เคาะ400เขตเลือกตั้ง กกต.เฉลี่ยประชากร1.65แสนต่อสส.1คนยันทำตามกฎหมาย

กกต.เคาะจำนวน ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง  400 เขต ประชากรเฉลี่ย 165,226 คนต่อ 1 ที่นั่ง  กทม.ยังมากสุด 33 เขต ส่งประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว เลขาฯ กกต.ดอดพบรองนายกฯ ที่ทำเนียบฯ "วิษณุ"  ขอเวลาเตรียมเลือกตั้งสิ้น ก.พ.นี้ล้อปิดสมัยประชุมสภา บีบ กกต.ลดเวลา 45 วัน "แสวง" ยันไม่ได้ถกวันยุบสภา โยนถามนายกฯ ปัดยื้อประกาศเขตเลือกตั้งเอื้อ รทสช.  แจงแบ่งเขตตาม กม.ไม่มีความแปลกประหลาด

เมื่อวันที่ 30 มกราคม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่ พิจารณากำหนดจำนวนสมาชิก ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยพิจารณาจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรเมื่อ 31 ธ.ค.65 ซึ่งมีจำนวน  66,090,475 คน จึงทำให้มีจำนวนประชากรโดยเฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน  และเสนอร่างประกาศ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง  ส.ส. พ.ศ. … และแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยที่ประชุม กกต.พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน  กกต.เสนอทั้ง 2 เรื่อง โดยมีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้สำนักงาน กกต.ส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สำหรับรายละเอียดแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ประชากร 5,494,932 คน จำนวน ส.ส. 33 คน 33 เขตเลือกตั้ง

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา  ประชากร 2,630,058 คน จำนวน ส.ส. 16 คน  16 เขตเลือกตั้ง จ.ขอนแก่น ประชากร 1,784,641  คน จำนวน ส.ส. 11 คน 11 เขตเลือกตั้ง จ.อุบลราชธานี ประชากร 1,869,806 คน จำนวน ส.ส. 11 คน 11 เขตเลือกตั้ง จ.บุรีรัมย์ ประชากร 1,576,915 คน จำนวน ส.ส. 10 คน 10 เขตเลือกตั้ง จ.ศรีสะเกษ ประชากร 1,454,730 คน  จำนวน ส.ส. 9 คน 9 เขตเลือกตั้ง จ.อุดรธานี ประชากร  1,563,048 คน จำนวน ส.ส. 9 คน 9 เขตเลือกตั้ง  จ.ร้อยเอ็ด ประชากร 1,291,131 คน จำนวน ส.ส.  8 คน 8 เขตเลือกตั้ง จ.สุรินทร์ ประชากร 1,372,910 คน จำนวน ส.ส. 8 คน  8 เขตเลือกตั้ง  จ.ชัยภูมิ ประชากร 1,117,925 คน จำนวน ส.ส. 7  คน 7 เขตเลือกตั้ง จ.สกลนคร ประชากร 1,145,187  คน จำนวน ส.ส. 7 คน 7 เขตเลือกตั้ง จ.กาฬสินธุ์  ประชากร 972,101 คน จำนวน ส.ส. 6 คน 6 เขตเลือกตั้ง จ.มหาสารคาม ประชากร 944,605 คน  จำนวน ส.ส. 6 คน 6 เขตเลือกตั้ง จ.เลย ประชากร  637,341 คน จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.นครพนม ประชากร 716,647 คน จำนวน ส.ส. 4  คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.บึงกาฬ ประชากร 421,684 คน  จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.ยโสธร ประชากร  531,599 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.หนองคาย ประชากร 515,795 คน จำนวน ส.ส. 3  คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.หนองบัวลำภู ประชากร  508,325 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.มุกดาหาร ประชากร 351,588 คน จำนวน ส.ส. 2 คน 2 เขตเลือกตั้ง จ.อำนาจเจริญ ประชากร 375,382 คน จำนวน ส.ส. 2 คน 2 เขตเลือกตั้ง

ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ประชากร 1,792,474  คน จำนวน ส.ส. 11 คน 11 เขตเลือกตั้ง จ.เชียงราย  ประชากร 1,299,636 คน จำนวน ส.ส. 8 คน 8  เขตเลือกตั้ง จ.ลำปาง ประชากร 718,790 คน จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.ตาก ประชากร 684,140 คน จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.น่าน ประชากร 474,539 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3  เขตเลือกตั้ง จ.พะเยา ประชากร 461,431 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.อุตรดิตถ์ ประชากร 442,949 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.แพร่ ประชากร 430,669 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3  เขตเลือกตั้ง จ.แม่ฮ่องสอน ประชากร 286,786 คน  จำนวน ส.ส. 2 คน 2 เขตเลือกตั้ง จ.ลำพูน ประชากร  399,557 คน จำนวน ส.ส. 2 คน 2 เขตเลือกตั้ง

ภาคกลาง จ.ชลบุรี ประชากร 1,594,758 คน  จำนวน ส.ส. 10 คน 10 เขตเลือกตั้ง จ.นนทบุรี  ประชากร 1,295,916 คน จำนวน ส.ส. 8 คน 8  เขตเลือกตั้ง จ.สมุทรปราการ ประชากร 1,360,227  คน จำนวน ส.ส. 8 คน 8 เขตเลือกตั้ง จ.ปทุมธานี  ประชากร 1,201,532 คน จำนวน ส.ส. 7 คน 7  เขตเลือกตั้ง จ.นครปฐม ประชากร 921,882 คน  จำนวน ส.ส. 6 คน 6 เขตเลือกตั้ง จ.กาญจนบุรี  ประชากร 894,283 คน จำนวน ส.ส. 5 คน 5 เขตเลือกตั้ง จ.พระนครศรีอยุธยา ประชากร 820,417 คน  จำนวน ส.ส. 5 คน 5 เขตเลือกตั้ง จ.ราชบุรี ประชากร  865,807 คน จำนวน ส.ส. 5 คน 5 เขตเลือกตั้ง จ.สุพรรณบุรี ประชากร 830,695 คน จำนวน ส.ส. 5  คน 5 เขตเลือกตั้ง จ.ระยอง ประชากร 759,386 คน  จำนวน ส.ส. 5 คน 5 เขตเลือกตั้ง จ.สระบุรี ประชากร  638,582 คน จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.สมุทรสาคร ประชากร 589,428 คน จำนวน ส.ส. 4  คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.ลพบุรี ประชากร 735,293 คน  จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.ฉะเชิงเทรา  ประชากร 726,687 คน จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.สระแก้ว ประชากร 562,816 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.เพชรบุรี ประชากร 482,950 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.จันทบุรี ประชากร 536,144 คน จำนวน ส.ส. 3 คน  3 เขตเลือกตั้ง จ.ปราจีนบุรี ประชากร 497,778 คน  จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.อ่างทอง ประชากร  272,587 คน จำนวน ส.ส. 2 คน 2 เขตเลือกตั้ง จ.นครนายก ประชากร 260,406 คน จำนวน ส.ส. 2  คน 2 เขตเลือกตั้ง จ.ชัยนาท ประชากร 318,308 คน  จำนวน ส.ส. 2 คน 2 เขตเลือกตั้ง จ.ตราด ประชากร  227,808 คน จำนวน ส.ส. 1 คน 1 เขตเลือกตั้ง  สิงห์บุรี ประชากร 202,797 คน จำนวน ส.ส. 1 คน  1 เขตเลือกตั้ง จ.สมุทรสงคราม ประชากร 189,453  คน จำนวน ส.ส. 1 คน 1 เขตเลือกตั้ง

ภาคกลางตอนบน จ.เพชรบูรณ์ ประชากร  973,386 คน จำนวน ส.ส. 6 คน 6 เขตเลือกตั้ง จ.นครสวรรค์ ประชากร 1,028,814 คน จำนวน ส.ส.  6 คน 6 เขตเลือกตั้ง จ.พิษณุโลก ประชากร 844,494 คน จำนวน ส.ส. 5 คน 5 เขตเลือกตั้ง จ.สุโขทัย ประชากร 581,652 คน จำนวน ส.ส. 4 คน  4 เขตเลือกตั้ง จ.กำแพงเพชร ประชากร 708,775  คน จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.พิจิตร ประชากร 525,944 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.อุทัยธานี ประชากร 323,860 คน จำนวน ส.ส. 2 คน 2 เขตเลือกตั้ง

ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ประชากร 1,545,147 คน จำนวน ส.ส. 9 คน 9 เขตเลือกตั้ง  จ.สงขลา ประชากร 1,431,063 คน จำนวน ส.ส. 9 คน 9 เขตเลือกตั้ง จ.สุราษฎร์ธานี ประชากร 1,073,663 คน จำนวน ส.ส. 7 คน 7 เขตเลือกตั้ง  จ.นราธิวาส ประชากร 814,121 คน จำนวน ส.ส. 5  คน 5 เขตเลือกตั้ง จ.ตรัง ประชากร 638,206 คน  จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.ปัตตานี ประชากร  732,955 คน จำนวน ส.ส. 4 คน 4 เขตเลือกตั้ง จ.กระบี่ ประชากร 480,057 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3  เขตเลือกตั้ง จ.ภูเก็ต ประชากร 417,891 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประชากร  553,298 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.ยะลา ประชากร 545,913 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3  เขตเลือกตั้ง จ.พัทลุง ประชากร 521,619 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.ชุมพร ประชากร  509,385 คน จำนวน ส.ส. 3 คน 3 เขตเลือกตั้ง จ.สตูล ประชากร 325,303 คน จำนวน ส.ส. 2 คน 2  เขตเลือกตั้ง จ.พังงา ประชากร 267,442 คน จำนวน ส.ส. 2 คน 2 เขตเลือกตั้ง จ.ระนอง ประชากร 194,226 คน จำนวน ส.ส. 1 คน 1 เขตเลือกตั้ง

ก่อนหน้านั้นช่วงเช้า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยนายวิษณุกล่าวถึงกรณีเลขาธิการ กกต.เข้าหารือภายหลังกฎหมายลูก 2 ฉบับประกาศใช้ จะขอเวลา 45 วันเตรียมการเลือกตั้งก่อนยุบสภาได้หรือไม่ว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น กกต.คิดถึงความสะดวก แต่บางครั้งการยุบสภาเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่จะยึดเอาความสะดวกไม่ได้ เอาเป็นว่าต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้  เวลา 45 วันสามารถทำได้สบายๆ ส่วนการแบ่งเขตจะให้ยืดไปก็จะไปครบสมัยวันปิดสมัยประชุมสภา 28 ก.พ. พอดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า แปลว่าหลังวันที่ 28 ก.พ.สามารถยุบสภาได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ถึง 45 วัน และตนได้ย้ำกับเลขาธิการ กกต.ไปว่า บางครั้งการเมืองไม่สามารถเอาสบายได้ เพราะการยุบสภาเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าจำเป็นต้องยุบในวันนี้และบอกว่ายังไม่ครบเวลา 45 วัน ให้รอไปก่อน ก็คงรอไม่ได้ แต่หากรอได้ก็ไม่ยุบ อยู่ไปจนสภาครบวาระ ขึ้นอยู่กับเหตุที่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์รัฐบาลยื้อเวลาในการจัดการเลือกตั้ง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้ยื้อไม่ได้อะไรทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามหลัก ซึ่ง กกต.เป็นองค์กรอิสระที่ต้องไปกำหนด

ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า เป็นการมาพูดคุยเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของ กกต.และพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่ กกต.ขอเวลา 45 วันเพื่อเตรียมการเลือกตั้งนั้น ก็เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เป็นสิ่งที่ กกต.ต้องการเวลาเช่นนั้น  แต่ในทางการเมืองเราก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร จะมีการยุบสภาก่อนหมดวาระหรือไม่ แต่หากมีเหตุอะไรเกิดขึ้นก่อนเราก็ต้องมาปรับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่ได้เวลา 45 วันตามที่ กกต.ต้องการจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ก็ยากขึ้น ส่วนที่ยากขึ้นคือช่วงก่อนเตรียมการการเลือกตั้ง  แต่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้นไม่ยาก ทุกคนมีเวลา แต่ไม่ได้สตาร์ทพร้อมกัน ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการยุบสภากับนายวิษณุ เพียงแต่มาอธิบายในสิ่งที่ กกต.ต้องทำ ส่วนรัฐบาลจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ได้มีข้อกังวล ตอนนี้มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ และเดินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายพรรคการเมืองเกรงว่าจะมีการแบ่งเขตซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีบางเขตเลือกตั้งเกิดความแปลกประหลาด นายแสวงกล่าวว่า ไม่มีความแปลกประหลาด เพียงแต่ไม่ถูกใจบางพรรคหรือบางคน ที่คิดว่าการแบ่งเขตนั้นทำให้เขาไม่ได้ประโยชน์ แต่ยืนยันว่า กกต.แบ่งเขตตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต.มีข้อห่วงใยใดที่อยากเตือนพรรคการเมืองในช่วงเวลานี้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า  ทุกอย่างในตอนนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกคนคงเข้าใจกฎหมาย เพียงแต่ในช่วงแรกๆ ที่หลายคนอาจจะยังไม่ชินเรื่องกฎ 180 วัน กกต.มีแผนการทำงานอยู่แล้วไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนจะเลือกตั้งวันไหนก็ต้องรอนายกฯ  ตอนนี้ครบวาระหรือไม่-ก็ยัง กกต.ยังไม่มีไทม์ไลน์ ตอนนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเสียงวิจารณ์ว่าการที่ กกต.ขอเวลา  45 วัน เป็นการช่วยยื้อให้พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายแสวงกล่าวว่า คนก็คิดไปได้ทั้งนั้น กกต. ทำงานเพื่อประเทศไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์