บิ๊กตู่ฟิตลงอุบลฯลุยนํ้าท่วม

“บิ๊กตู่” สั่งเลื่อนประชุมครม. ลุยแก้น้ำท่วมอุบลฯ 4 ต.ค.นี้ กองทัพไทยจัดกำลังสนับสนุนเร่งช่วยผู้ประสบภัยภาคอีสาน ผบ.ตร.ส่งกำลังพล 4.6 พันนายปฏิบัติการรับมือน้ำท่วมอ่างทอง-ชัยภูมิ-ศรีสะเกษ กทม.กำชับเขตรื้อกระสอบทรายหลังจบภารกิจปิดกั้นน้ำ  อุตรดิตถ์หนักสุดในรอบ 10 ปี ชัยภูมิยังวิกฤต ใจกลางเมืองจมบาดาล

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แจ้งว่า ให้เลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 4 ต.ค. ออกไปเป็นวันพุธที่ 5 ต.ค. เนื่องจากวันที่ 4 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีกำหนดการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่อื่นค่อนข้างสูง จำเป็นต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือโดยด่วน พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเข้าไปติดตามการแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยเร็วที่สุด จึงยอมเลื่อนการประชุม ครม.ครั้งแรก หลังกลับมาปฏิบัติหน้าที่ออกไป

ทางด้าน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) สั่งการให้กรมแผนที่ทหาร นำอากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์ แบบ EC155 B1) สนับสนุนภารกิจ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย สำนักงานพัฒนาภาค 5 (สนภ.5) โดยมี นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3 (สทนช.ภาค 3) ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย สำนักงานพัฒนาภาค 5 ขึ้นบินสำรวจความเสียหายพื้นที่ประสบอุทกภัย และประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนเผชิญเหตุในการเตรียมอพยพพี่น้องประชาชน  หากระดับน้ำขึ้นสูงตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.ส่วนหน้า) คาดการณ์ ว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ จากการระบายน้ำมาจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ที่จะไหลมารวมกันที่ จ.อุบลราชธานี รวมถึงทำการสำรวจเพื่อให้การช่วยเหลือและประเมินความเสียหายในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อเตรียมการฟื้นฟูในระยะต่อไป

พร้อมกันนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย  ได้จัดกำลังสนับสนุนและบูรณาการความร่วมมือกับเหล่าทัพและส่วนราชการต่างๆ เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยกรมยุทธบริการทหารได้ดำเนินการขนย้ายถุงยังชีพจำนวน 1,000 ถุง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาและภาคส่วนต่างๆ  เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ประสบภัย พร้อมทั้งยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนในการขนย้ายสิ่งของ การให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแนวทางรับมือหากเกิดโรคระบาดในปศุสัตว์แก่เกษตรกรในพื้นที่ประสบอุทกภัย ดังนี้ บ้านโพนงาม บ้านดอนน้อย บ้านม่วงใหญ่ บ้านดอนจำปา บ้านหนองขนวน และบ้านสำโรง ณ พื้นที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม บ้านกอกแก้ว ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ พื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ตร.4.6 พันนายช่วยน้ำท่วม

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้สั่งให้ทุกพื้นที่ ทั้งตำรวจพื้นที่ ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจตระเวนชายแดน รวมกว่า 4,600 นาย ปฏิบัติการช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะ จ.อ่างทอง ชัยภูมิ ศรีสะเกษ พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง ป้องกันภัยจังหวัด และกรมทางหลวง ในเรื่องถนนหนทาง พร้อมตำรวจ ตชด.คอยติดตามข่าวสารเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามพื้นที่เสี่ยงจากน้ำป่าไหลหลากตามแนวภูเขา จุดใดมีน้ำท่วมขังให้จัดตำรวจจราจรอำนวยความสะดวก และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ สำรวจเครื่องหมายจราจร ระบบไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนในพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ตลอดจนเตรียมแผนเผชิญเหตุและชุดเคลื่อนที่เร็วไว้แก้ไขปัญหากรณีมีรถจอดเสียหรือเกิดอุบัติเหตุกีดขวางการจราจร ให้เตรียมแผนการเคลื่อนย้ายรถและการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์เพื่ออำนวยการจราจรที่จุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว

ผบ.ตร.กล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่หมายเลข 191 และ 1599 หรือตำรวจทางหลวง 1193 ตลอด 24 ชม.

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กำชับสำนักการระบายน้ำ (สนน.) และสำนักงานเขตตรวจสอบพื้นที่และดำเนินการตามข้อสั่งการของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้ 1.การปิดกั้นน้ำในท่อระบายน้ำ บ่อพัก และทางน้ำไหล ในถนน ตรอก ซอย ที่เชื่อมออกคู คลอง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยกระสอบทราย เพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนกลับจากสภาวะระดับน้ำในคลองสูงกว่าระดับพื้นที่ และเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จหรือเสร็จสิ้นภารกิจ ให้รีบดำเนินการรื้อถอนออก เพื่อให้การระบายน้ำออกสู่คู คลอง สามารถทำได้ตามปกติ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง

2.หากยังมีความจำเป็นต้องปิดกั้น เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ให้จัดหาและติดตั้งเครื่องสูบน้ำรองรับ และสูบน้ำเร่งระบายในทุกจุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง 3.ให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบทุกครั้ง และจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ กทม.เปิดช่องทางการรับแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากฝนตกหนักน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านทาง Traffy Fondue ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม 0-2248-5115 หรือโทร.สายด่วน 199 และศูนย์ประสานงานน้ำท่วมทั้ง 50 เขต

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-2 ต.ค.65 เกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ 22 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 17 จังหวัด 72 อำเภอ 178 ตำบล 548 หมู่บ้าน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยนาท ปราจีนบุรี และพังงา

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่และลำพูน ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำซากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ที่ ต.ท่าวังพร้าว และ ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และที่ ต.บ้านแป้น และ ต.ต้นธง อ.ป่าซาง จังหวัดลำพูน ทั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จ.เชียงใหม่ เกิดจากการขาดการบูรณาการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะหากมีการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างฝ้ายชะลอน้ำ และอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง จะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาและต้องเร่งชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ทั้งทางด้านทรัพย์สินและทางด้านจิตใจ รวมถึงต้องสร้างเขื่อนเรียงหินตลิ่งลำน้ำแม่ขาน เพื่อป้องกัน และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมตามลำน้ำต่างๆ

อุตรดิตถ์หนักสุดรอบ 10 ปี

ที่ จ.อุตรดิตถ์ ฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่กลางดึกวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากลงสู่ลำห้วย คูคลองต่างๆ อย่างรวดเร็ว เอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองฯ, ลับแล, พิชัย, ทองแสนขัน และท่าปลา โดย อ.ท่าปลา ได้รับผลกระทบหนักสุดในรอบ 10 ปี บ้านเรือนประชาชนใน 6 ตำบล กว่า 1,000 หลังคา ถูกน้ำท่วมสูงมิดหลังคา ต้องเร่งอพยพ ผู้สูงอายุ เด็ก สัตว์เลี้ยง รถยนต์ และสิ่งเครื่องใช้หนีน้ำไปรวมไว้บริเวณถนนกลางหมู่บ้าน

ที่ จ.ชัยภูมิ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจกลางเมืองชัยภูมิยังวิกฤต หนักสุดรอบกว่า 50 ปี ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2564 ซึ่งประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนขยายวงกว้างกว่า 30,000 ครอบครัว ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 40,000 คน และยังมีมวลน้ำป่าหลากจากเทือกเขาภูแลนคาไหลเข้าเขื่อนลำปะทาวเต็มเขื่อน ล้นสันเขื่อนไหลผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดโตน ไหลมาตามลำน้ำลำปะทาว ไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมืองโซนเศรษฐกิจย่านกลางเมืองชัยภูมิ ทั้งหมดถนนแทบทุกสายถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรอย่างต่อเนื่อง รถทุกชนิดไม่สามารถขับผ่านได้ ต้องใช้เรือในการเดินทางแทน

ระดับน้ำในถนนแทบทุกสายในเมืองยังต้องจมอยู่ใต้น้ำมีระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 50 เซนติเมตร-2 เมตร โดยเฉพาะจุดที่ถนนบรรณาการหน้า รพ.ชัยภูมิ ทั้งญาติผู้ป่วย และคนป่วยต้องมีความจำเป็นเดินทางเข้า-ออก รพ.ชัยภูมิ ด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เรือท้องแบนที่หน่วยงานต่างๆ มาคอยจอดรอไว้ช่วยเหลือนำผู้ป่วยส่งเข้าโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีภาพสลดใจ ชาวบ้านได้ช่วยกันแบกโลงศพญาติที่เสียชีวิตออกมาจาก รพ.มาขึ้นเรือนำโลงศพออกจากโรงพยาบาลชัยภูมิ เพื่อไปบำเพ็ญกุศล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองชัยภูมิได้เร่งสร้างสะพานไม้ชั่วคราวเป็นทางยาวให้เป็นจุดใช้ข้ามน้ำท่วมจากหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ไปจนถึงหน้า รพ.ชัยภูมิ มีความยาวของสะพานไม้ดังกล่าวยาว 150 เมตร มีความสูงกว่า 3 เมตร เพื่อใช้ขนย้ายหรือรับ-ส่งคนไข้ฉุกเฉินเร่งด่วนได้รวดเร็วมากขึ้น

ที่ จ.ขอนแก่น นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น และคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอน้ำ หลังจากที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้เพิ่มการระบายน้ำสูงสุดที่ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนแล้ว 10 ตำบล จากทั้งหมด 12 ตำบล โดยมวลน้ำพองเริ่มกัดเซาะพนังดินขยายวงกว้างและกัดเซาะพนังจากขนาดกว้าง 3 เมตร เหลือเพียง 30 ซม. จุดที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะหากพนังกั้นน้ำพองขาด มวลน้ำจะไหลเข้าท่วมหมู่บ้านท่ากระเสริม 300 หลังคาเรือนทันที ชาวบ้านจึงต้องระดมสรรพกำลังเร่งบรรจุกระสอบทรายกว่า 2,000 ใบ ทำเป็นคันกั้นน้ำสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร ระยะทางกว่า 200 เมตร พร้อมกับใช้รถแบ็กโฮมาทำคันดินเสริมป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้าน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์