ศก.โลกชะลอตัวทุบส่งออก ดันท่องเที่ยววาระแห่งชาติ

“สุพัฒนพงษ์” รับเศรษฐกิจโลกชะลอ ทุบส่งออกไทยอ่วม “สภาพัฒน์” ชี้ปีนี้มีโอกาสโตติดลบ หวังท่องเที่ยว-ลงทุนช่วยหนุน ยัน ศก.ปีนี้โตได้ตามเป้าหมายที่ 3.2% “พิพัฒน์” จ่อชง ครม.ดันท่องเที่ยววาระแห่งชาติ กาง 3 แนวทาง ลุ้นนักท่องเที่ยวพุ่ง 27.29 ล้านคน ฟันรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท

  เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวในงาน IBussiness Forum 2023 THE NEXT THAILAND’S FUTRUE : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ว่า ต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกของไทยกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้สร้างแรงกดดันและทำให้สภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซ่อมและสร้าง ซึ่งจะช่วยดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มด้วย และขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ กำลังกลับเข้าสู่ระดับปกติ อยากให้ทุกคนมั่นใจและมีความหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยหลังจากนี้จะมีแต่ความมั่นคง โดยสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันได้ทำนั้น พร้อมจะส่งมอบประเทศที่มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมเดินหน้าเศรษฐกิจไปด้วยความยั่งยืน ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าใครจะมาเป็นต่อจากนี้ก็ตาม

 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยมี 3 เรื่องสำคัญ คือ ความยั่งยืนของเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามักมีคำถามว่าไทยเติบโตช้ากว่าภูมิภาค แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะพีกเมื่อไหร่ยังไม่สามารถตอบได้ แต่มีการวางแผนไว้ว่าการเติบโตในระดับที่มีศักยภาพและเหมาะสมกับประเทศไทย อยู่ที่ 4-5% ขณะที่ปัจจุบันคลังยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.8% นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% จากความพยายามของรัฐบาลในการใช้มาตรการ โดยเฉพาะด้านการคลังในการดูแลราคาพลังงาน ที่เป็นต้นทุนสำคัญด้านโลจิสติกส์ และการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ด้วยการลดอัตราภาษี พร้อมทั้งการขยายเพดานราคาน้ำมันดีเซลเป็น 35 บาท ถือเป็นระดับที่เหมาะสม ทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน

สำหรับสถานการณ์ด้านการคลังและฐานะการคลังในปัจจุบันยังไม่มีปัญหาอะไร โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะตอนนี้อยู่ที่ 61.26% ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น และจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 6.59 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าไทยกำลังจะเข้าสู่ความยั่งยืนด้านการคลัง ทุนสำรองประเทศอยู่ที่ระดับ 2 แสนล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลได้มีการเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายอีก 1.65 แสนล้านบาท มากกว่าในอดีต 2 เท่า ซึ่งทำให้รัฐบาลมีงบในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยหลัก ๆ ราว 20% ของงบประมาณดังกล่าว เป็นเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชัดเจนและเร็วกว่าที่คิดไว้ โดยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการส่งออกและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% โดยมองว่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

 “ปีนี้คาดการณ์ว่าการส่งออกมีโอกาสที่จะขยายตัวติดลบ แต่จะได้การลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 3.2% โดยมีค่ากลางที่ 2.7-3.7% ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่อาจจะล่าช้าออกไป อาจทำให้เป็นปัญหาได้ ดังนั้นหากได้รัฐบาลใหม่เร็วก็อาจจะใช้งบประมาณพลางไปก่อนราวเดือนครึ่ง หรือถ้าช้าสุดก็น่าจะไม่เกิน 3 เดือน โดยคาดว่างบประมาณปี 2567 น่าจะเริ่มใช้ได้อย่างเป็นทางการในช่วงเดือน ม.ค.2567 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความท้าทายอย่างมาก” นายอนุชากล่าว และว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน

ทางด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย อยู่ที่ 27.29 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเติบโต 2.4 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็น 60% ของรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2562 โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมาแล้ว 4.2 ล้านคน และในปี 2570 ได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวเติบโต 25% ของจีดีพี

ทั้งนี้ กระทรวงได้เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาประกาศให้การฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ โดยมี 3 ขั้นตอนของวาระแห่งชาติดังกล่าวที่ต้องดำเนินการ แบ่งเป็น 1.พร้อมรับ (ปี 66-67) ด้วยการเปิดประเทศให้สร้างความประทับใจมากกว่าที่เคย สอดรับความต้องการตลาดท่องเที่ยวโลกหลังโควิด และช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างทันท่วงที โดยชูจุดแข็งของประเทศไทย

2.การพัฒนา (ปี 66-68) โดยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาครอบคลุมรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งจะสร้างความมั่น และ 3.การพลิกโฉม (ปี 66-70) ด้วยการพลิกโฉมสู่การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบบองค์รวมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและมีความหมาย ใช้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมศักดิ์' บอกให้เกียรตินายกฯ ตัดสินใจเรื่องเก้าอี้!

'สมศักดิ์' ไม่หลุดปากมีชื่อนั่ง รมว.สาธารณสุข วอนให้เกียรตินายกฯเป็นคนตัดสินใจ ระบุ รมต.เก่าไม่ต้องกรอกประวัติใหม่ ไม่ขอตอบพร้อมไป สธ.หรือไม่ แต่นั่งมาแล้ว 2 ครั้ง เผย 'อนุชา' สบายดี แม้มีข่าวถูกปรับออก