กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ขยับแตะ2.0% ส่งซิกยังปรับต่อ

กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.00% ส่งซิกไม่หยุดขึ้น เหตุเงินเฟ้อยังกดดัน-เศรษฐกิจฟื้นไม่เต็มที่ คงจีดีพีปีนี้โต 3.6% ท่องเที่ยวยังหนุนส่งออกดีขึ้น

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นายปิติ   ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กนง.ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00%  ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง มีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี และการส่งผ่านต้นทุนอาจปรับสูงขึ้น จากแรงกดดันด้านอุปทาน

 “กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) มาแล้ว 6 ครั้งติดต่อกัน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย และเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะขยายตัวไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ยังมีความไม่แน่นอนในทุกๆ   ด้าน ดังนั้น การปรับดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมก็จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยมีเป้าหมายต้องการให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน” นายปิติ ระบุ

เลขานุการ กนง.กล่าวว่า กนง.เห็นชอบให้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่ 3.6% และในปี 2567 ที่ 3.8% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 29 ล้านคน และปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 35.5 ล้านคน ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน  ขณะที่การส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป โดยคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ -0.1% ในปี 2566 และ 3.6% ในปี 2567

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งยังจัดตั้งไม่เสร็จ และยังไม่ได้มีการหยิบยกมาเป็นประเด็นที่จะใช้พิจารณาผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ซึ่งในการประชุมก็มีการหยิบยกนโยบายในภาพรวมที่ทุกพรรคได้หาเสียงไว้มาประเมินผลกระทบในแง่บวกและแง่ลบต่อเศรษฐกิจในเบื้องต้น ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือในรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% และ 2.4% ในปี 2566 และ 2567 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 2.0% ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านสูง โดย  กนง.พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการท่องเที่ยว รวมทั้งการบริโภคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจจากผลของฐานสูงในปีก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง