เงินเฟ้อพ.ย.พุ่ง ทำสถิติรอบ7ด. ยันยึดตาม‘เป้า’

เงินเฟ้อพุ่ง! พ.ย.ทะยานไปที่ 2.71% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 เดือน พณ.จับตาโอไมครอนในเดือน ธ.ค.จะส่งผลแค่ไหน แต่เชื่อคุมได้ตามเป้าหมาย 0.8-1.2% โพลเผยประชาชนเครียดค่าใช้จ่ายในยุคโควิดอาละวาด

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ย.2564 เท่ากับ 102.25 เทียบกับเดือน ต.ค.2564 เพิ่มขึ้น 0.28% และเทียบกับ พ.ย.2563 เพิ่มขึ้น 2.71% สูงสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่ เม.ย.2564 ที่เพิ่มขึ้น 3.41% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.15% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่าดัชนีอยู่ที่ 100.68 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.2564 และเพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2563 โดยเฉลี่ย 11 เดือน เพิ่มขึ้น 0.23%

“สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือน พ.ย.2564 เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าที่สำคัญหลายรายการ โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 37.19% สินค้าเกษตรบางชนิดยังมีราคาสูงขึ้น เช่น ผักสด และเนื้อสุกร เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเข้ามา มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ในช่วงเดือน พ.ย.2564 ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโอไมครอน” นายรณรงค์กล่าว

นายรณรงค์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.2564 คาดว่าจะยังคงสูงขึ้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูงและมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง รวมทั้งสินค้ากลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการ โดยอัตราการขยายตัวน่าจะใกล้เคียงกับเดือน พ.ย.2564 แต่ถ้าจะลดก็ลดเล็กน้อย ซึ่งต้องดูปัจจัยจากโอไมครอนประกอบว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนด้วย แต่ทั้งปี 2564 ยังอยู่ในเป้าหมาย 0.8-1.2%

วันเดียวกัน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง สถานะทางการเงินของประชาชนในภาวะวิกฤต ซึ่งนายวศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ร่วมกับ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยผลตัวอย่างทั้งสิ้น 1,205 ตัวอย่าง โดยช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 พบว่า 30.9% และ 6.5% ระบุว่ามีความมั่นคงทางการเงินในระดับมาก และมากที่สุดตามลำดับ และมีถึง 60% ที่ระบุว่านับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 จนถึงปัจจุบันได้รับผลกระทบทางการเงินในระดับมากถึงมากที่สุด โดยมีเพียง 14.9% และ 2.5% เท่านั้นที่เชื่อว่าหลังวิกฤตโควิด-19 ฐานะการเงินจะกลับมามั่นคงในระดับที่มาก และมากที่สุดตามลำดับ

เมื่อถามถึงปัจจุบันหรือในอดีตความเครียดเรื่องการเงินเกิดจากสาเหตุใด พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 62.5% ระบุสาเหตุเกิดจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมา 45.8% ระบุสาเหตุเกิดจากค่าเช่า/ผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ โดยที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือ 64.8% ระบุความเครียดเรื่องการเงินส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต รองลงมาหรือ 24.2% ระบุประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ในขณะที่ร้อยละ 22.9 ระบุไม่มีปัญหาที่เกิดจากความเครียดเรื่องการเงิน และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 66.8% ระบุมีรายได้ ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่ง 1 ใน 3 ของประชาชนหรือ 26.9% ระบุนำเงินเก็บมาใช้ รองลงมา 24.1% ระบุนำสิ่งของไปจำนำหรือจำนอง

ถามถึงความสนใจเรื่องการวางแผนการเงิน พบว่า 40.4% ระบุสนใจมากถึงมากที่สุด สัดส่วนรองลงมา คือเกินกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.4% ระบุว่ามีความสนใจเรื่องการวางแผนการเงินปานกลาง และเมื่อถามถึงพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องการเงินที่ต้องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหากสามารถย้อนเวลากลับไปได้ ซึ่งอาจนำมาสู่กระบวนการการเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อรองรับกับปัญหา หรือความไม่แน่นอนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต พบว่าพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ เก็บออมเงินให้มากกว่าเดิม, ใช้เงินไม่ประมาท/วางแผนการเงินให้รอบคอบ และประหยัดค่าใช้จ่าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง