รุมขยี้กกต.เมินรายงานผลเลือกตั้ง

“วิษณุ” เผยกฎหมายลูก 2 ฉบับยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา เผยไม่มีปัญหาหากเกิดยุบสภา เพราะคนละส่วนกัน “กกต.เมืองกรุง” ย้ำว่าผู้สมัครอย่าเผลอแจกของ-แต๊ะเอียช่วงวันเด็ก-ตรุษจีน อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย “ก้าวไกล-สมชัย” รุมสับ กกต. ปมส่อไม่มีรายงานผลคะแนนเรียลไทม์วันหย่อนบัตร

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับโปรดเกล้าฯ ลงมาหรือยังว่า ยังไม่ลงมา กรอบ 90 วันที่กฎหมายอยู่ในพระราชอำนาจ ซึ่งจะครบวันที่ 15 มี.ค.2566

เมื่อถามหากกฎหมายลูกยังไม่โปรดเกล้าฯ ยุบสภา สภาจะมีปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี ถือเป็นคนละเรื่องกัน ต่อให้ยุบสภากฎหมายก็เดินต่อไป ซึ่งหากมีการยุบสภาแล้วยังไม่มีกฎหมายลูก ก็ต้องขึ้นกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำอย่างไร ตรงนั้นไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะทำอย่างไร ไม่ใช่เรื่องของผู้สมัคร พรรคการเมืองจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ กกต.จะเลือกใช้วิธีไหนทำอย่างไร หากเขาไม่สามารถจะทำอย่างไรได้ และให้รัฐบาลช่วยก็บอกว่าจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือออกอะไร ก็บอกมาให้ร่างมา

เมื่อถามถึงกรณีรัฐบาลประกาศวันหยุดพิเศษ วันที่ 5 พ.ค. ทำให้เกิดวันหยุดยาว 4 วัน ต่อเนื่องถึงวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งตรงกับตุ๊กตาวันเลือกตั้งของ กกต. หากรัฐบาลอยู่ครบเทอมจะส่งผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุยอมรับว่า ได้หารือกับ กกต. หากเป็นวันหยุดยาวจะกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะคนเดินทางไปต่างจังหวัด แต่ กกต.คิดตรงกันข้ามว่าประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจะได้กลับบ้านไปเลือกตั้ง เราคิดว่าคนกรุงเทพฯ ออกไปเที่ยว แต่ไม่ใช่ เขาไม่ได้เที่ยว 4 วัน 4 คืนขนาดนั้น และในช่วงใกล้ๆ ก็มีวันหยุดเยอะอยู่แล้ว ทั้งวันสงกรานต์และวันฉัตรมงคล ก็คงไม่ใช่กระทบวันเลือกตั้ง อีกทั้งยังไม่ได้กำหนดว่าวันที่ 7 พ.ค. จะเป็นวันเลือกตั้ง เพราะยังไม่มีใครรู้

ขณะที่นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) กล่าวถึงข้อห่วงใยการหาเสียงเลือกตั้งในวันปกติทั่วไป และการหาเสียงเลือกตั้งช่วงวันสําคัญตามประเพณีต่างๆ ของพรรคการเมือง และผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยเฉพาะช่วง 180 วันก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ว่าขอให้พึงระมัดระวังมิให้มีการกระทําใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73  อาทิ ให้สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้ การจัดให้มีมหรสพ การรื่นเริง การจัดเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม

“วันสําคัญตามประเพณี ยกตัวอย่าง วันเด็กแห่งชาติ ในวันเสาร์ที่ 14 ม.ค. และวันตรุษจีน ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 ม.ค.2566 หรือการไปงานบวช งานแต่งงาน งานบุญต่างๆ สามารถไปร่วมงานได้ หาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ต้องพึงระมัดระวัง และต้องงดการช่วยเหลือเงิน  ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้ ให้แก่ผู้ใด เช่น ให้ของขวัญ แต๊ะเอีย อั่งเปา ช่วยเหลืองานโดยการสนับสนุนเครื่องเล่น เต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ อย่างเด็ดขาด” นายสำราญกล่าว

นายสำราญกล่าวอีกว่า ส่วนการแจกจ่ายเอกสารหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามวางหรือโปรยในที่สาธารณะ ขณะที่แผ่นประกาศ แผ่นป้าย และเอกสารการหาเสียงต่างๆ สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คําขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ที่ประสงค์จะสมัครหรือพรรคการเมือง ภาพผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิก พรรคการเมือง พร้อมต้องระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จํานวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าให้เรียบร้อยครบถ้วนด้วย

                    “ต้องเน้นย้ำเตือนพรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะช่วงวันเด็กและประเพณีวันตรุษจีน มีความห่วงใยว่าจะผิดหลงไปแจกของขวัญให้เด็ก หรือให้แต๊ะเอีย อั่งเปา หรือจ้างดนตรีเพื่อมาจัดแสดง การจัดเครื่องเล่นต่างๆ ซึ่งทำไม่ได้ เพราะถือเป็นทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใด จึงต้องย้ำเตือนไว้เพื่อป้องกันการทำผิดที่อาจจกิดขึ้นได้” นายสำราญกล่าว

ส่วนนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แสดงความเห็นกรณีนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า กกต.ไม่มีระบบรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ หรือการรายงานผลเรียลไทม์ แต่จะรู้คะแนนเลือกตั้งประมาณ 21.00-22.00 น. หลังปิดหีบ และกล่าวถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันระบบรายงานผลมูลค่า 20 ล้านบาท ซึ่ง กกต.มองว่าราคาของระบบดังกล่าวนั้นสูงเกินไป ว่าสิ่งที่ กกต.ออกมาพูด คล้ายกับเป็นข้ออ้างว่าองค์กรยังไม่มีแอปพลิเคชันที่พร้อมนำไปใช้งานในการรายงานผลแบบเรียลไทม์ แต่ขณะเดียวกันอาจสะท้อนด้วยว่า กกต.ไม่อยากให้มีระบบที่รายงานผลคะแนนได้อย่างโปร่งใสหรือไม่ ทั้งที่การจัดเลือกตั้งให้โปร่งใสเป็นหน้าที่ของ กกต. หากไม่มีระบบดังกล่าวประชาชนจะเกิดความกังวลว่าไม่เห็นคะแนนหลังปิดหีบระหว่างทาง ไม่รู้เลยว่าผลคะแนนสุดท้ายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงเช่นการเลือกตั้ง 2562 เกิดข้อครหาเรื่องบัตรเขย่ง ผลคะแนนไม่ตรงกัน

“ระบบการรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ เป็นสิ่งที่ต้องมี เพราะจะทำให้สังคมสิ้นข้อสงสัย และยอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้าพูดถึงแอปพลิเคชันแทบไม่ต้องผลิตใหม่ เพราะมีแอปที่พร้อมใช้งานของภาคประชาสังคมทำไว้เยอะแล้ว แค่อาศัยการออกระเบียบให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสามารถรายงานผลคะแนนผ่านแอปเหล่านั้นได้ ก็จะแสดงผลเรียลไทม์ได้ทันที อยู่ที่ กกต.ตั้งใจจะทำหรือเปล่า" นายณัฐพงษ์กล่าว และว่า กกต.ต้องไม่ลืมว่าตัวเองมีชนักติดหลัง คือข้อครหาว่ามีที่มาที่ยึดโยงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น หากต้องการพิสูจน์และปกป้องตัวเอง กกต.ต้องทำหน้าที่อย่างโปร่งใส ให้คำตอบประชาชนก่อนเลือกตั้งว่าจะมีระบบการรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์หรือไม่

ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรค ก.ก. กล่าวว่า ขอฝากไปถึง กกต. การพัฒนาแอปพลิเคชันรายงานผลเรียลไทม์ ภายใต้กรอบวงเงินการพัฒนาในราคา 20 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เพราะการพัฒนาระบบนี้แลกมากับความเชื่อถือของการรายงานผลที่โปร่งใสและรวดเร็ว เป็นการลงทุนครั้งเดียวที่ใช้ได้ไปตลอด หากเทียบกับสิ่งที่ กกต.เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันอย่างตาสับปะรด หรือ Civic Education หรือแม้แต่แอปดาวเหนือ กกต.ก็สามารถหางบประมาณมาทำได้ตลอด หรือต่อให้ไม่มีงบประมาณ กกต.ก็สามารถแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชนได้ ไม่ว่าจะเป็น Vote62 หรือ Elect หรือสถาบันพระปกเกล้า ดังนั้น เพื่อความโปร่งใส กกต. ต้องเร่งจัดหาเครื่องมือการรายงานผลให้ได้โดยเร็วที่สุด

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ กกต. พร้อมเลือกตั้งแค่ไหน ระบุว่า 1.การแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต ไปถึงไหน จะเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อำเภอ ตำบลไหน เป็นเขตเลือกตั้งไหน ยังไม่ชัดเจน 2.การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของแต่ละเขต และค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรค เคยแพลมออกมาเป็นการสอบถามความเห็นจากพรรค พอโดนตอกกลับว่าเอื้อพรรคใหญ่ พรรคมีสตางค์ ตอนนี้เอากลับไปทบทวน ถึงวันนี้ ยังไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ 3.การให้ประชาชนและองค์กรเอกชนมีส่วนร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง หายไปอยู่ในจักรวาลคู่ขนานแล้ว และ 4.มีมติไม่ทำระบบรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบออนไลน์แล้ว โดยบอกเหตุผลว่ากลัวระบบล่ม ราวกับตรรกะว่าไม่กล้าขับรถเพราะกลัวรถชน ไม่กล้าทานข้าวเพราะกลัวท้องเสีย เป็น กกต.ที่ทำงานคุ้มเงินเดือนมาก ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ก็ลาออกเถอะ อย่าเป็นภาระต่อประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์