บิ๊กตู่ลั่นอยู่ถึง2566 รับเป็นนักการเมืองเต็มตัว/พรรคเล็กเฮได้ปัดเศษ

“บิ๊กตู่” รับแล้วเป็นนักการเมืองเต็มตัว ลั่นอยู่เต็มเทอมถึง มี.ค.66 การันตีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 65 “บิ๊กป้อม” ไม่ขอเป็นนายกฯ อ้างเดินไม่ไหว พรรคเล็กเฮ! วิปรัฐบาลยอมให้ปัดเศษ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ด้าน “ปิยบุตร” ฟันธง ยุบสภาปลายปีหน้า

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ช่วงนี้พูดถึงเรื่องการเป็นนายกฯ ภายใต้กรอบของกฎหมาย เป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ ว่าตนยังอยู่ในการเป็นรัฐบาลมิใช่หรือ ตามกรอบกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะอยู่จนถึงเดือน มี.ค.66 กรอบกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นไม่ใช่หรือ

“ผมจะอยู่ไปจนถึงปี 67 ได้หรือไม่ล่ะ เมื่อไม่ได้ก็อยู่ในตำแหน่งได้ถึงปี 66 ถ้าบ้านเมืองสงบสุขเราก็อยู่ให้จนครบวาระไปเท่านั้นเอง อย่าไปมีอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรขึ้นมาให้มันเกิดความเสียหายอะไร บ้านเมืองจะได้ไปได้ ผมก็ทำอะไรหลายๆ อย่างไว้แล้ว ไม่ใช่ทำเพื่อวันนี้หรือทำเพื่อคะแนนเสียงของผมด้วยซ้ำ และทำให้กับประชาชนและประเทศชาติ มีแผนงานในอนาคตไว้เยอะแยะไปหมด ลองไปเปรียบเทียบดูแล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

เมื่อถามว่า ความตั้งใจของนายกฯต้องการอยู่ให้ครบวาระใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำดังกล่าว แต่ทำเสียงในลำคอ “อืม อึหึ” ซักว่าถือว่าวันนี้เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ก็ต้องเป็น เพราะเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นนักการเมือง” ก่อนย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “ผมยังเป็นทหารอยู่หรือไม่ล่ะ ผมเป็นทหารเกษียณแล้ว ส่วนที่ยังมียศนำหน้าอยู่แล้วจะให้ผมทำอย่างไร จะต้องให้ลดยศลงไปหรือ จะให้ตัดยศหรือ ยศที่มีอยู่เป็นยศพระราชทาน”

เมื่อถามย้ำว่า เมื่อยอมรับว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว จำเป็นต้องลงเลือกตั้งในระบบ อย่างเช่นลงสมัครในนามปาร์ตี้ลิสต์หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ก็ค่อยว่ากันในอนาคต เอาไว้ใกล้เลือกตั้งก่อน” ต่อข้อถามว่า ถ้าจะลงสมัครในนามนักการเมืองเต็มตัวจะลงในพื้นที่ จ.นครราชสีมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เลอะเทอะ บอกแล้วว่ายังไม่ถึงเวลา จะมาถามอะไรวันนี้”

นายกฯ ยังกล่าวถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า บอกแล้วว่าเลือกตั้งปี 65 ปีนี้เพิ่งปี 64 รอปี 65 เลือกตั้งสถานการณ์ต้องมีความพร้อม มีความสงบเรียบร้อย ต่อยตีกันไปมันไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีปรากฏภาพประชาชนกราบเท้าระหว่างการลงพื้นที่ จ.อุดรธานี พร้อมเรียกว่าเป็นนายกฯ ว่า ตนไม่เป็นหรอก เดินยังไม่ไหวเลย และตนกับ พล.อ.ประยุทธ์คุยกันทุกวันอยู่แล้ว

วันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้ง โดยนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ออกมาเปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานวิปรัฐบาลว่า จากกรณีที่กลุ่มพรรคเล็กร่วมรัฐบาลได้เสนอความเห็นและประเด็นที่ต้องการให้บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.ป.ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ที่วิปรัฐบาลจะเสนอต่อประธานรัฐสภา ล่าสุดมีความเห็นเป็นข้อยุติร่วมกันแล้ว คือ 1.ประเด็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

“จะกำหนดวิธีคิดคำนวณที่มีหลักการว่า ให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนหารเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนมีสิทธิ์ได้ ส.ส. กรณีที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ครบ 100 คน โดยให้ใช้คะแนนของพรรคเรียงลำดับตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ เพราะเศษคะแนนของพรรคที่ได้ไม่ถึงคะแนนเฉลี่ย เมื่อรวมคะแนนที่ประชาชนเลือกควรได้ ส.ส.ด้วย” นายโกวิทย์ระบุ

นายโกวิทย์กล่าวอีกว่า 2.แม้ส่ง ส.ส. 1 เขต ก็สามารถส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 3.การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ได้ปรับเกณฑ์การสรรหาโดยให้สิทธิตัวแทนประจำจังหวัด จำนวน 150 คน จากเดิมที่กำหนดให้ใช้ตัวตัวแทนจากเขตเลือกตั้ง เขตละ 100 คน หรือใช้สาขาพรรคที่กำหนดจำนวน 500 คน 4.การกำหนดให้สมาชิกต้องชำระค่าธรรมเนียม จะปรับให้เป็น 200 บาทตลอดชีพ และ 5.ข้อกำหนดที่ให้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคเพื่อดำรงสถานะความเป็นพรรคการเมือง เปลี่ยนเป็น ภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิก 2,000 คน และภายใน 3 ปี มีสมาชิก 5,000 คน

วิปรัฐบาลรายนี้ระบุว่า ยังมีประเด็นที่คณะทำงานเห็นไม่ตรงกัน และต้องถกในรายละเอียดอีกครั้ง คือประเด็นว่าด้วยการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการให้แยกหมายเลข ระหว่าง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่พรรคอื่นเห็นด้วยให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งผู้สมัครแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ

“ในประเด็นที่เห็นต่าง หากไม่ได้ข้อสรุป ได้ตกลงว่าจะให้แต่ละพรรคใช้กลไกของกรรมาธิการและการแปรญัตติพิจารณา ซึ่งจากการหารือของคณะทำงาน ขณะนี้ให้ฝ่ายเลขาฯ คณะทำงาน ยกร่างเนื้อหาแล้ว และในการประชุมสัปดาห์หน้าจะนำเนื้อหาเสนอเพื่อพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นในสัปดาห์ถัดไปจะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หารืออีกครั้ง และคาดว่าจะเสนอร่างแก้ไขต่อรัฐสภาได้ช่วงเดือน ม.ค.ปี 65” นายโกวิทย์กล่าว

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ปชป.กำหนดให้มีการประชุมใหญ่สามัญพรรค ประจำปี 64 ในวันเสาร์ที่ 18 ธ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. โดยมีวาระสำคัญคือเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคแทนตำแหน่งที่ว่างลง จากกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และกรณีนายอันวาร์ สาและ ลาออกจากรองเลขาธิการพรรค

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงการเลือกตั้งว่า คิดว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นแน่นอนในปีหน้า จะเกิดในช่วงปลายปี อย่างน้อยๆ ควรจะผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีไปอีกสักรอบหนึ่งก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง