สัปดาห์หน้าลุย คุ้ยแผนขายฝัน พี่ศรีบี้ดิจิทัลต่อ

"อิทธิพร" เผยสำนักงานกำลังศึกษานโยบาย 70 พรรค เตรียมนำเข้าที่ประชุม กกต.ถกสัปดาห์หน้า  ระบุหากพบเข้าข่ายหลอกลวง โทษแรงสามารถยุบพรรคได้ “ศรีสุวรรณ” ราวี พท.ไล่บี้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น เหตุแจงไม่เคลียร์ “เศรษฐา” เมิน รทสช.ทำคลิปล้อเลียน

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองจำนวน 70 พรรคส่งรายละเอียดนโยบายหาเสียงตามมาตรา 57 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองต่อ กกต.ว่า หลังจากนี้ สำนักงาน กกต.จะต้องศึกษาว่าทั้ง 70 พรรคที่เสนอมามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กระบวนการจะต้องทำโดยเร็ว ทราบว่าในสัปดาห์หน้าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.

นายอิทธิพรกล่าวว่า ตามมาตรา 57 ระบุว่าหากเห็นว่าข้อมูลที่พรรคการเมืองส่งมายังไม่ครบถ้วน จะให้โอกาสพรรคการเมืองส่งข้อมูลเพิ่มมาอีกครั้ง แต่หากส่งไม่ครบภายในระยะที่กำหนดจะปรับวันละ 10,000 บาท แต่ปรับไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าผลออกมานโยบายหาเสียงไม่ถูกต้อง ถือว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 73 (5) หลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เป็นเหตุให้นำไปสู่การพิจารณายุบพรรคได้ตามกฎหมาย แต่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่านโยบายหาเสียงที่ใช้เข้าข่ายความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ การพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำความผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งและพรรคการเมือง กกต.สามารถตรวจสอบเลยได้เลย เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า กกต.พบความปรากฏ หรือจะรับเรื่องร้องเรียนก็ได้

ประธาน กกต.ระบุว่า หลักการพิจารณานโยบายพรรคการเมืองมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2.ระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ระบุผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เรื่องนี้จะต้องใช้องค์ความรู้หลายๆ ด้าน อาจจะใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีความจำเป็น จะวินิจฉัยไปโดยไม่ได้ดูภาพกว้าง หรือฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญคงจะไม่ได้

เมื่อวันศุกร์ ที่ จ.หนองคาย นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ทำคลิปล้อเลียนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า ก็ดี ช่วยกันขยายความเรื่องของนโยบายเรา แสดงว่ามันคงต้องโดน ไม่เป็นไร ไม่คิดอะไรมากมาย อย่างไรก็ตาม ถือว่า รทสช.ไม่ใช่ศัตรูของตน แต่ตนย้ำหลายรอบแล้วว่าศัตรูของตนคือความยากลำบากของพี่น้องประชาชน ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียม เรื่องอื่นไม่สนใจจริงๆ และไม่ขอคอมเมนต์เรื่องการหาเสียงด้วยวิธีนี้ วิธีใครวิธีมัน ไม่ได้ใส่ใจเลย หากเขาคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องก็ทำไป เราเคารพวิธีการทำงานของทุกคน

ที่สำนักงาน กกต. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดนโยบายหาเสียงที่ใช้จ่ายเงินของพรรคเพื่อไทยว่าครบถ้วนตามเงื่อนไขมาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบว่าสามารถดำเนินการให้เป็นจริงได้หรือไม่ด้วย โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า เห็นว่าคำชี้แจงยังมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน และความเป็นไปได้ของโครงการมีโอกาสน้อยมาก ที่ระบุว่าจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยอธิบายว่ามาจากประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท แต่เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีงบประมาณเหลืออยู่เพียง 2 แสนล้านบาทเท่านั้น  จึงเกินกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ส่วนที่ระบุว่าจะนำเอาเงินภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว 1 แสนล้านบาทนั้น จริงๆ เมื่อเข้าไปดำเนินการต้องนำเงิน 5.6 แสนล้านบาทมาดำเนินการทันที เงินภาษีที่จะได้จะเกิดขึ้นทีหลัง คำถามคือ แล้วจะเอาเงิน 5.6.แสนล้านบาทมาจากไหนก่อน

นายศรีสุวรรณยังระบุว่า กกต.ควรเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง หากเห็นว่าพรรคเพื่อไทยชี้แจงมาถูกต้องจะเป็นประโยชน์กับพรรคที่จะสามารถใช้นโยบายดังกล่าวหาเสียงต่อไปได้ แต่หากมีปัญหาต้องสั่งให้ยุติการนำไปหาเสียง แล้วดำเนินการเอาผิดตามที่กฎหมายกำหนด

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ได้แก่ 1.กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขึ้นเวทีปราศรัยด้วยถ้อยคำว่า รับเงินหมา กาเพื่อไทย เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2.กรณีนายณัฐวุฒิไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่ขึ้นเวทีไปปราศรัยช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงได้อย่างไร เป็นการชี้นำครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า และ 3.ขอให้ กกต.ตรวจสอบนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยการใช้ถ้อยคำว่างบประมาณกับการหาเสียงในนโยบายดังกล่าว นั่นหมายถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินตามมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการใช้งบประมาณดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะกฎหมายการเงินการคลัง ไม่สามารถใช้หาเสียงในลักษณะดังกล่าวได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง