‘หมอระวี’ลุยอีก! นิรโทษการเมือง จ่อล่าชื่อชงสภา

"หมอระวี" ยังลุยต่อ ดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่เปลี่ยนชื่อลดแรงต้านเป็นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เตรียมล่าชื่อ ส.ส.ชงเข้าสภาสัปดาห์หน้า หลังเดินสายหารือกับทั้ง ส.ส.รัฐบาล  ฝ่ายค้านและ ส.ว. ตลอดจนแกนนำกลุ่มเสื้อสีหลายกลุ่ม  เพื่อขอความเห็นและช่วยหนุนร่าง

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม มีรายงานความเคลื่อนไหวการพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ที่นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล  หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า ล่าสุด นพ.ระวีได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อและเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข" เพื่อลดแรงต้าน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นพ.ระวีเตรียมเคลื่อนไหวเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสัปดาห์หน้า หลังก่อนหน้านี้ได้มีการเดินสายหารือกับทั้ง ส.ส.รัฐบาล  ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนแกนนำกลุ่มเสื้อสีทางการเมืองหลายกลุ่ม เพื่อขอความเห็นและให้ช่วยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ด้วยจำนวนหนึ่ง

สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

ส่วนเนื้อหาในร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น มาตรา  2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองหรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตนการต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตามบัญชีแนบท้าย ตั้งแต่วันที่ 19  กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

เนื้อหาในร่างระบุว่า ทั้งนี้ การกระทำความผิดในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ-การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือเป็นการกระทำที่ส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้องถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 ในกรณีที่การกระทำผิดตามมาตรา 3 ก่อให้เกิดความเสียหายทางแพ่งแก่หน่วยงานของรัฐ ให้ความเสียหายทางแพ่งนั้นเป็นอันระงับไปกรณีตามวรรคแรก ถ้ามีการดำเนินคดีถึงที่สุดและมีการบังคับคดีไปแล้วเพียงใดก็ให้การบังคับคดีนั้นสิ้นสุดลงและให้คืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดแก่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมโดยเร็ว ถ้าอยู่ระหว่างการบังคับคดีก็ให้ยกเลิกการบังคับคดีนั้น

มาตรา 6 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้ง  “คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม” มีจำนวนไม่เกิน 7 คน ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ มีหน้าที่

 (1) รับเรื่องจากผู้ต้องหาคดีตามมาตรา 3 ที่ต้องการได้รับการนิรโทษกรรม

 (2) พิจารณาว่าคดีที่ยื่นเข้ามาตามข้อ (1) คดีใดอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

(3) แจ้งความคิดเห็นของกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

คำชี้ขาดของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีให้เป็นที่สุด และให้หน่วยงาน หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติไปตามคำชี้ขาดโดยพลัน คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมมีวาระ 10 เดือนนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

มาตรา 9 หากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้กระทำความผิดซ้ำภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ห้ามมิให้ศาลรอลงอาญา หรือรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับคดีที่กระทำความผิดภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์