เครือข่ายกัญชาไทย ยกผลศึกษาแก้ไขปัญหาการใช้กัญชาของ กมธ.สาธารณสุข เตือนสติ "ก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ" เคยลงมติต้องเอากัญชาออกจากยาเสพติด วันนี้ทำไมกลับกลอก แนะกลับมาติดกระดุมเม็ดแรกใหม่ให้ถูกก่อน ด้านผู้ประกอบการกัญชาขอนแก่น วอนรัฐคุยกับผู้ประกอบการก่อน หากต้องนำกัญชากลับคืนเป็นยาเสพติดกระทบทั้งระบบแน่ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ลงทุนไปจำนวนมาก
เมื่อวันจันทร์ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยหยิบยกรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างเป็นระบบ” โดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างเป็นระบบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการไขปัญหาเกี่ยวกับใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ขึ้นมาประกอบ
โดยนายประสิทธิ์ชัยระบุว่า "นักการเมืองอย่างไรเสียก็ตัดสินใจนโยบายตามผลประโยชน์ทางการเมือง กรณีกัญชานั้นชี้ให้เห็นความกลับกลอกของนักการเมืองได้เป็นอย่างดี พวกเขาพูดอย่างหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนไปในเวลาไม่กี่เดือน พวกเขาตัดสินเรื่องกัญชาโดยละทิ้งข้อเท็จจริง
สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติตั้ง กมธ.ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อ 'ศึกษาปัญหา กัญชา กัญชง กระท่อม' โดยการศึกษาของ กมธ.ชุดนี้มีข้อสรุปร่วมกันว่า 'ต้องเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด' และยังเสนอแนวทางของการนำประโยชน์จากกัญชามาใช้อย่างเป็นระบบ พวกเขาลงมติกันเป็นที่เรียบร้อยว่า 'ต้องเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด' พอมาถึงวันนี้พวกเขา 'เปลี่ยนมติของตัวเอง' ซึ่งกรรมาธิการชุดนี้มิได้มีเฉพาะ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายเข้ามาร่วม ฉะนั้นงานศึกษาชิ้นนี้จึงทำอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐานการทำงานของกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร
คำถามคือ 3 พรรคการเมืองกลับลำจากงานการศึกษาที่ตัวเองมีส่วนในการศึกษาและลงมติไว้ 'พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ' มีแนวทางร่วมกันว่า ต้องเอากัญชาสู่ยาเสพติด เป็นการประกาศนโยบายสวนทางกับที่ตัวเองศึกษาและลงมติเอาไว้ สิ่งที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นก็คือว่า การทำงานของพรรคการเมืองยึดถือผลประโยชน์พรรคเป็นหลัก การตัดสินใจไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง แม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเองลงมติไว้ยังกลับลำได้
ถ้าหากการกลับลำนั้นเป็นการค้นพบข้อเท็จจริงใหม่ที่ร้ายแรงกว่าวันที่ กมธ.ลงมือศึกษานั้นย่อมรับได้ แต่นี่เปล่าเลย นั่นแสดงให้เห็นว่า พรรคการเมืองตัดสินใจบนฐานคะแนนเสียงไม่ใช่ข้อเท็จจริง พฤติกรรมนี้ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคที่สถาปนาตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย 3 พรรคการเมืองนี้ การตัดสินใจเรื่องกัญชามิใช่เป็นไปด้วยความไม่รู้ แต่ตัดสินใจบนผลประโยชน์ทางการเมือง แม้ว่าต้องกลืนน้ำลายตัวเอง"
"เมื่อผลการสำรวจความเห็นของคนส่วนใหญ่บอกว่าไม่เอากัญชา พรรคเหล่านี้ก็เดินตาม โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ศึกษาไว้แล้ว ฉะนั้นเมื่อกระดุมเม็ดแรกติดผิดพลาด ตลอดเส้นทางก็จะเต็มไปด้วยความผิดพลาด วิธีแก้ปัญหาแบบนี้คืออย่าดึงดันอีกต่อไป และให้หันกลับมาเริ่มต้นที่กระดุมเม็ดแรกเสียใหม่ นั่นคือกลับมาพิจารณาที่ข้อเท็จจริง" นายประสิทธิ์ชัยระบุ
ที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พบกับผู้ประกอบการธุรกิจร้านกัญชา โดยเฉพาะที่ร้าน "420 CARE" ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารโอโซน วิลเลจ 238/8 ถ.เทพารักษ์ อ.เมืองขอนแก่น และพบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลหากจะนำกัญชากลับไปเป็นสิ่งเสพติดเหมือนเดิม โดยอยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้ประกอบการและภาครัฐ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลอย่างมาก
นางแสงพิรุณ วงศ์ตะวัน อายุ 30 ปี ผู้จัดการบริษัท โฟร์ทเวนตี้แคร์ จำกัด กล่าวว่า หากกัญชาถูกนำกลับไปเป็นยาเสพติดจริง โดยส่วนตัวก็มีทั้งกังวลและไม่กังวล โดยในส่วนเรื่องที่ว่าไม่กังวลนั้น เพราะร้านได้เปิดขายโดยมีการขออนุญาตตามที่ สสจ.กำหนดทุกอย่าง ทั้งขออนุญาตขายและการเก็บข้อมูลลูกค้าที่อายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งร้านเก็บข้อมูลส่ง สสจ.ทุกเดือนจึงค่อนข้างที่จะไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะที่ร้านมีสโลแกนว่า สะอาด ถูกต้อง ใส่ใจผู้บริโภค และคำนึงถึงสังคม
"เรื่องที่ว่ากังวลจะเป็นเรื่องกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนนั้น ที่ร้านเองก็ยังตั้งรับไม่ถูก จึงได้แต่รอเวลาอย่างเดียวว่ากฎหมายจะไปทิศทางไหน ซึ่งที่ยังไม่ชัดเจนก็คือกฎหมายการควบคุมดูแลร้านค้าที่ขาย ว่ามาตรฐานจะต้องประมาณใด และเรื่องที่สำคัญอยากให้ร้านค้ากัญชาแบบนี้ทุกร้าน ช่วยทำการขออนุญาตขายให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านนี้อยู่ได้นานขึ้น"
"ถ้านำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม อยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้และภาครัฐ อยากให้หาทางออกร่วมกันจะควบคุมแบบไหน ถ้านำกลับไปเป็นยาเสพติดจริงๆ ก็อยากจะให้ใช้ในทางการแพทย์มากกว่า และลดการสันทนาการลง เพราะในประเทศไทยคนที่ใช้ในทางการแพทย์มีเยอะมาก คนที่น่าห่วงไม่ใช่ผู้ใช้ น่าจะเป็นเกษตรกรที่ทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ผู้ค้ารายย่อย เพราะว่ากว่าจะมาเป็นธุรกิจต้องลงทุนไปเยอะ ค่อนข้างจะกระทบมากพอสมควร และปัญหาตอนนี้ของผู้ปลูกคือ ไม่มีตลาดที่จะรับซื้อผลผลิตมากพอเท่าที่ควร" นางแสงพิรุณกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ก้าวไกล’แบ่งเค้กปธ.กมธ.ไม่ลงตัว
ก้าวไกลยังแบ่งเค้กไม่ลงตัว เร่งเคาะ "ปธ.กมธ." 11 คณะ "วิโรจน์" คุมกรรมาธิการทหาร "อดิศร" ดักคออย่าเล่นปาหี่ขับ
เร่งเครื่องลดค่าครองชีพ ส่งโมบายพาณิชย์ถึงต.ค.
พาณิชย์เร่งเครื่องลดค่าครองชีพประชาชน หลังต้นทุนค่าขนส่งปรับลดลง ส่งรถโมบายพาณิชย์จำหน่ายสินค้าราคาประหยัด 100 จุดจำหน่าย ไปจนถึงช่วงเดือนตุลาคมนี้
การันตีศก.สดใส ท่องเที่ยว-ส่งออก ดัชนีผู้บริโภคขยับ
“คลัง” การันตีเศรษฐกิจไทยเดือน ส.ค.2566 ยังสดใส
จำคุกนิพนธ์-ชัยวัฒน์ผิด157
ศาลอาญาคดีทุจริตสั่งจำคุก “นิพนธ์ บุญญามนี” คดีไม่อนุมัติจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทาง
‘นายกฯไทย-กัมพูชา’ชื่นมื่น ร่วมมือทุกมิติเพื่อ2ประเทศ
นายกฯ ไทย-กัมพูชาพบปะครั้งแรกหลังรับตำแหน่งใหม่
ชงรบ.แก้วิกฤตตำรวจ สภาถกเดือด!จี้กล้าปฏิรูป เสี่ยนิดชี้ตั้งผบ.ตร.ถูกกม.
"เศรษฐา" บอกสบายใจตั้ง "ผบ.ตร.คนใหม่" เรียบร้อย ยันทำถูก กม. ให้ความเป็นธรรมแคนดิเดตทุกคน