ลดค่าไฟธุรกิจเหลือ5.33/หน่วย

กกพ.ทบทวนเอฟทีภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมฯ เหลือ 154.92 สตางค์/หน่วย จาก 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลเหลือจ่าย 5.33 บาท/หน่วย จาก 5.69 บาท/หน่วย หลัง ปตท.ทบทวนประมาณการสมมุติฐานราคาก๊าซธรรมชาติ และ กฟผ.สรุปภาระหนี้คงค้างใหม่

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. ครั้งที่ 60/2565 (ครั้งที่ 827) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2565 พิจารณาผลการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เพิ่มเติมอีกครั้งหลังจากที่ กฟผ.และ ปตท.ทบทวนประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันดีเซล อัตราแลกเปลี่ยน และภาระหนี้คงค้างของ กฟผ. สำหรับการคำนวณอัตราค่าเอฟที ตามที่ กกพ.ได้พิจารณาไปแล้วในการประชุมครั้งที่ 58/2565 (ครั้งที่ 825) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องจ่ายค่าเอฟที 154.92 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่ต้องจ่ายค่าเอฟที 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มนี้จึงต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 5.33 บาทต่อหน่วย ในรอบบิลค่าไฟฟ้า ม.ค.-เม.ย.66                                                                                                                                                                                                                                                                                                                   

โดยมีสมมุติฐานที่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ 1.ราคาก๊าซธรรมชาติ จากเดิมอยู่ที่ 493 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 466 บาทต่อล้านบีทียู, ราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 237 บาทต่อล้านบีที และราคา Pool Gas จากเดิมอยู่ที่ 535 บาทต่อล้านบีทียู ลดเหลือ 496 บาทต่อล้านบีทียู 2.ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ตลาดจร (Spot LNG) จากเดิมอยู่ที่ 31.577 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เหลือ 29.60 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู 3.ราคาน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร เหลือ 28.22 บาทต่อลิตร 4.อัตราแลกเปลี่ยน (Fx) จากเดิมอยู่ที่ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เหลือ 35.68 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และ 5.ภาระหนี้สะสมจากการเรียกเก็บเอฟทีของ กฟผ. (122,257 ล้านบาท) จากเดิมให้มีการเรียกเก็บคืนภายใน 2 ปี จะอยู่ที่ 33.33 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งมีการคำนวณใหม่ โดยให้ทยอยเรียกเก็บคืนภายใน 3 ปี จะเหลืออยู่ที่ 22.22 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ จากการปรับเปลี่ยนสมมุติฐานดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังคงต้องจ่ายค่าเอฟที ในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ ต้องจ่ายค่าเอฟทีในอัตรา 154.92 สตางค์ต่อหน่วย ค่าเอฟทีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังคงจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วยตามที่มีประกาศไป แต่ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่มีกำหนดจ่ายไฟที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤชกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 เป็นต้นไป ผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท จะได้รับการปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือน ดังนี้ 1.ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย จากเดิมจะจ่ายที่ 38.22 บาทต่อเดือน ปรับเหลือ 24.62 บาทต่อเดือน 2.ประเภทบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU จากเดิมจะจ่ายที่ 38.22 บาทต่อเดือน ปรับเหลือ 24.62 บาทต่อเดือน โดยแบ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำ จากเดิม 46.16 บาทต่อเดือน ปรับเหลือ 33.29 บาทต่อเดือน และกิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU จากเดิม 228.17 บาทต่อเดือน ปรับเหลือ 204.07 บาทต่อเดือน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ภายหลังที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน หารือกับตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เพื่อทำความเข้าใจถึงราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องจ่ายค่าเอฟที 154.92 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ต้องจ่ายจริงที่หน่วยละ 5.33 บาท ในรอบบิลเดือน ม.ค.-เม.ย.2566

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงปัญหาหลักคือ กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยที่ไม่เป็นไปตามเป้า หายไปเกือบ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสัญญาที่ต้องผลิตให้ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากปัจจัยการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน และไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตได้ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้รับการยืนยันจาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานรายใหม่ว่าอยู่ระหว่างเร่งกำลังการผลิต

 “กระทรวงพลังงานระบุว่า กลางปีหน้าจะเร่งกำลังผลิตให้ได้ราว 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และช่วงปลายปี 2567 จะสามารถอัปกำลังการผลิตได้ตามสัญญา ดังนั้นรองนายกฯ จึงอยากให้เอกชนเข้าใจและขอความร่วมมือให้ประหยัดพลังงานและฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน พร้อมกับขอบคุณภาคธุรกิจที่ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจให้กับประเทศ” แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำหรับกำลังใจและข้อมูลสนับสนุนจาก ส.อ.ท. ในการผลักดันให้รัฐบาลช่วยทบทวนค่าไฟฟ้าของภาคเอกชน จากนี้ต่อไปภาคเอกชน โดย ส.อ.ท.และ กกร.ควรผลักดัน แก้ไข โครงสร้างค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าพลังงานของประเทศ ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป ตามแนวทางที่เคยเสนอมาโดยตลอด สำหรับค่าไฟฟ้าที่ลดลงถือเป็นการบรรเทาปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหา

"จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 มาที่ 17% และรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ขยับมาที่ 13% หากรวมกันก็ 30% เข้าไปแล้ว ถือว่าหนักหนาสาหัสแล้วสำหรับธุรกิจ แต่เอกชนก็ต้องขอบคุณที่ภาครัฐยอมถอยครึ่งก้าว รับฟังสิ่งที่ภาคธุรกิจนำเสนอ เพียงแต่ยังไม่ได้แก้ต้นเหตุของปัญหา ดังนั้นเอกชนก็จะเดินหน้าในเชิงสร้างสรรค์ต่อไป" นายอิศเรศกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง