รื้อไพรมารีโหวต รบ.-ฝ่ายค้านประสานเสียง/พปชร.แก้เกี้ยวแค่พิมพ์เขียว

"บิ๊กตู่" ย้ำไม่มียุบสภาก่อนแก้กม.ลูกเสร็จ แต่จะอยู่จนถึงไทยเป็นเจ้าภาพเอเปกปลายปีหน้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ "วิษณุ" ให้ รบ.เตรียมรับมือแรงบีบยุบสภาหลัง กม.ลูกประกาศใช้ วิปรบ.แบะท่าหาช่องรื้อล้ม "ไพรมารีโหวต" ประชานิยมลุงป้อมแจกสะบัด พปชร.อ้างแค่พิมพ์เขียว สภาป่วนศึกนับองค์ประชุม

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหมถึงความชัดเจนในเรื่องการยุบสภาระหว่างที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จสิ้นว่า "ไม่มีๆ"

เมื่อถามว่า จะอยู่จนกว่ากฎหมายลูกเสร็จสิ้นหรืออยู่ถึงช่วงการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็สุดแล้วแต่สถานการณ์ การเมืองก็ว่ากันไป เราก็อยู่ไปตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ บ้านเมืองมีปัญหามากมายต้องแก้ไข อยากให้ดูว่าเราแก้ปัญหาอะไรบ้าง อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคค้างคากันมาในอดีต ซึ่งก็แก้ไขไปเยอะ และสิ่งที่ใหม่ๆ ก็เดินหน้าไปเยอะ เช่น การลงทุน การหารายได้ใหม่เข้าประเทศ เราก็ทำสองทาง ถ้าปัญหามันตีกันทุกวันก็ไปไม่ได้ เราก็ต้องดูว่าแต่ละปัญหาทับซ้อนแค่ไหน ก็แก้ไขทุกเรื่อง โดยเป้าหมายคือการแก้ไขปัญหาทั้งระบบให้ได้

เมื่อถามว่า วันที่ 3 พ.ย.นี้จะไปงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เชิญมา ถ้าไปได้ก็ไป และคงไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ส่วนกรณีของนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านระบุว่าเสถียรภาพของรัฐบาลง่อนแง่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ถามกลับว่า ง่อนแง่นตรงไหน ทึกทักไปเอง ถามต่อว่านายกฯ ยังอยู่พลังพรรคประชารัฐต่อไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ยังอยู่เหมือนเดิม และชัดเจนว่าไม่ไปไหนทั้งนั้น"

ถามย้ำชัดๆ ว่ามองว่าจะลงสมัครพรรคการเมืองไหนหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่มอง” ซักว่ายังอยู่พรรคเดิมใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบมาว่า “ไปฟังลุงป้อมก็แล้วกัน”

กม.ลูกเสร็จรับมือบีบยุบสภา

ด้านความเคลื่อนไหวการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ยังมีความเห็นต่างระหว่างการใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศหรือแยกเบอร์รายเขตว่า รัฐสภาคงต้องคุยกัน แต่ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยกร่างมา เป็นการใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศตามที่มีการเรียกร้องมา แต่อาจจะเข้าทางบางพรรคและไม่เข้าทางบางพรรค ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ สามารถพูดคุยกันได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ใช่เรื่องได้เปรียบเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่ามองไม่ออก แต่คนที่เขามองออกเห็นว่าทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ความจริงแล้วมันคือความสะดวกในการจดจำ ส่วนคนที่ชำนาญการเลือกตั้งอาจมองอย่างอื่น กลายเป็นเรื่องพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคเก่า พรรคใหม่ คงต้องไปคุยกันเอง เพราะเป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ไม่ใช่แง่มุมทางกฎหมาย สามารถแก้ไขได้ในสภา

รองนายกรัฐมนตรีบอกว่า สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือเรื่องตารางเวลา ขณะนี้ กกต.อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ คิดว่าไม่เกินวันที่ 10 ธ.ค.คงเสร็จ จากนั้นจะเอาความเห็นมาปรับปรุงร่างกฎหมายสักพักก่อนเสนอมาให้คณะรัฐมนตรี ส่วนพรรคการเมืองที่จะเสนอร่างเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับ กกต. เพื่อให้เวลาการพิจารณาในรัฐสภากระชับขึ้นเพื่อเคลียร์กันก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายมาถึงรัฐบาลแล้ว ความที่รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องคงสามารถปรับได้ โดยความเห็นชอบของ กกต. แต่ถ้า กกต.ไม่เห็นชอบ ต้องไปพูดในสภา โดยขอยืมให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นคนพูด เพราะสุดท้ายต้องใช้วิธีการโหวต แต่ทั้งนี้รัฐบาลมีความสัมพันธ์พอที่จะอธิบายด้วยเหตุด้วยผลกับ กกต.ได้

เมื่อถามถึงกรณีนักวิชาการมองว่าเมื่อกฎหมายลูกเสร็จแล้ว เป็นเวลาที่เหมาะสมในการยุบสภา นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะแก้กฎหมายลูกเสร็จเมื่อไหร่ อีกทั้งกฎหมายลูกไม่เหมือนกฎหมายอื่นๆ ที่รัฐสภาพิจารณาเสร็จคือเสร็จ แต่กฎหมายลูกพอรัฐสภาพิจารณาเสร็จต้องส่งไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องคือ กกต. ซึ่งรัฐบาลพร้อมออกพระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญให้ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็นำความทูลเกล้าฯ ถวาย

"เคยคิดไทม์ไลน์ว่ากฎหมายลูกจะมีการประกาศใช้ช่วง ก.ค.65 เพราะคิดว่าเปิดสภาสมัยวิสามัญช่วง เม.ย.65 จากนั้นก็ทูลเกล้าฯ ถวาย กรอบเวลา 90 วันจะอยู่ที่ประมาณ ก.ค.65 นี่คือการคิดเวลายาวที่สุดไว้ก่อน แต่ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน กรอบเวลาก็จะเร็วขึ้น เคยบอกใน ครม.ว่าถ้ากฎหมายลูกมีการประกาศใช้จะมีการกดดันให้มีการยุบสภา รัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือทางการเมืองเอง" รองนายกฯ ระบุชัด

วิป รบ.ส่อรื้อไพรมารีโหวต

ฝั่งพรรคการเมืองต่างๆ มีความเห็นเช่นกัน เริ่มที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองประธานวิปรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังสื่อถามความเห็นว่าเรื่องไพรมารีโหวต พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอปรับแก้อะไรบ้าง นายชินวรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ซึ่งมีความคิดเห็นร่วมกัน ดังนี้ การส่งเสริมให้พรรคการเมืองสามารถแสวงหาสมาชิกของพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้นภายใต้บริบทของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือไม่จำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าเป็นสมาชิก หรือหากจำเป็นต้องเก็บก็ขอให้น้อยที่สุด และ 2.จะมีการแก้ไขเรื่องการดำเนินการจัดทำไพรมารีโหวตที่เคยมีมาตามรัฐธรรมนูญปี 60 คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตกค้างจากรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งร่างโดยคนที่ไม่ได้เป็นนักการเมือง

“ฉะนั้นหากอยากให้มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งในระบบประชาธิปไตย ควรจะให้อำนาจพรรคการเมืองมีส่วนร่วมกับประชาชน เนื่องจากระบบไพรมารีโหวตเป็นระบบของซากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่สร้างขึ้นมาโดยไม่จำเป็นและปฏิบัติไม่ได้จริง รวมถึงพรรคการเมืองและประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จึงอยากเห็นประชาชนมีส่วนร่วมมาจากรากฐานของพรรคการเมืองตามหลักการ พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” นายชินวรณ์ กล่าว

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของคำสั่ง คสช.ยังเป็นหลักคิดแบบระบบ ไม่ใช่ฐานความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คิดว่าควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองได้มีบทบาทที่ขัดเจนในการสร้างประชาชนให้มีส่วนร่วม

"ยืนยันว่าการทำไพรมารีโหวตโดยการทำระบบแบบตัวแทนเขตตามคำสั่ง คสช.ในบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้จริง เป็นหลักคิดที่ผิด ที่พื้นฐานในการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง" รองประธานวิปรัฐบาลกล่าว

ด้านฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยกร่างแก้ไขกฎหมายลูกสองฉบับดังกล่าวว่า เรื่องว่าหากมีการร่าง พ.ร.ป.ทั้งสองฉบับเสร็จแล้วจะมีการยุบสภาหรือไม่นั้น ไม่ได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอะไร เพราะการยุบสภาจะเกิดในสถานการณ์ที่มันมีเหตุจำเป็นที่หัวหน้ารัฐบาลเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งเงื่อนไขส่วนใหญ่ที่จะยุบสภาคือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถไปด้วยกันได้ กล่าวคือฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะระบบรัฐสภาที่มีเสียงข้างมากที่สนับสนุนฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีข้อขัดแย้ง หรือไม่เห็นชอบ ไม่ไว้วางใจ และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคณะรัฐมนตรี จึงเป็นเหตุให้การบริหารราชการแผ่นดินเดินไปไม่ได้ การที่จะดูแลประชาชนในประเทศสภาพขนาดนี้ ต้องยอมรับว่าเสถียรภาพรัฐบาล การทำหน้าที่โดยรวมระหว่างสองฝ่ายค่อนข้างง่อนแง่น โดยสังเกตจากที่เปิดสภาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 องค์ประชุมไม่สามารถตอบคำถามในการพิจารณาเรื่องสำคัญได้ และผู้ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมจะปิดการประชุมไปทุกครั้ง เช่น การลงมติเรื่องกฎหมายเสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นสัญญาณบอกว่าการทำหน้าที่เสียงข้างมากในสภาค่อนข้างมีปัญหาที่จะสนับสนุนการทำงานของฝ่ายรัฐบาล

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า รัฐบาลจะเดินไปได้จนจบเทอมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาล สามารถบริหารจัดการหรือทำหน้าที่ระหว่างสองฝ่ายให้ไปด้วยกันได้ แต่ดูจากลักษณะง่อนแง่นแบบนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม และต่อไปจะมีกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภาหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายอย่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งนี้ ฝ่ายค้านเราประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนแล้วว่า ถ้าเสียงข้างมากในฝ่ายรัฐบาลไม่พร้อมที่จะทำงาน ถือเป็นการทำหน้าที่ที่ขาดการรับผิดชอบ เมื่อคุณพร้อมที่จะทำงาน ฝ่ายค้านก็จะสนับสนุนการทำงานในเรื่องที่สำคัญๆ เช่น กฎหมายหรือญัตญัติที่สำคัญเราก็จะร่วมลงคะแนนให้ แต่ก็ต้องแล้วแต่รัฐบาลว่าจะมีความเข้มแข็งหรือไม่

เมื่อถามว่าควรมีไพรมารีโหวตอยู่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยยังให้มีไพรมารีโหวตอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบทุกเขตเลือกตั้ง โดยจะเขียนเป็นบทหลักว่ามีสาขาประจำจังหวัด 1 สาขา ก็สามารถส่งได้ทุกเขต

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังกล่าวถึงกระแสข่าวกรณีที่จะมีบิ๊กเนมจากพรรคพลังประชารัฐย้ายกลับมาพรรคเพื่อไทย ว่า เมื่อมาแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตามหลักการและแนวทางของพรรคที่ได้วางระบบเอาไว้ ไม่ติดว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคไหนที่จะย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย แต่เขามาแล้วจะอยู่ในฐานะไหน จะได้เป็นผู้สมัครหรือไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณา เรื่องนี้อาจจะส่งสัญญาณที่อื่น เพราะส่วนตัวยังไม่ได้ยินเรื่องนี้

ถามอีกว่า มีการปิดประตูนัดคุยกันหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า "บางเรื่องก็ต้องปิดประตู" แต่ที่มาคุยกับตนโดยตรงยังไม่มี เพราะระบบเราวางไว้แบบนี้ แต่ก็อาจจะมีการเข้าไปพบปะกรรมการโซนของเพื่อไทย

ถามต่อว่า หากมีระดับบิ๊กเนมไหลกลับเข้ามา พรรคจะพิจารณาอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็จะเข้าสู่กระบวนการ ไม่ได้เหมาว่าบิ๊กเนมแล้วจะได้มาเป็นผู้สมัคร ทุกอย่างต้องอยู่ในกระบวนการ เพราะหากไม่ทำจะมีปัญหา เราต้องมีหลักและสามารถอธิบายได้ ไม่ใช่ได้ 1 แล้วหาย 10

แจกบัตรเครดิตแค่พิมพ์เขียว

ส่วนกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เริ่มจัดทำนโยบายที่จะหาเสียงเลือกตั้งไว้แล้ว โดยหลายนโยบายถูกมองว่าเป็นประชานิยมรอบใหม่ เช่น การให้บัตรเครดิตเกษตรกร 5 หมื่นบาทต่อครอบครัว

เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. กล่าวหลังถูกถามว่าการประชุมพรรคพลังประชารัฐวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการพูดถึงนโยบายสำหรับการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตรย้อนถามสื่อว่า “คุณรู้ได้อย่างไร ผมยังไม่ได้บอกคุณเลย ข่าวก็คือข่าว คุณก็ไปถามคนให้ข่าวสิ ผมไม่รู้เรื่อง” เมื่อถามย้ำว่านโยบายพรรคพลังประชารัฐพร้อมสู่การเลือกตั้งแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พร้อมตั้งแต่ตั้งพรรคแล้ว ส่วนข่าวนโยบายพรรคแจกบัตรเครดิตเกษตรกร 5 หมื่นบาทต่อครอบครัวจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ยังไม่ทราบ ต้องไปถามกระทรวงการคลัง ถามผมไม่ได้ ผมไม่รู้"

ด้าน น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงเรื่องบัตรเครดิตบ้านละ 5 หมื่นบาท และประชารัฐตำบลละ 20 ล้านบาทว่า เป็นหนึ่งในแนวทางที่สมาชิกพรรคได้เสนอนโยบายต่างๆ ที่ยังไม่เป็นทางการ ต้องมาวิเคราะห์กันอีกครั้งถึงความเป็นไปได้ เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่จะขับเคลื่อนให้กับประชาชน

วันเดียวกัน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ เสนอให้เลื่อนระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 25 พ.ย. โดยให้นำญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศขึ้นมาพิจารณาก่อน

อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย คัดค้าน เพราะยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จนที่สุดนายชวนต้องโหวตเพื่อลงมติชี้ขาด ผลปรากฏว่าที่ประชุมเห็นชอบ

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงให้เลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ทำให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงรายพรรคเพื่อไทยไม่พอใจ โดยกล่าวว่า จะมาใช้วิธีเสนอญัตติเร่งด่วนเข้ามาแทนวาระปกติบ่อยๆ ไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญและเร่งด่วนจริงๆ ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นตอบโต้ทันทีว่า อยากให้เปิดเผยรายชื่อคนไม่ยอมเข้าประชุม เพราะทราบว่าส่วนใหญ่เป็นของฝ่ายค้าน ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่พอใจประท้วงกันยกใหญ่ เกิดความวุ่นวายในห้องประชุมตามมา โดยนายพิเชษฐ์ตะโกนสวนดังลั่นว่า “คนชื่อไพบูลย์มันแย่จริงๆ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้นนายชวนพยายามไกล่เกลี่ยเพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อได้ โดยขอให้นายไพบูลย์ถอนคำพูดที่กล่าวหาฝ่ายค้าน แม้นายไพบูลย์ถอนคำพูด แต่ฝ่ายค้านยังประท้วงตลอด ต่อมานายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติให้นับองค์ประชุมโดยการขานชื่อ โดยนายชวนพยายามขอให้ถอนญัตติดังกล่าว เพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้ แต่นายจุลพันธ์ไม่ถอนญัตติ

จากนั้น นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่มีระเบียบข้อบังคับการประชุมใดขอให้นับองค์ประชุมโดยการขานชื่อระหว่างการประชุม ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติให้ลงมติโดยใช้วิธีเสียบบัตรในการนับองค์ประชุมซ้อนขึ้นมาเป็นอีกญัตติหนึ่ง ทำให้เกิดความวุ่นวายในสภาหนักยิ่งขึ้น ส.ส.ฝ่ายค้านพากันประท้วงสิ่งที่นายนิโรธเสนอ ทั้งสองฝ่ายถกเถียงกันเป็นเวลานานกว่า 20 นาที กระทั่งนายนิโรธเสนอขอพักประชุม 10 นาที ให้วิปทั้งสองฝ่ายไปตกลงเคลียร์ข้อขัดแย้งกัน หลังพักประชุม 15 นาที และกลับมาประชุมอีกครั้ง นายจุลพันธ์ถอนการนับองค์ประชุมด้วยการเสียบบัตร แต่ยืนยันต้องให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อต่อไป สุดท้ายจึงมีการนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ซึ่งผลออกมาว่าองค์ประชุมครบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง