอินโดจีน เทือกเขาที่มีความหมายมากมายต่อไทย และจะยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อโลกร้อนขึ้น เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วแรงขึ้น อันนัมยังคงตั้งตระหง่าน และคนไทยโชคดีเหลือเกินที่เราตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังอันนัม

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำจังหวัดชัยนาทว่า ในวันจันทร์ที่ 3 ต.ค.นี้​ จะลงพื้นที่จังหวัดชัยนาท​เพื่อตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำ

ขณะที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ หลังพายุ "โนรู" เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อคืนนี้ที่ผ่านมา ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงและภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกกระจายตัวทั่วประเทศ

ที่ศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นโนรู กรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์พายุโนรู โดยมีนายอาสา สุขขัง ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กทม. ร่วมให้ข้อมูล

นายชัชชาติกล่าวว่า สถานการณ์คลองลาดพร้าวยังอยู่ในระดับวิกฤต คลองสองทางด้านบนในเขตสายไหมพื้นที่ริมคลองยังต้องเฝ้าระวัง ส่วนคลองประเวศบุรีรมย์ระดับน้ำอยู่ในค่าวิกฤต ขณะนี้ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง มีการเสริมเครื่องสูบน้ำและเดินเครื่องเต็มที่ ทำให้ระดับน้ำลดลงประมาณ 80 เซนติเมตร ส่วนคลองแสนแสบตอนบนยังมีปัญหาเล็กน้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง