ลุ้นกกพ.เคาะลดFTช่วยปชช.

จับตาบอร์ด กกพ.เคาะลดค่าไฟ “กรณ์” โวยลดน่าเกลียดแค่ 2 สตางค์ กระทุ้งต้องยกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อน นักวิชาการแนะแนวทาง 3 ป. ชงรัฐบาลใหม่หั่นทันทีเหลือไม่เกิน 3.50-4 บาทต่อหน่วย รทสช.ปล่อยคลิปใหม่ ดึง 6 แกนนำตอกย้ำนโยบาย “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” พปชร.ปัดแจกเงินเกษตรกร 3 หมื่นตัดหน้า พท. เย้ยออกก่อนหรือหลังไม่สำคัญ อยู่ที่ทำได้หรือไม่ ปชป.เมินแข่งประชานิยม ยันทีมเศรษฐกิจเจ๋งพาไทยฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้ง-แฮมเบอร์เกอร์มาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ​นัดพิเศษ วันที่ 24 เม.ย. จะพิจารณา​ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)​ งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.)​ ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ​เสนอ พร้อมรับภาระค่าเอฟทีลดลง 7 สตางค์ ด้วยการขยายเวลารับภาระหนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนที่วงเงินล่าสุดเหลือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยงวดนี้ กฟผ.จะได้คืนหนี้คิดเป็นค่าเอฟทีราว 28 สตางค์​/หน่วย (2.​2 หมื่นล้านบาท) จากเดิมจะได้คืน 35 สตางค์ ​(2.7 หมื่นล้านบาท) ทำให้ค่าไฟฟ้าค่าเอฟทีลดลงจากเดิมที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตราเอฟทีใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 91.27 สตางค์ และค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.70 บาท/หน่วย

รายงานข่าวจากวงการพลังงานระบุว่า จากกระแสประชาชนบ่นเรื่องค่าไฟฟ้าแพง ฝ่ายการเมืองจึงส่งสัญญาณ ทำให้ค่าไฟเอฟทีต้องเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และทำให้ค่าไฟเฉลี่ยของบ้านอยู่อาศัยลดลงได้ 2 สตางค์​ต่อหน่วย จากเดิมที่ต้องขึ้น 5 สตางค์​/หน่วย โดยไฟฟ้าบ้าน (ม.ค.-เม.ย.66) ​เฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย

นายคมกริช สาคริก ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ MEA เตือนผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยให้ระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงให้คลิกลิงก์ปลอมที่มีความเสี่ยงทำให้เสียทรัพย์ จึงควรตรวจสอบก่อนสมัครใช้บริการทุกครั้ง และขอแนะนำ MEA Smart Life Application แอปเดียวจบครบทุกเรื่องไฟฟ้า ที่สามารถตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้า ชำระค่าไฟฟ้า และรวมบริการอื่นๆ สามารถดาวน์โหลดใช้งานฟรีทั้ง App Store และ Play Store คลิก http://onelink.to/measmartlife หากมีข้อสงสัย หรือพบกลุ่มบุคคลแอบอ้างหลอกลวงทำให้เสียทรัพย์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือ MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า จากกระแสค่าไฟแพงที่ตนออกมาเรียกร้องเมื่อเดือน มี.ค. จนตอนนี้ปัญหาค่าไฟแพงกลายเป็นประเด็นรุนแรงทั่วโซเชียล จนคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ชงบอร์ด กกพ. ให้ลดค่าไฟ แต่ตัวเลขที่ลดมันน้อยจนน่าเกลียด

 “ผมขอไม่ใช้คำว่าลด 7 สตางค์ตามข่าวนะครับ เพราะเดือนนี้จ่ายอยู่ 4.72 บาท เดือนหน้าจ่าย 4.70 นับยังไงก็ 2 สตางค์ อย่าเอาตัวเลขเดือนหน้าที่จะขึ้นอย่างไร้เหตุผลเป็น 4.77 บาทมาหลอกกัน ผมเสนอว่ายกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อนนี้ ลดไป 93 สตางค์ต่อหน่วย ลองคิดตามผมนะครับ สมมติเราใช้ไฟ 485 หน่วย เราจ่ายค่าไฟเดือนนี้ 2,564.05 บาท ถ้าไม่คิดค่าเอฟที ค่าไฟจะลดเหลือ 2,111.05 บาท ลดไป 453 บาท (485 หน่วย x 0.93 สตางค์) แต่ถ้าลด 2 สตางค์ตามที่ กกพ.กำลังจะเปิดรับความคิดเห็น 485 หน่วย คูณ 0.02 สตางค์ ลดได้ 9.72 บาท ยังไม่ถึงสิบบาทเลยครับ การแก้ปัญหาแบบขอไปทีเช่นนี้ คือเหตุผลที่เลือกตั้งครั้งนี้ต้องเลือกพรรคที่จริงใจจริงจัง และเสมอต้นเสมอปลายกับการชนกับทุนผูกขาด" นายกรณ์ระบุ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ  สำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงด้วยการให้ กฟผ.รับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้า เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาระยะสั้น ไม่ใช่แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตอย่างแท้จริง และอาจสร้างปัญหาต่อภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะในระยะยาวได้ในอนาคต ดังนั้นจึงควรดำเนินการตามแนวทาง 3 ป. คือ ปฏิรูป ปรับโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนสัมปทาน ในกิจการไฟฟ้าและกิจการพลังงาน

"ขอเสนอให้รัฐบาลใหม่ลดค่าไฟฟ้าลดทันที และค่าไฟฟ้าไม่ควรเกิน 3.50- 4 บาทต่อหน่วย และในระยะยาวควรทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วย หยุดโอนย้ายผลประโยชน์สาธารณะจาก กฟผ. มายังผู้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ซึ่งเป็นการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ไม่ควรใช้มาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าโดยรัฐผ่านการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เพราะเท่ากับเป็นการเสียค่าโง่ให้กับระบบการคอร์รัปชันเชิงนโยบายและการผูกขาดทางเศรษฐกิจสองชั้น ซึ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การทบทวนสัญญาสัมปทานการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าทั้งระบบ โดยเฉพาะจากเอกชนรายใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาในทันที และค่าไฟฟ้าจะอยู่ในระดับที่ไม่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมากเกินไป" นายอนุสรณ์ ระบุ

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการจัดกำหนดการหาเสียงและการปราศรัย เปิดเผยว่า รทสช.เตรียมเผยแพร่คลิปนโยบาย เพื่อให้ผู้สมัคร ส.ส.นำไปเผยแพร่บอกต่อประชาชนทั้งประเทศว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ตามสโลแกน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ผ่านแกนนำพรรค 6 คน ได้แก่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจพรรค ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรค,  พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ประธานคณะกรรมการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต, นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และตน 

 นายธนกรกล่าวว่า ตนชี้แจงเรื่องโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐพลัส  โครงการคนละครึ่งภาคสอง โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ปี 2565 โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการลงทุนถึง 2.2 ล้านล้านบาท และมีการจ้างงานถึง 100,000 อัตรา เป็นการหาเงินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทุกนโยบาย ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ทำสำเร็จมาแล้ว ส่วนนายอนุชาชี้แจงนโยบายโคเงินล้าน โคล้านครอบครัว ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำให้คนไทยหลุดพ้นจากความยากจน โครงการนี้ ทำแล้ว ลองแล้ว สำเร็จแล้ว รทสช.จะทำต่อ จะทำให้พี่น้องพบกับความร่ำรวย ไม่ขายฝัน

ส่วน พล.ต.นพ.เหรียญทอง จะพูดถึงนโยบายด้านสาธารณสุข จะมีการยกระดับในเมืองใหญ่ ประชากรหนาแน่น ในโครงการหนึ่งเขต หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดตั้งเครือข่ายศูนย์ผู้สูงอายุคนพิการและกลุ่มเปราะบางทางสังคมประจำตำบล อำเภอ จังหวัด ยังเป็นเครือข่ายเป็นระบบ สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นสิ่งแรกที่พรรคจะทำ สำหรับนายจุติ ชี้แจงนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การให้ทุนการศึกษาเด็กยากจน ตั้งแต่ปี 2563-2566 วงเงิน 28,000 ล้านบาท ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 180,000 ครัวเรือน หาที่อยู่ให้ผู้มีรายได้น้อย ดูแลกลุ่มเด็กแรกเกิด มีศูนย์ช่วยเหลือสังคมประจำตำบลและชุมชนทั่วประเทศ 7,092 ศูนย์ บูรณาการกันทุกกระทรวง เป็นแอปแจ้งเหตุปักหมุดหยุดเหตุเริ่มดำเนินการ 1 เม.ย. ไม่ได้ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว ซึ่งสามารถลดความรุนแรงในครอบครัวแก้ปัญหายาเสพติด

 ขณะที่ ม.ล.ชโยทิต ชี้แจงนโยบายหาเงินเข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท นายสุพัฒนพงษ์ชี้แจงนโยบายแก้ปัญหาหนี้สิน สิ่งที่ทำแล้ว อาทิ กยศ. ช่วยเหลือแล้ว 6,800,000 คน การแก้หนี้สินเชื่อเช่าซื้อ ที่มีลูกหนี้กว่า 20 ล้านราย ลดดอกเบี้ยเงินกู้แก้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ตรงนี้เป็นสิ่งที่ รทสช. ทำแล้ว จะทำต่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

ที่ จ.นครราชสีมา นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงนโยบายแจก 30,000 บาท ให้เกษตรกร 8 ล้านรายว่า ไม่ใช่นโยบายใหม่ แต่เป็นเพียงการเพิ่มวงเงินให้กับเกษตรกรเป็นทุนในการทำนาทำไร่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกมาในช่วงนี้เหมือนต้องการตัดหน้านโยบาย 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย นายวิรัชกล่าวว่า การจะออกก่อนหรือออกหลังไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียด ใช้ไม่ได้หรอก และขอตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทยว่าทำอะไรอยู่ เพราะนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทออกมา 3 สัปดาห์แล้ว ขอให้ออกมาตอบสังคมว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ได้ เพราะหากไปถามพรรคเพื่อไทย เดี๋ยวจะมีเงินสกุลใหม่ออกมาอีก แต่ขอไม่ประเมินว่านโยบายนี้จะไปรอดหรือไม่รอด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การลด แลกแจกแถม สุดท้ายต้องไปขึ้นภาษีกับชาวบ้าน แล้วก็ต้องไปกู้ ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องเป็นหนี้เพิ่ม สิ่งเหล่านี้คือนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ ประชาธิปัตย์ไม่ทำแบบนี้ เชื่อว่าคนไทยอ่านออกว่า นโยบายไหนทำได้-ทำไม่ได้ นโยบายไหนหลอกเอาคะแนน และนโยบายไหนตกผลึกแล้วรับผิดชอบ ไม่สร้างภาระให้ประชาชน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดแข็งของประชาธิปัตย์ และกลยุทธ์ของประชาธิปัตย์ก็ตรงไปตรงมา ถ้าประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล เรามีทีมเศรษฐกิจที่มีประสบการณ์ เคยนำพาประเทศฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์สำเร็จมาแล้ว เชื่อมั่นว่าทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์พาประเทศไทยรอดได้แน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์