ไทยพบติดเชื้อโควิดเพิ่ม 6,073 ราย เสียชีวิต 32 คน "บิ๊กตู่" สั่งจับตาโควิดกลายพันธุ์แอฟริกาใกล้ชิด ยันไทยยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่นี้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขห้าม 8 ประเทศแอฟริกาเข้าไทย หวั่นโอไมครอนระบาด นักไวรัสวิทยาชี้เป็นความท้าทายของปี 2022 ที่ต้องเหนื่อยกันต่อไป
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,073 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,847 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 5,633 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 214 ราย มาจากเรือนจำ 169 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 57 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,538 ราย อยู่ระหว่างรักษา 79,780 ราย อาการหนัก 1,385 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 332 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 32 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 19 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. ปัตตานี และจันทบุรี จังหวัดละ 3 ราย
ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,100,959 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,000,502 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 20,677 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กทม. 704 ราย, สงขลา 441 ราย, นครศรีธรรมราช 366 ราย, สุราษฎร์ธานี 280 ราย, เชียงใหม่ 275 ราย, ชลบุรี 200 ราย, ปัตตานี 182 ราย, ราชบุรี 168 ราย, สมุทรปราการ150 ราย และภูเก็ต 149 ราย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha" ระบุว่า พี่น้องประชาชนที่รักครับ จากการตรวจพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ในทวีปแอฟริกา ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ตั้งชื่อว่า Omicron โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และอาจจะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิมนั้น ผมขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด และได้รายงานผมตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทยบ้าง
ซึ่งเบื้องต้น ประเทศในทวีปแอฟริกาไม่ได้รวมอยู่ใน 63 ประเทศ/พื้นที่ ที่ไทยอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว และผมขอย้ำว่า ไทยยังไม่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้
โดยผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งหน่วยงานคัดกรองที่จุดต่างๆ ให้จับตามองและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และรายงานข้อมูลต่อผมในทันทีที่มีความคืบหน้า หรือมีข้อเสนอแนะด้านมาตรการต่างๆ ซึ่งหากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการปรับมาตรการ โดยเฉพาะการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จากประเทศต่างๆ ที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ ผมก็จะสั่งการให้ดำเนินการโดยทันที โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนสูงสุด
ทั้งนี้ ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่าน ยังคงได้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต ลด-เลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อ แม้ว่าสถานการณ์เราจะดีขึ้นแล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด ผมขอให้ท่านรีบไปฉีดทันทีเมื่อมีโอกาส หรือหากท่านที่ยังฉีดไม่ครบโดส ขอให้ท่านเข้ารับการฉีดในหลายๆ จุดที่เปิดให้บริการที่ท่านสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นจุดเดิมที่ท่านเคยฉีดมาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันตัวท่านและคนรอบข้าง
สำหรับการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นวัคซีนป้องกันเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกคนอย่าประมาท การ์ดไม่ตกนะครับ ส่วนผมและรัฐบาล จะทำทุกทางเพื่อปกป้องประเทศและประชาชนชาวไทยทุกคนอย่างดีที่สุดครับ
กลายพันธุ์กว่า 50 ตำแหน่ง
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวว่า โอไมครอนมีข้อมูลตั้งแต่กลาง พ.ย.64 ว่ามีการระบาดที่บอตสวานา ขยับมาที่แอฟริกาใต้ ไปหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล โดยบางคนที่ตรวจเชื้อเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว สำหรับประเทศไหนยังไม่พบเชื้อตัวนี้ ทั้งนี้ยังพบเชื้อดังกล่าวในไทย
เชื้อโอไมครอนมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมากถึงกว่า 50 ตำแหน่ง โดยมี 32 ตำแหน่งอยู่ในสไปก์โปรตีน หรือโปรตีนหนามที่จะมาจับกับเซลล์มนุษย์ ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่มีการกลายพันธุ์ในสไปก์โปรตีนเพียงแค่ 9 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ การกลายพันธุ์บางส่วนอาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อได้มากขึ้น น่าจะหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร หรือดื้อต่อวัคซีน รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นในบริเวณพื้นที่ที่พบ พบว่าการตรวจเจอเชื้อค่อนข้างเข้มข้น และหาเชื้อง่ายในแต่ละรายที่ตรวจพบ เนื่องจากเชื้อเยอะมากสะท้อนให้เห็นว่าอาจมีการติดเชื้อง่าย และเร็วขึ้น จึงต้องติดตามข้อมูลกันต่อไป
นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยมีเปิดประเทศ มี Test&Go ซึ่งกำลังประสานกับผู้ตรวจเชื้อ ให้ส่งตัวอย่างของผู้ติดเชื้อมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่ใช่ลูกหลานของเดลตา หรืออัลฟา (อังกฤษ) แต่เป็นการกลายพันธุ์ตัวใหม่ และหลายตำแหน่ง แต่ข้อมูลยังมีไม่มากพอ ต้องมีการติดตาม และระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ข้อได้เปรียบของไทยคือ ประชาชนค่อนข้างเคร่งครัดในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนปฏิบัติในการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดต่อไป การ์ดอย่าตก เพราะไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนเกิดขึ้นก็สามารถจัดการได้ และการดื้อต่อวัคซีนไม่ใช่ข้อมูล 100% ขอให้ทุกคนตั้งสติและรับมือ มั่นใจในภาครัฐว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้พี่น้องประชาชนปลอดภัย และการตรวจหาพันธุกรรมไวรัสมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการทำงานเรื่องนี้ รวมถึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในการเข้าประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะทางอากาศเท่านั้น แต่ตามชายแดนต่างๆ ก็ต้องกวดขันอย่างจริงจัง
ห้าม 8 ชาติแอฟริกาเข้าไทย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการติดตาม เฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยในส่วนของประเทศที่พบสายพันธุ์ B.1.1529 และประเทศที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าว 8 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา, เอสวาตินี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้, ซิมบับเว ต้องปฏิบัติดังนี้ ผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว สั่งกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.2564 ไม่อนุญาตให้เข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 และไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2564 ดังนั้น ผู้ที่เดินทางที่มาจาก 8 ประเทศ จะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทย
ส่วนประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกานั้น จะไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Test and Go ซึ่งใน 8 ประเทศไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศอนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Test and Go อยู่แล้ว รวมถึงจะไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Sandbox และผู้ที่เข้ามาในประเทศอยู่แล้วนั้น จะต้องอยู่ในสถานกักตัวที่ราชการกำหนดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน ตรวจ 3 ครั้ง วันที่ 0-1, 5-6 และ 12-13 ข้อปฏิบัติดังนี้ ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2564 และผู้ที่ได้รับอนุญาตทุกประเภทให้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต จนถึง 15 ธ.ค.2564 แต่หลังจากนั้นต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้มีการดำเนินการไปแล้ว
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่าสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ในเดือน พ.ย. โดยเข้ามาในรูปแบบของ Sandbox จำนวน 1,007 คน แบ่งเป็น บอตสวานา 3 คน, นามิเบีย 16 คน, แองโกลา 22 คน, มาดากัสการ์ 7 คน, เมอร์ริเซียส 27 คน, แซมเบีย 5 คน, เอสวาตินี 39 คน, เอธิโอเปีย 45 คน, โมซัมบิก 12 คน, มาลาวี 2 คน, แอฟริกาใต้ 826 คน และซิมบับเว 3 คน ซึ่งผลการตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด
“การกลายพันธุ์ของเชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยที่ทำให้ทางแอฟริกาใต้ติดเชื้อค่อนข้างมาก นอกจากการป้องกันแล้ว การฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็สำคัญ ซึ่งประเทศแถบทวีปแอฟริกามีการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด ดังนั้น สิ่งที่พี่น้องประชาชนสามารถกระทำได้เพื่อให้ตนเองและประเทศปลอดภัยมากที่สุด คือผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ถ้าไม่มีข้อห้ามขอให้มาฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนหลายท่านที่ฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วหลายเข็ม มีความกังวลว่าภูมิจะตกหรือไม่ ซึ่งจากการติดตามข้อมูล พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ระดับดีกว่า 5-6 เดือน ขอให้ทุกคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ติดตาม สธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร และขณะนี้ได้มีการเตรียมวัคซีนบูสเตอร์โดสไว้เรียบร้อยแล้ว”
นพ.โอภาสกล่าวว่า ฮ่องกงที่มีการตรวจพบเชื้อหรือประเทศอื่นๆ จะเป็นการติดเชื้อประปรายได้ จะมีการจับตาอย่างใกล้ชิด ถ้ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงจะเพิ่มมาตรการ ทั้งนี้ วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่วิธีการที่ทุกคนช่วยกันได้ นั่นคือ การป้องกันครอบจักรวาล การสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย และมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ยังเป็นมาตรการที่ต้องขอความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วน ส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอนอย่างต่อเนื่อง
ความท้าทายปี 2022
ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้เชื่อว่าเกิดจากการบ่มเพาะตัวเองในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี ไวรัสมีโอกาสปรับตัวเองหนีภูมิคุ้มกันได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับสายพันธุ์น่ากังวลอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่ความน่ากังวลอยู่ที่ไวรัสชนิดนี้มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นหลายตำแหน่งมาก จนทำให้องค์ความรู้ต่างๆ ที่เคยมีมาก่อนกับไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันอาจจะใช้อธิบายพฤติกรรมของไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ไม่แม่นยำนัก ในบรรดาตำแหน่งที่พบการกลายพันธุ์ สรุปประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้
1.ตำแหน่งที่โปรตีนหนามสไปก์จับกับโปรตีนตัวรับ (RBD) มีการเปลี่ยนแปลงหลายตำแหน่งมากแบบที่ไม่เคยพบในสายพันธุ์อื่นๆ มาก่อน ซึ่งทำให้แอนติบอดีที่สร้างขึ้นจากวัคซีนจะจับกับโปรตีนตำแหน่งนี้ไม่ได้ดี รวมถึงยาที่ออกแบบมาจากแอนติบอดีรักษาด้วย
2.ตำแหน่ง 3 ตำแหน่งที่ใกล้จุดตัดตัวเองของโปรตีนหนาม คือ H655Y, N679K และ P681H เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่อาจทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายและแพร่กระจายตัวเองได้ไวขึ้น
3.การเกิดขาดหายไปของกรดอะมิโนที่โปรตีนชื่อว่า Nsp6 (Delta 105-107) ซึ่งพบว่าไปตรงกับสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และแลมป์ดา ซึ่งเชื่อว่าช่วยให้ไวรัสหนีภูมิคุ้มกันชนิด innate immunity ที่ร่างกายจะตอบสนองต่อการติดเชื้อแบบฉับพลันหลังติดเชื้อได้
4.การเปลี่ยนแปลงของโปรตีน Nucleocapsid 2 ตำแหน่งสำคัญคือ R203K และ G204R ซึ่งพบได้ในสายพันธุ์อัลฟา แกมมา และแลมป์ดา ซึ่งมีรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ไวรัสติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้ดีขึ้น
ดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ที่พบได้ในไวรัส B.1.1.529 มีส่วนช่วยหนุนให้ไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสที่อาจจะเป็นสายพันธุ์น่ากังวลตัวใหม่ได้ ข้อมูลจากแอฟริกาใต้ดูเหมือนจะพบไวรัสสายพันธุ์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ และกราฟที่ขึ้นสูงนี้อาจจะมาจากความสามารถของไวรัสที่หนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ และมีคุณสมบัติการแพร่กระจายที่ดี เราคงต้องเตรียมตัวรับมือกับไวรัสตัวนี้แบบจริงจังแล้ว ตัวนี้อาจจะเป็นความท้าทายของปี 2022 ที่ต้องเหนื่อยกันต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้
สจ.จอยประกาศไม่เผาศพ!
7 ผู้ต้องหาคดียิง "สจ.โต้ง" คอตกเข้าคุกเรียบร้อย
กกต.ย้ำ1ก.พ.เลือก47อบจ. พท.จ่อเคาะชื่อเก้าอี้โคราช
กกต.ย้ำเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568
พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี
"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน