ข่าวร้ายรับ65 กกพ.เคาะFT ขึ้น17สตางค์

ข่าวร้ายรับต้นปี 2565 “กกพ.” เคาะขึ้นค่าเอฟทีรับปีใหม่ในรอบ 2 ปี หลังราคา “น้ำมัน-ก๊าซ” พุ่งกระฉูด ชาวบ้านต้องจ่ายเพิ่ม 17 สตางค์ต่อหน่วย ชี้ใช้เงินอุดหนุนเต็มกำลังแล้ว หวังราคาพลังงานโลกลดลง

เมื่อวันศุกร์ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. แถลงถึงผลการประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่ามีมติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับนำไปคิดค่าไฟฟ้าในรอบเดือ น ม.ค.-เม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่เรียกเก็บ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ในงวดดังกล่าวเรียกเก็บค่าเอฟทีสุทธิอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่ประชาชนต้องจ่าย 3.61 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17 สตางค์ ซึ่งถือว่าเป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

นายคมกฤชระบุอีกว่า กกพ.ห่วงใยสถานการณ์ราคาพลังงานที่แพงขึ้นอย่างมาก และเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้พลังงานเป็นวงกว้าง จึงได้พิจารณานำเงินบริหารจัดการค่าเอฟที และเงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดมาลดผลกระทบของการปรับค่าเอฟทีครั้งนี้กว่า 5,129 ล้านบาท และนำเงินผลประโยชน์ของบัญชีเงินที่จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าตามปริมาณก๊าซตามสัญญาไปก่อนของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา จำนวนเงิน 13,511 ล้านบาท รวมเป็นเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่าเอฟทีทั้งหมด 18,640 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเอฟทีที่ต้องเรียกเก็บอยู่ที่ 22.50 สตางค์

"ต้นทุนพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงนี้ทำให้ส่งผลกระทบราคาเอฟทีในงวดปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้วจะทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเป็น 48.01 สตางค์ แต่ กกพ.นำเงินทั้งหมดมาอุดหนุน จึงเหลือค่าเอฟที 22.50 สตางค์ แต่ยังมองว่าสูงอยู่ดี จึงกำหนดขึ้นค่าเอฟทีเป็นแบบขั้นบันได และนำมาบวกเพิ่มแค่ 16.71 สตางค์ จาก 22.50 สตางค์ และเมื่อนำมาบวกกับเอฟทีเดิมที่ -15.32 สตางค์ ทำให้เรียกเก็บค่าเอฟทีสุทธิอยู่ที่ 1.39 สตางค์" นายคมกฤชกล่าว

นายคมกฤชกล่าวว่า กกพ.ได้พิจารณาค่าแนวโน้มปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 32.1 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันตลาดโลกคาดการณ์เฉลี่ยลดลงมาเป็นประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันทดแทน Spot LNG ซึ่งมีราคาสูงเพื่อลดผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าในภาพรวมด้วยแล้ว แต่สถานการณ์ราคาพลังงานระยะต่อไปยังคงผันผวนและเป็นแนวโน้มขาขึ้น ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายสัมปทาน จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งการประหยัดใช้พลังงาน โดย กกพ.จะดูแลค่าไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้อย่างราบรื่นและมีความสมดุล

“ก่อนหน้านี้ กกพ.ได้ดำเนินนโยบายบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้ประชาชนผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการการลดค่าไฟฟ้า และตรึงค่าเอฟทีต่อเนื่องกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง ทำให้เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่ง กกพ.ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยยังคาดหวังว่าสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและราคาเชื้อเพลิงยังมีโอกาสปรับตัวลดลงได้บ้าง หลังจากผ่านพ้นฤดูหนาว ซึ่งมีปริมาณความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติสูง และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะบริหารจัดการความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดให้ดีขึ้นได้" นายคมกฤชกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง