ส.ว.โหวตนายกฯ ยึดประโยชน์ชาติ

“พรเพชร” ยันไม่มีการขีดเส้นให้สภาสูงโหวตนายกฯ ชี้ ส.ว.แต่ละคนมีวุฒิภาวะและอิสระ เผยก้าวไกลยังไม่มีการล็อบบี้ “สมชาย” แฉนึกว่าอยู่ยุคอนาธิปไตยหรือโจราธิปไตย เพราะให้คนมาล้อมมาขู่บังคับให้โหวต  “สมาคมทนายความฯ” ออกแถลงการณ์ย้ำประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสสังคมโจมตี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่าไม่ได้มองอะไร เพราะเป็นตามกระแสและโซเชียล ส่วน ส.ว.ยังไม่ได้พูดจาอะไรกันมาก เพราะมีการเปิดประชุม ส.ว.สมัยวิสามัญไปครั้งเดียว ทั้งนี้ ส.ว.ทุกคนมีวุฒิภาวะ มีความรู้ ความตั้งใจทำงาน เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ดังนั้นแต่ละคนมีความคิดของตนเอง และมีความเป็นอิสระ ซึ่งความเป็นอิสระนั้นไม่ได้หมายความว่าตามอำเภอใจ แต่ต้องคิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งเชื่อมั่นว่า ส.ว.ทุกคนทำหน้าที่อย่างนั้น ส่วนจะมีใครมาว่า ส.ว.คงเป็นส่วนน้อย แต่ส่วนน้อยนั้นอาจเสียงดังก็ได้

เมื่อถามต่อว่า ในฐานะประธานวุฒิสภาได้ให้แนวทางกับ ส.ว.ในการโหวตคนที่จะเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร นายพรเพชรตอบว่า ไม่เคยให้แนวทาง เพราะทำหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภา ต้องร่วมกับประธานรัฐสภา ดังนั้นในฐานะรองประธานรัฐสภาไม่อยู่ในฐานะแนะนำอะไรใครได้ ดังนั้นได้พูดไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งว่าต้องใช้หลักและความเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งทุกคนทราบดีว่าควรเป็นอย่างไร ไม่เคยที่จะไปชี้นำหรือไปทำอะไร มั่นใจใน ส.ว.ส่วนมากเกือบทั้งหมดตั้งใจทำงานที่ดี ค่อยๆ ดูไป

ถามว่า เคยได้รับการติดต่อจากคณะเจรจาของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่จะขอให้โหวตแคนดิเดตนายกฯ บ้างหรือไม่  นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีใครมาเจรจา แต่หากมีคนติดต่อมานั้น ก็เคยเรียนไว้แล้วว่าทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา จะพูดแนะนำหรืออะไรไม่ได้ ส่วนที่ ส.ว.ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามการตั้งรัฐบาลและโหวตนายกฯ นั้น ไม่ทราบ และไม่เคยเกี่ยวข้อง

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ทาง FM 105 ผ่านรายการวิเคราะห์ข่าวการเมืองไทย ตอนหนึ่งว่า   ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวใต้น้ำที่เรียกว่าขู่ เคลม เคลียร์ ซึ่งเป็นการกระทำเหมือนที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.โดน คือแชร์ทะเบียนบ้าน ทะเบียนรถ เพื่อเป็นการส่งต่อและตามล่าแม่มด และคนกลุ่มนั้นใช้คำว่า ไปตามล่า ส.ว.กันดีกว่า ซึ่งถูกขู่ไปทุกคน แม้แต่ ส.ว.ที่อยู่ต่างจังหวัด  โดยขู่ทั้งในโซเชียล และขู่ว่าจะไปเผาโรงสี ขู่ถึงลูกหลานก็ยังมี

“ส.ว.บางคนเล่าว่าบ้านอยู่ตามทุ่งนา เพราะท่านมาจากปราชญ์ชาวบ้าน อยู่สองคนกับภรรยา แล้วก็มีแม่บ้าน ลูกไปเรียนต่างจังหวัดหมด ปรากฏว่าถูกไปล้อมบ้านแล้วไปขู่บังคับว่าจะเลือกมั้ย ทำให้ ส.ว.คนนั้นตอบกลุ่มคนที่มาล้อมว่าผมเลือกเสียงข้างมากแน่นอน ปรากฏว่าในโซเชียลมีการโพสต์เลยว่า ส.ว.คนนั้นเลือกพิธาเป็นนายกฯ ซึ่ง ส.ว.ท่านนั้นก็ต้องมายืนยันว่าไม่เคยพูดเลยว่าเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ พร้อมระบุต่อว่าถ้าวันหนึ่งจะมีแข่งระหว่างคุณพิธากับคุณอุ๊งอิ๊งหรือใครก็ตาม เขาก็จะเลือกตามเสียงข้างมาก” นายสมชายระบุ

นายสมชายยังระบุว่า ส.ว.บางคนถูกล้อมในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะออกไปเดิน ไปวิ่ง ซื้อของ ถูกชาวบ้านไปล้อมหมด และไปขู่เขาท่ามกลางวงล้อม สุดท้ายยังบังคับเขียนชื่อเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ วันรุ่งขึ้นก็เอาคนไปล้อม เอาดอกไม้ไปมอบให้ที่โรงพยาบาล แล้วก็ไปบอกว่านี่คือคนดีของจังหวัด นี่คือ ส.ว.ประชาธิปไตย ซึ่ง ส.ว.ท่านนั้นบอกว่าถ้าไม่ทำก็อยู่ไม่รอด การใช้อำนาจไปข่มขู่คนอื่นแบบนี้ รู้สึกเป็นเผด็จการไหม อาจต้องเรียกใหม่ว่าเผด็จการธิปไตย หรือโจราธิปไตย หรือไม่ก็อนาธิปไตย

“นี่คือตัวอย่างที่ ส.ว. 2 ท่านนี้โดน ยังมี ส.ว.หลายคนโทร.มาเล่าให้ผมเยอะเต็มไปหมด แล้วก็มีขบวนการให้นักข่าว ซึ่งไม่ทราบว่านักข่าวจริงหรือปลอมโทร.กดดัน โทร.มาเป็นร้อยสาย พร้อมกับส่งทีมเจรจามาขอพบ ทำให้ตอนนี้มี ส.ว.ที่ไปลงชื่อสนับสนุนมีแค่ 6 คน ที่เหลือกลุ่มสอง เป็นเสียงข้างมากมีประมาณ 10 คน ไม่ถึง 20 คนอย่างที่เคลมกัน” นายสมชายระบุ

ขณะเดียวกัน นายพรเพชรยังกล่าวตอบข้อถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ  ว่าควรมีคุณสมบัติอย่างไรว่า อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถพูดได้ว่าอยากได้ใคร หรือใครดี-ไม่ดี แต่เชื่อมั่นและเข้าใจว่าการเลือกประธานรัฐสภาเลือกมาจาก ส.ส. ที่ผ่านมาการเลือกตั้งและการลงมติมาจาก ส.ส. ดังนั้นมั่นใจว่าฐานะที่เป็นรองประธานรัฐสภา จะทำงานร่วมกันได้ไม่ว่าเป็นใคร เพราะเชื่อมั่นในคุณวุฒิ วัยวุฒิ หรือในสิ่งที่มีความตั้งใจ รวมทั้งความรู้ต่างๆ

ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมฯ ตอนหนึ่งว่า   ประธานสภาฯ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภา และต้องวางตนเป็นกลาง ดังนั้นการที่พรรคการเมืองบางพรรคอ้างว่าต้องให้คนของพรรคตนดำรงตำแหน่ง เพื่อผลักดันร่างกฎหมายสำคัญ จึงเป็นการบิดเบือน เพราะการบรรจุวาระการพิจารณาร่างกฎหมายต้องเป็นไปตามลำดับของร่างกฎหมายที่ได้ยื่นต่อสภา ส่วนการเลื่อนวาระไม่อาจกระทำได้ ยกเว้นเป็นมติของที่ประชุมสภา ประธานจึงไม่มีอำนาจบรรจุหรือเลื่อนวาระหรือใช้ดุลพินิจได้ตามใจชอบ

 “การประชุมเพื่อลงมติเลือกตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้น หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วยเสียงเกิน 376 เสียงให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว ประธานสภาฯ ต้องนำรายชื่อนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่อาจสลับเอารายชื่อบุคคลอื่นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ตามที่สื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอ” นายนรินท์พงศ์ระบุ

นายนรินท์พงศ์กล่าวอีกว่า ประธานสภาฯ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประเทศ เป็นตำแหน่งที่เป็นทั้งสัญลักษณ์และหน้าตาของประเทศ ดังนั้น ผู้ที่ควรได้รับการเสนอชื่อจึงควรมีความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ รวมทั้งต้องได้รับการยอมรับทั้งจาก ส.ส.และ ส.ว. เพราะต้องทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมของทุกฝ่าย มิได้เป็นเพียงประธานของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเท่านั้น การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง จึงควรคำนึงถึงการยอมรับจากทุกฝ่าย และประโยชน์สูงสุดของประเทศ

วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ อสส.ให้พิจารณาดำเนินการในกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ เดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยก่อนหน้านี้นายธีรยุทธได้เคยไปยื่นให้กับประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ตรวจสอบพรรคก้าวไกลในเองดังกล่าวมาแล้ว  แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง