ไทยไฟเขียวเที่ยวทั่วปท.

“หมอหนู” นั่งหัวโต๊ะประชุมรับมือนักท่องเที่ยว ยันไม่มีการแบ่งเชื้อชาติใด แต่ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม แนะซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโควิด เผยหากเข้าไทยแล้วเที่ยวไปได้ทั่ว ยามอยู่ที่สาธารณะควรใส่หน้ากาก ระบุไม่มีฉีดวัคซีนฟรี ใครอยากได้ต้องเสียเงิน “พิพัฒน์” เผยชาวจีนล็อตแรกมาไทย 200 ชีวิต 9 ม.ค.

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ม.ค. ที่ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ครั้งที่ 1/2566 โดยมีรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม

โดยก่อนการประชุม นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า ข้อสรุปแต่ละมาตรการมีอยู่แล้ว และจะนำมาหารือและแจ้งให้แต่ละหน่วยงานทราบในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในไทย ที่คาดว่าในต้นปีจะมีประมาณ 4-5 หมื่นคน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับทราบมาตรการรองรับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

เมื่อถามว่า มาตรการป้องกันกรณีที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาครั้งนี้แตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เราจะใช้มาตรการที่มีอยู่เดิมให้มากที่สุด และเรารับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะกับจีน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศ ไม่ได้แบ่งว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาติไหน เพราะเราถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวทั้งหมด  แต่ละคนก็มาจากประเทศที่มีการติดเชื้อ อยู่ที่ว่าจะเป็นเชื้อใหม่หรือเก่า ถ้าเป็นเชื้อใหม่ มาตรการรับมือก็เปลี่ยนได้ ดังนั้นอย่านำมาตรการของไทยไปเทียบกับประเทศอื่น เพราะนี่ประเทศไทยไม่เหมือนกัน

“เรายังไม่มีไอเดียฉีดวัคซีนฟรีให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากต้องการจะฉีดชนิดอื่นที่ต่างจากจีนจะต้องเก็บค่าบริการ ไม่ฟรีแน่นอน อยากให้เขาเข้ามา แต่ก็มีเหตุผล ไม่ใช่แถมแหลกสะบัด ส่วนจะราคาเข็มละเท่าไหร่นั้น กระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดค่าบริการต่อไป” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังประชุมว่า เป็นการทำความเข้าใจเรื่องของการรับนักท่องเที่ยว ทั้งด้านการคมนาคม ท่องเที่ยว และสาธารณสุข โดยแต่ละหน่วยงานรับทราบมาตรการและรับปฏิบัติ ขณะที่ กทม.พร้อมให้ความร่วมมืออย่างดี ยืนยันว่ามีมาตรการพร้อมรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ และสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ตลอดตามความเหมาะสม โดยจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ขอให้คงมาตรฐานชาพลัส ผู้ให้บริการสวมหน้ากากอนามัย

นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าประเทศที่มีข้อกำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางกลับเข้าประเทศตัวเองนั้น ต้องซื้อประกันสุขภาพทุกประเทศ ไม่เฉพาะแค่ประเทศจีน โดยเงื่อนไขของประกันเป็นไปตามหลักสากลในการรักษาพยาบาล และยังครอบคลุมโควิด-19 หากตรวจพบสามารถรักษาตามปกติ ส่วนประเทศใดที่ไม่มีเงื่อนไขต้องตรวจ RT-PCR ขอแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพไว้เช่นกัน เพื่อความสะดวกด้านต่างๆ หากมีการติดเชื้อหรือเจ็บป่วย จะมีสถานที่รักษา สำหรับประเด็นค่าเหยียบแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ถือเป็นคนละเรื่องกัน และยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ตนเอง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จะเดินทางไปตรวจความพร้อมและดูสถานการณ์การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทย ทั้งไฟลต์จากประเทศจีนและอื่นๆ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายพิพัฒน์กล่าวว่า หลังจากจีนประกาศเปิดประเทศ โดยผ่อนคลายมาตรการโควิดสำหรับผู้เดินทางเข้าจีน ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. จะมีเที่ยวบินจากจีนที่นำนักท่องเที่ยวทยอยเข้าไทยมาไฟลต์แรกตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.นี้ เป็นเที่ยวบินที่มาจากเมืองเซี่ยเหมิน ในมณฑลฝูเจี้ยนทางตอนใต้ของจีน ประมาณ 200 คน ส่วนการเพิ่มไฟลต์บินจากจีนมายังไทย เบื้องต้นมองเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดหลักการและการขับเคลื่อนมาตรการควบคุมโควิด-19 ของไทยเพื่อรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปี 2566 ในภาพรวมตามที่คณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้ให้แนวทาง โดยจะไม่ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับโควิด-19 เพื่อกีดกันผู้เดินทางจากประเทศใด และขณะนี้ระบบสาธารณสุขของไทยมีความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ มีการเตรียมความพร้อมหากพบการระบาดรุนแรงขึ้น แต่จะมีการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การดูแลจัดการน้ำเสียจากเครื่องบิน รวมทั้งติดตามประเมินผลสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2566 เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมตามสถานการณ์ต่อไป

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งเสนอโดย สธ.นั้น กรณีก่อนเข้าประเทศไทยต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม และหากมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ แนะนำให้เลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเดินทางเข้าไทย แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครบคลุมการรักษาโควิด-19 ก่อนเข้าไทย เพื่อลดภาระการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงพำนักในไทย ส่วนระหว่างพำนักในไทยจะแนะนำให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศป้องกันตนเองเช่น สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในสถานที่สาธารณะ รถโดยสารขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ เน้นการตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีอาการ ส่วนกรณีผู้เดินทางที่จะออกจากไทยไปยังประเทศที่มีนโยบายคัดกรองก่อนเข้าไทย จะแนะนำให้ผู้เดินทางพักในโรงแรม SHA Plus ซึ่งจะมีบริการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

“ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรค และตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีพบการระบาดในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ มีการเพิ่มกลไกการรายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์ การควบคุมโรค ที่เน้นแจ้งจำนวนนักท่องเที่ยวและตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน โดยรายงานทุกสัปดาห์ มีการกำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้ออัตราสูงขึ้น หรือมีการกลายพันธุ์ และมีการเฝ้าระวัง ตรวจสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวถึงกรณีการให้วัคซีนแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ไม่ว่าจะสัญชาติใด หากต้องการจะรับวัคซีนในไทย ก็จะมีการให้บริการเพื่อเน้นให้เห็นถึงการเป็นเมดิคัลฮับของไทย แต่จะไม่ให้บริการฟรี ซึ่งทั้งส่วนของรายละเอียดประกันสุขภาพและการให้วัคซีนนี้ สธ.จะดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียดข้อกำหนดและประกาศให้ทราบต่อไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.กล่าวว่า เหตุการณ์โควิดปีนี้ปีที่ 4 แล้ว เราจะไปคิดแบบ 4 ปีที่แล้วไม่ได้ สายพันธุ์ตอนนี้อ่อนลงเยอะ อย่าไปคิดแบบเดิม 4 ปีที่แล้ว ให้ดูข้อมูลหลักฐานที่มี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็เห็นตรงกันว่าไม่ได้มีความน่ากังวลมากนัก ทั้งแง่ของสายพันธุ์ แง่ของภูมิคุ้มกัน และแง่ของวัคซีนทั่วโลกที่ครอบคลุมกว่า 80% และขอให้มั่นใจว่า สธ.ไม่ได้ประมาท เราเตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังจุดเสี่ยง และมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส.สานพลัง สธ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย สร้างพื่นที่ปลอดภัยปัญหายาเสพติด

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานและให้กำลังใจผู้ป่วยยาเสพติด ที่รับการบำบัดที่มินิธัญญารักษ์ รพ.อุทัย และชุมชนล้อมรักษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลลุมพลี อำเภอ