ผวาน้ำเหนือหนุน!กทม.เร่งรับมือ

"บิ๊กตู่" เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม สำทับผู้ว่าฯ เดินตามนโยบาย 10 ข้อบริหารจัดการ มั่นใจพา ปชช.ฝ่าพ้นวิกฤต ด้าน "บิ๊กป๊อก"  เผยไม่หนักเท่าปี 54 ด้าน "วราวุธ" ชงวางแผนกันเมืองกรุงจมน้ำทะเล ขณะที่ กทม.พร้อมรับมือจุดพีกน้ำเหนือหนุน 7-8 ต.ค. "ชัชชาติ" สั่งมอนิเตอร์ผ่านวงจรปิดแจ้ง ปชช. เตือน 3 จังหวัดเหนือ เขื่อนเจ้าพระยารับมือน้ำสูงขึ้นอีก 30 ซม.

 เมื่อวันพุธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha" ว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกคนครับ ผมได้เฝ้าติดตามข่าวสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสาน ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ต.ค.65) ผมได้สั่งการเน้นย้ำนโยบาย 10 ข้อ ในการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้นำไปปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 

นายกรัฐมนตรีระบุว่า จากการรายงานผลการดำเนินงานของทั้งสองจังหวัด ทำให้ผมได้รับทราบว่าได้มีการจัดการสถานการณ์อย่างเต็มที่ ตามแผนเผชิญเหตุที่รัฐบาลได้สั่งการไว้ล่วงหน้า โดยได้เตรียมการไว้ และคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน รวมถึงการประสานงานในการส่งข่าวสารแจ้งพี่น้องประชาชนในการระมัดระวังและช่องทางการขอรับความช่วยเหลือ

“ซึ่งทำให้ผมมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้พี่น้องประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำการค้า ประกอบอาชีพ เรียนหนังสือ สัญจรไปมาได้โดยเร็ว ซึ่งผมได้เน้นย้ำกับทั้งสองจังหวัดว่า รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติต่างๆ ทั้งในรูปแบบของงบประมาณเพิ่มเติม กำลังคน เครื่องจักรกล และทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็นอย่างเต็มที่ โดยสิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องระบายน้ำให้ได้เร็วและมากที่สุด เพื่อบรรเทาสถานการณ์และเตรียมพร้อมหากจะมีพายุเข้ามาอีก" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

นายกรัฐมนตรีระบุว่า แม้ว่าวานนี้ ผมจะเดินทางไปลงพื้นที่ได้เพียงสองจังหวัด แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงพี่น้องในจังหวัดอื่นๆ ที่เผชิญกับอุทกภัยอยู่ตลอดเวลา และจะคอยติดตามการดำเนินงานของแต่ละจังหวัด ในการจัดการตามนโยบายที่ได้สั่งการไว้ โดยจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนอีกเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมและรัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ ในการคิดช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด ในทุกสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะสถานการณ์โควิด ปัญหาพลังงาน หรืออุทกภัย

"สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย อาสาสมัคร จิตอาสา และทุกภาคส่วน ในทุกภูมิภาคของประเทศ ที่ได้อุทิศแรงกาย แรงใจ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของเรา อีกทั้งขอเชิญชวนชาวไทยทั้งประเทศร่วมเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัย ให้ผ่านพ้นห้วงเวลาแห่งความยามลำบากไปได้โดยเร็ว และมีสวัสดิภาพครับ" นายกรัฐมนตรีระบุ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์และคณะมีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจติดตามแก้ไขปัญหาอุทกภัย ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 6 ต.ค.พร้อมพบปะให้กำลังใจผู้ประสบภัย ที่หมู่ 11 ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก และตรวจสถานการณ์น้ำป่าสักที่บริเวณสะพานหน้าพิพิธภัณฑ์หล่มสัก ก่อนเดินทางกลับ

                    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า เราคาดว่ามวลน้ำจะมาถึง จ.อุบลราชธานี วันที่ 8 ต.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นวันที่พีกสุด อย่างไรก็ตามในขณะนี้ระดับแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าตลิ่ง ฉะนั้นจะเร่งระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบของ จ.อุบลราชธานีได้มากที่สุด ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา การระบายน้ำของเขื่อนชัยนาทและเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อบวกกับแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำยังไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครถ้าไม่มีฝนเติมเข้ามาอีก

เมื่อถามว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมจะไม่ซ้ำรอยกับปี 2554 ใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ต้องมีสมมติฐาน ถ้าไม่มีพายุหมุนฤดูร้อนเข้ามาอีก หรือร่องมรสุมพาดผ่าน ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะมีร่องมรสุมที่มาจากอิทธิพลความกดอากาศจากประเทศจีน ทำให้ร่องมรสุมต่ำทำให้เกิดฝนทางภาคใต้ของไทย ถ้าเป็นอย่างนั้น ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือจะได้รับผลกระทบน้อย ส่วนปี 2554 มีพายุหมุนฤดูร้อน 3 ลูก และมีร่องมรสุมพาดผ่านติดต่อกัน 3 ครั้ง จึงทำให้มีฝนมากและระบายน้ำไม่ทัน แต่ปีนี้จะหนักในบริเวณน้ำไหลผ่าน ถ้าไม่มีมรสุมหรือร่องมรสุมเข้ามาอีก จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. ตนเองในฐานะ รมว.ทส. ได้เสริมความเห็นต่อพล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นที่เราต้องคิดพิจารณาว่าในอีก 10-20 ปีจากนี้ กรณีเกิดน้ำทะเลหนุนสูงจนน้ำเอ่อเข้ามาในเขต กทม. จะมีแนวทางป้องกันอย่างไร 

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  กทม.ไม่สามารถบอกให้ใครทำงานที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม) ได้ เพียงแต่ขอความร่วมมือให้หน่วยงานยืดหยุ่นให้พนักงานกลับเร็ว เพื่อลดความแออัดบนท้องถนน ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งให้รายงานภาพจากกล้อง CCTV เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำทั้งก่อนและหลังฝนตก พร้อมให้สำนักประชาสัมพันธ์ กทม. แจ้งเตือนสภาพอากาศประชาชนให้กับประชาชนในเวลา 05.00 น. และ 15.00 น.

ด้านนายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ยังสามารถรับน้ำได้ แต่น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกินความจุ 106% แล้ว ซึ่งจะต้องระบายน้ำผ่าน กทม. โดยน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในวันที่ 8 ต.ค. ซึ่งกทม.เตรียมแผนรับมือน้ำเหนือและน้ำฝนไว้แล้ว จัดกระสอบทรายอุดจุดฟันหลอ 76 จุด เช่น ท่าเรือเทเวศร์ ถนนทรงวาด ท่าราชวรดิฐ เป็นต้น และการเตรียมรับน้ำจากฝนนั้น ปัจจุบัน กทม.ได้เร่งลดระดับน้ำในคลองสายหลัก

ส่วนสถานการณ์น้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือที่คาดว่าจะมาพร้อมกันในช่วง 7-10 ต.ค. นายเจษฎากล่าวว่า กทม.มีแผนทั้งบุคลากร และการรองรับโดยมีการเตรียมกระสอบทราย 2.5 ล้านใบ อุดจุดที่ฟันหลอตลอดแนว และเสริมคันกั้นสูงขึ้น 2.8-3.5 เมตร แต่ก็ยังมีข้อกังวลกรณีที่อาจเกิดแรงดันน้ำตามจุดอ่อนไหว จุดรอยต่อที่มองไม่เห็น ทางสำนักการระบายน้ำได้เตรียมชุดปฏิบัติการสำหรับเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ไว้แล้ว

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า หากหน่วยงานท้องถิ่นที่คาดว่าพื้นที่ตัวเองจะมีปัญหาน้ำท่วมขัง ขอให้ประสานมายังกรมราชทัณฑ์ได้เลย เรายินดีให้บริการสังคม พื้นที่ใดมีปัญหา ขอให้ประสานมา เราอยากช่วยประชาชน และผู้ต้องขังทุกคนอยากช่วยลดภาระให้กับสังคมและประชาชน เรายินดีให้บริการ

ที่ จ.ชัยนาท กรมชลประทาน มีหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัดเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อขอให้แจ้งเตือนประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 30 เซนติเมตร เนื่องจากปริมาณน้ำจากทางภาคเหนือมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

 โดยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบดังเช่นปี 2564 คือ บริเวณอำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท, อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งทั้งสองฝั่งเข้าพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมน้ำนอกคันกั้นน้ำประมาณ 700 ครัวเรือน

จ.เชียงใหม่ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง ณ วันที่ 5 ตุลาคม ระดับน้ำเริ่มลดลงต่อเนื่อง สำนักชลประทานที่ 1 แจ้งสถานการณ์ล่าสุดว่า ปริมาณน้ำท่วมขังสูงสุดเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ภาพรวมปริมาณน้ำที่ท่วมขังได้ลดระดับลงแล้วบางส่วน คงเหลือค้างอยู่ประมาณ 50% คาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนและมวลน้ำมาเพิ่มอีก 1-2วันนี้น่าจะเข้าสู่ปกติได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ