โวยกกต.แบ่งเขตมั่ว ยื่นศาลเพิกถอนเขตกทม. ระทึก25พรรคถูกร้องยุบ!

กกต.เคาะ 400 เขตเลือกตั้ง “เพื่อไทย” โวยสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย  ขณะที่ “อรรถวิชช์” ยื่นศาลปกครองด่วน  ร้องเพิกถอนแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กทม.  ชี้รวมแขวงเป็นเขตเลือกตั้งผิดกฎหมาย  ไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง กกต.เปิดข้อมูล 25 พรรคถูกร้องยุบ พรรค พท.มากสุด พปชร.อันดับสอง เผยเหลือแค่ 19 เรื่องกำลังพิจารณา

เมื่อวันที่​ 16 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า กกต.ได้พิจารณาร่างประกาศ กกต. เรื่องจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งที่ได้จัดทำขึ้นตามรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง 2566 ที่ กกต.ได้มีมติแล้วตามที่สำนักงาน กกต.เสนอ โดย กกต.ได้เห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานจะได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงประกาศราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว และมีการเผยแพร่รายละเอียดของเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขต 77 จังหวัดแล้ว 

 สำหรับรายละเอียด ส.ส.ทั้ง 77 จังหวัด เมื่อคำนวณจากจำนวนราษฎรที่ไม่นับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงมี ส.ส.มากที่สุด จำนวน 33 คน รองลงมาคือ   นครราชสีมา 16 คน หากคิดจำนวน ส.ส.เป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคกลาง 26 จังหวัด จะมี ส.ส. 122 คน, ภาคใต้ 14 จังหวัดจะมี ส.ส. 60 คน, ภาคเหนือ 16 จังหวัดจะมี ส.ส. 37 คน, ภาคอีสาน 133 คน, ภาคตะวันออกจะมี ส.ส. 29 คน และภาคตะวันตกจะมี ส.ส. 19 คน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกาศยุบสภา ว่า ต้องดำเนินการยกร่าง จากนั้นนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป โดยใน พ.ร.ฎ.ดังกล่าว จะระบุชัดว่าให้มีผลวันไหน  อย่างไร ขั้นตอนมีอยู่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม นายกฯ สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้โดยตรง ไม่ต้องผ่าน ครม. จึงเป็น พ.ร.ฎ.ฉบับเดียวที่ไม่ต้องผ่าน ครม.  เมื่อถามว่าจำเป็นจะต้องให้นายวิษณุเป็นผู้ตรวจดูรายละเอียดก่อนใช่หรือไม่  นายวิษณุกล่าวว่า “ต้องดู ตอนนี้ยังไม่ได้สั่งให้ทำ แต่ร่างนั้นเตรียมไว้แล้ว”

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี กกต.แบ่งเขตเสร็จแล้ว และเตรียมส่งให้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ว่า เหตุผลที่ไม่สามารถยุบสภาในช่วงก่อนหน้านี้ได้ ก็เพราะรอวันนี้ โดย กกต.ขอไว้ 15 วัน ซึ่งเขาก็จัดการได้ตามคาด อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่าในวันที่ 16 มี.ค. น่าจะประกาศได้ จากนั้นจะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ยุบได้ ถ้า กกต.ส่งมาให้รัฐบาลวันไหน ก็สามารถประกาศให้ได้ในวันนั้น แม้แต่ตรงกับวันหยุดราชการ เสาร์-อาทิตย์ก็ประกาศได้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค พปชร. ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ กทม. ยอมรับว่า การที่ กกต.แบ่งเขตเช่นนี้ น่าจะมีกระทบบ้างในบางเขตที่ต้องขยับ เพราะมีการทับซ้อนของผู้สมัคร ส.ส.ในบางเขต ขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ เมื่อเช้าวันที่ 16 มี.ค. ตนได้หารือกับนายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ กทม.ว่าจะพิจารณาอย่างไร โดยจะชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ว่าจะแบ่งเขตแบบไหน พปชร.พร้อมทุกสถานการณ์ และพรรคจะพิจารณาเรื่องตัวผู้สมัคร ส.ส.ให้ดีที่สุด

เช่นเดียวกับ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนภูมิใจไทย กล่าวว่า อาจมีผลกระทบในบางเขต คือเมื่อแบ่งเขตแล้ว ส.ส.บางท่านไม่เคยลงพื้นที่เขตนั้นมาก่อน ส่วนประชาชนเองเคยอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับส.ส. แต่เมื่อแบ่งเขตออกมาอาจไม่ใช่พื้นที่เดิม ก็เป็นวัฒนธรรมความผูกพันกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร พอทุกอย่างนิ่งแล้วว่าที่ผู้สมัครก็จะได้เดินหาเสียงกัน

ชพก.ยื่นฟ้องศาลปกครอง

ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หาก กกต.ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และในท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะทั้งประเทศ กกต.ต้องกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. แต่ละเขตเลือกตั้งกันใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ความมีเสถียรภาพของประเทศชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณแผ่นดิน หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้

นายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม.เขตหลักสี่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง และให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เป็นเรื่องหลักในการแบ่งเขต ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวงกรณีเขตเลือกตั้งที่ 9 ของเขตบางเขน 1 แขวงของเขตบางเขนจะไปรวมกันกับ 2 แขวงของเขตจตุจักร และจะมารวมกับอีก 1 แขวงของเขตหลักสี่ ซึ่งถือว่าเป็นการเอาเศษเสี้ยวของ 3 เขตการปกครองมารวมเป็นหนึ่งเขตการเลือกตั้ง หรือฝั่งธนบุรี ยกตัวอย่าง เขตที่ 32 ของ 1 แขวงบางกอกน้อย มารวมกันกับเขตบางกอกใหญ่ และมารวมกับบางแขวงภาษีเจริญ บางแขวงของเขตตลิ่งชัน บางแขวงของเขตธนบุรี ถือเป็นการแบ่งเขตที่พิลึกพิลั่น สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย แม้วันนี้จะมีพรรคการเมืองไปยื่นร้องต่อศาลปกครองแล้วทาง กกต.จะมีการยืนยันให้การเลือกตั้งในการแบ่งเขตแบบนี้ ถ้าหากศาลปกครองจะตัดสินมาภายหลัง ต้องมีผู้รับผิดชอบ

 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง​ ขอให้พิจารณาวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง​ โดยนายอรรถวิชช์​กล่าวว่า พระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 27(1) กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ “รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าการแบ่งเขตที่ออกมา มีการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลักมาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่                 ตัวอย่างเช่น เขตเลือกตั้งที่ 8 ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องของเขตหลักสี่ และแขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล ของเขตจตุจักร, เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย แขวงอนุสาวรีย์ของเขตบางเขน และแขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ และยังมีเขตเลือกตั้งอื่นๆ ที่เป็นการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 8, 9, 12, 13, 17, 18, 19, 21, 26, 27, 28, 29  และ 30 ซึ่งเป็นการรวมแขวงต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27(1)

“การรวมแขวงข้ามเขตแบบนี้ ถือเป็นการกระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะการแบ่งเขตใหม่ 33 เขตครั้งนี้ เหมือนกับการแบ่งเขตเลือกตั้งเดิมเพียง 4 เขตเลือกตั้งเท่านั้น” นายอรรถวิชช์ กล่าว

25 พรรคถูกร้องยุบพรรค

จากกรณีก่อนหน้านี้ที่ กกต.ได้รับคำร้องขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคการเมืองต่างๆ เนื่องจากมีการกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 92 ของพระราช​บัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 นั้น จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปลายปี 63 จนถึงต้นปี 66 มีพรรคการเมืองถูกร้องทั้งสิ้น 25 พรรคการเมือง รวม 83 เรื่องร้องเรียน ในจำนวนนี้มี 61 เรื่องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าไม่มีมูล จึงให้ยุติเรื่อง และอีก 19 เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้ ใน 25 พรรคการเมืองที่ถูกยื่นเรื่องร้องยุบพรรคมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย 33 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 27 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 6 เรื่อง, พรรคพลังประชารัฐ ถูกร้อง 15 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 11 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 3 เรื่อง อีก 1 เรื่องมีการถอนคำร้อง, พรรคประชาธิปัตย์ ถูกร้อง 3 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 2 เรื่อง, พรรคพลังธรรมใหม่ ถูกร้อง 3 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 2 เรื่อง ส่วนพรรคก้าวไกล ถูกร้อง 5 เรื่อง, พรรคภูมิใจไทย ถูกร้อง 2 เรื่อง, พรรคคลองไทย ถูกร้อง 2 เรื่อง  

พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรครักษ์ประเทศไทย พรรคพลังชล พรรครักษ์สันติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคมาตุภูมิ และพรรคมหาชน ซึ่งถูกร้องพรรคละ 1 เรื่องนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นยุติเรื่องแล้วทั้งหมด ขณะที่พรรคไทรักธรรมซึ่งถูกร้อง 3 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคจากเหตุที่ถูกร้องไปแล้ว 2 เรื่อง เหลืออยู่ในระหว่างการพิจารณา 1 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม พรรคเสรีรวมไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคพลเมืองไทย ถูกร้องพรรคละ 1 เรื่อง และเรื่องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

สำหรับตัวอย่างคำร้องที่เคยอยู่ในความสนใจและที่ได้ยุติเรื่องแล้ว อาทิ การร้องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐเนื่องจากไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้มีการหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62, การมอบสิทธิ์ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เลือกบุคคลเป็นรัฐมนตรี หรือการเลือก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค, การที่พรรคยอมให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคชี้นำ  ครอบงำ

การร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยเนื่องจากการยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคชี้นำ ครอบงำ การดำเนินกิจการพรรค ทั้งจากเหตุมีจดหมายน้อยมาช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย, คลิปลับพูดคุยชี้นำสมาชิกพรรคในงานเลี้ยงวันเกิดของนายเกรียง กัลป์ตินันท์, การเสนอแก้ ป. อาญามาตรา 112 กรณี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อ้างถูกนายทักษิณปลดออกจากการเป็นสมาชิกพรรค, คลิปงานเลี้ยงพรรคเพื่อไทยที่ชูคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นหัวหน้าพรรคและแนวทางการทำให้พรรคชนะแบบแลนด์สไลด์, การปรากฏข้อความบนเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทยชวนประชาชนรวมพลไล่ประยุทธ์

หรือการร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลจากกรณีสมาชิกพรรคใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอก  การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในส่วนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ การร่วมมือกับชมรมแพทย์ชนบทตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19, การที่ยอมให้คณะก้าวหน้าที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานชี้นำ ครอบงำ การดำเนินกิจการพรรค เป็นต้น ซึ่งการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยุติเรื่อง เป็นการใช้อำนาจตามข้อ 7 วรรคสอง ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564  ที่กำหนดว่า ในกรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมความเห็นว่าไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หาก กกต.เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียนฯ และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ ในกรณีข้อเท็จจริงปรากฏต่อนายทะเบียนให้สั่งยุติเรื่อง ซึ่งคำร้องที่ยุติเรื่องแล้วทางสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้ว

ส่วนการร้องพรรคภูมิใจไทยที่เลือกเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ  ทั้งที่พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนมาเป็นอันดับ 2 การที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ให้เงินค่าตอบแทน อสม.เพื่อจูงใจให้เลือกนางแว่นฟ้า ทองศรีภรรยานายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายก อบจ.บึงกาฬ​ เรื่องดังกล่าว กกต.ได้สั่งยุติเรื่องแล้ว

ส่วน 19 เรื่องยุบที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น กรณีปรากฏหลักฐาน ไลน์การโอนเงินเข้าบัญชี 6 ส.ส.พรรคเล็ก, การที่พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งเป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย, การที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บินพบนายทักษิณที่ฮ่องกง, การจัดประชุมใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีการปราศรัยพาดพิงสถาบัน เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมศักดิ์' บอกให้เกียรตินายกฯ ตัดสินใจเรื่องเก้าอี้!

'สมศักดิ์' ไม่หลุดปากมีชื่อนั่ง รมว.สาธารณสุข วอนให้เกียรตินายกฯเป็นคนตัดสินใจ ระบุ รมต.เก่าไม่ต้องกรอกประวัติใหม่ ไม่ขอตอบพร้อมไป สธ.หรือไม่ แต่นั่งมาแล้ว 2 ครั้ง เผย 'อนุชา' สบายดี แม้มีข่าวถูกปรับออก