กม.พรรคการเมืองไม่ขัดรธน.

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ร่างกฎหมายพรรคการเมืองไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปด้านการเมือง ลุ้นต่อ 30 พ.ย. วินิจฉัย กม.เลือกตั้ง "วิษณุ" ยันไม่มีเหตุต้องยุบสภา ถ้ายุบอันธพาล

เมื่อวันที่​ 23 พฤศจิกายน 2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 77 คน ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยมติที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ร่างกฎหมายพรรคการเมือง ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปด้านการเมือง 

สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญคือ การลดค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค เดิมปีละไม่เกิน 100 บาท เหลือไม่เกิน 20 บาท ตลอดชีพลดเหลือไม่เกิน 200 บาท จากเดิมไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เหตุผลคือกลัวจะทำให้เกิดนายทุนครอบงำและไม่เป็นพรรคของประชาชน และตัดคุณสมบัติผู้ต้องคดีอาญา การฉ้อโกง ยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์และการฟอกเงิน หากคดีไม่ถึงขั้นติดคุกก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้

ประเด็นการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ที่แก้ไขให้สามารถเลือกผู้สมัครได้จากเดิมที่จะเป็นหน้าที่ของตัวแทนประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งอาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้แต่ละเขตเลือกผู้สมัคร ประกอบกับการให้เลือกบุคคลจากรายชื่อคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครคัดเลือกมา ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะจะขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร รวมทั้งการตัดเรื่องห้ามสมาชิกเรียกรับผลประโยชน์ หรือใช้อิทธิพลข่มขู่ในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ  

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะแจ้งผลการวินิจฉัยให้ประธานรัฐสภาได้รับทราบ และประธานรัฐสภาจะส่งร่างให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติในวันที่ 30 พ.ย.นี้

แหล่งข่าวระดับสูงในศาลรัฐธรรมนูญ เผยว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนข้อบัญญัติไว้ชัดเจนไว้มาก แต่กำหนดให้ขึ้นอยู่กับการยกร่าง พ.ร.ป. อีกทั้งเป็นเจตนารมณ์ในการยกร่างของรัฐสภา ที่มีหน้าที่ในการจัดทำและแก้ไข และสอดคล้องกันหมด ประเด็นการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคการเมือง ที่เปิดให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุก ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมหรือการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ซึ่งศาลมองว่าเพียงการเป็นสมาชิกพรรคการปรับแก้เงื่อนไข ไม่ได้มีผลอะไรกับพรรค เนื่องจากไม่ได้ไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ส่วนเรื่องการทำไพรมารีโหวต ศาลเห็นว่าเป็นการดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองที่รัฐสภาเป็นผู้เสนอแนะ โดยไม่ได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าไม่ได้เป็นการไปตัดสิทธิ์สมาชิกในการส่งผู้สมัคร ซึ่งเดิมอาจจะส่งผู้สมัครได้ในเขตเลือกตั้งเท่านั้น แต่มีการปรับแก้ใหม่ ให้สามารถดำเนินการร่วมส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัด โดยเห็นว่าไม่ควรไปขัดขวาง เมื่อทุกพรรคการเมืองที่ร่วมยกร่างกฎหมายมีความเห็นส่วนใหญ่ตรงกัน 

สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันพุธที่ 30 พ.ย. นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระพิจารณาเพียงเรื่องเดียว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาคุยกันยาว ซึ่งตามเนื้อหาของร่างการหารด้วย 100 นั้นถูกต้องแล้ว แต่ตามคำร้องมีการอ้างถึงถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ “พึงมี” ของการคำนวณ ส.ส.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ห่วงเรื่องพรรคการเมือง แต่เป็นห่วงกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะกฎหมายลูกพรรคการเมืองผ่านสภามาได้โดยไม่มีปัญหาอะไร หรือถ้าจะกระทบคงแค่บางมาตรา ก็แค่นำมาตรานั้นออกไป และตามรัฐธรรมนูญระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตราใดขัดรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่ใช่สาระสำคัญให้ดึงมาตรานั้นออกไปโดยไม่ต้องยกร่างใหม่ แต่ถ้ามาตราไหนสำคัญ ต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยร่างกฎหมายลูกพรรคการเมืองวันนี้อาจจะขัดหรือไม่ขัดก็ได้ หรือถ้าขัดก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งตนหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น

เมื่อถามถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยในวันที่ 30 พ.ย.นี้ มีการมองกันว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่นายกฯ จะยุบสภาหรือไม่ รองนายกฯ ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยว และรับรองว่านายกฯ ไม่ยุบสภาในวันที่ 30 พ.ย.นี้ เพราะมีภารกิจอะไรที่ต้องทำในวันนั้นหลายอย่าง

ต่อข้อถามว่า จะเป็นเวลาหลังจากนั้นหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ค่อยมาถามใหม่กันทุกวันแล้วกัน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่วันที่ 30 พ.ย.แน่ และหากตัดสินออกมาแล้วว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัด แล้วจะไปยุบทำไม หรือถ้าตัดสินว่าขัดและไปยุบใครจะทำอะไรต่อ จึงไม่มีเหตุอะไรที่จะไปยุบ และอันธพาลถ้ายุบตอนนั้น 

ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แถลงว่า จากนี้ต่อไปศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยกลับมายังนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

นายนิกรกล่าวต่อว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในวันที่ 30 พ.ย.นั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยกร่างเองทุกคำ และเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ทั้งยังส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาด้วย จึงไม่น่ามีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หากจะมีปัญหาอยู่บ้างคือ คำร้องของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ที่ร้องว่ากระบวนการพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องภายในสภาโดยแท้ ถ้าสภาเคาะว่าทำได้ ก็คือทำได้ จึงมองไม่ออกว่าขัดกับรัฐธรรมนูญมาตราใด

นายนิกรกล่าวอีกว่า เมื่อร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับได้รับการวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว เราจะก้าวเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีผู้ใดตอบได้ว่านายกฯ จะยุบสภาช้าหรือเร็ว ส่วนเหตุผลที่จะใช้เพื่อยุบสภานั้น อาจมาจากสภาที่วุ่นวายไม่สามารถทำงานได้ เป็นสภาป๋อมแป๋ม

  ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า กระแสข่าวการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการกลับมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวอีกครั้งไม่น่าจะเป็นไปได้ ภายใต้กติกาการเลือกตั้งที่มีการแก้ไขไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับไปบัตรเลือกตั้งใบเดียวเช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้อีกแล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล อย่าคิดไปเอง  ควรรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนดีกว่า ดังนั้นการเลือกตั้งหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด จะต้องใช้บัตร 2 ใบเท่านั้น เพราะกฎหมายแก้ไปแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้นถ้าจะกลับมาใช้บัตรใบเดียว มีทางเดียวคือต้องยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น ตราบใดที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบ 

 “ประเด็นการเลือกตั้งในปี 2566 ที่จะเกิดขึ้น จากการสำรวจความนิยมของพี่น้องประชาชนจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง พบว่ากระแสแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทยได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก จากการลงพื้นที่ประชาชนตอบรับนโยบายแก้ปัญหาปากท้องของพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้พรรคการเมืองหลายพรรคเตรียมที่จะรุมกินโต๊ะพรรค เตะตัดขาพรรคเพื่อไทย ถึงเวลานี้ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเดินหน้าในการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนพรรคไหนจะได้ ส.ส.มากน้อยแค่ไหน ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเอง แต่ขอให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ทุกพรรคการเมืองอยู่ในกติกาเดียวกัน เชื่อประชาชนจับตาดูอยู่” นายสมคิดกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์