พรรคเป็นธรรมลั่น ผลักดัน‘ปาตานี’ต่อ

ไทยโพสต์ ๐ "นิพนธ์" เตือนต้องระวังเรื่องการลงประชามติแบ่งแยกดินแดน   เป็นประเด็นอ่อนไหว ขัดรัฐธรรมนูญ อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น   วุ่น! เสนอเปลี่ยน “หัวหน้าพรรคเป็นธรรม” หลังพรรคค้านกิจกรรมขบวนการ  นศ. ขณะที่เลขาฯ พรรคลั่นยังเน้นที่จะผลักดันสันติภาพปาตานี เช่น การยกระดับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ   การยกเลิกกฎหมายพิเศษ

     เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงานเปิดตัว "ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa)" ณ ห้องประชุมศรีวังสา ของคณะรัฐศาสตร์ โดยในงานมีการกล่าวปาฐกถาหัวข้อ "การกำหนดอนาคตตัวเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" และแถลงการณ์ ของประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ  เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมมีข้อเสนอแบ่งแยกดินแดนว่า ข้อเสนอที่พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอดเพื่อการแก้ไขปัญหานั้น ต้องน้อมนำแนวทางพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อสร้างความร่วมมือและรับรู้ร่วมกัน ทำให้ปัญหาที่หลายฝ่ายเรียกร้องได้ถูกแก้ไขได้อย่างยั่งยืน

     รวมถึงการเดินตามยุทธศาสตร์ สันติภาพสู่สันติสุข คือการทำให้เกิดสันติภาพ ยุติความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นที่ต่างกันอยู่ในพื้นที่  ทุกกลุ่มทุกฝ่ายสร้างการมีส่วนร่วมในทุกมิติที่มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ซึ่งถ้าหากไม่สามารถแก้เรื่องความเห็นต่าง  หรือแก้เรื่องความขัดแย้งไม่ได้ ก็ยากที่จะนำสันติสุขมาสู่ชายแดนใต้ ซึ่งตนสนับสนุนการพูดคุยกับทุกกลุ่ม และเคยเดินทางไปพบปะพูดคุยกับระดับผู้นำของบางกลุ่มมาแล้ว

     ทั้งนี้ ตามที่เป็นข่าวในเรื่องของกลุ่มขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่ได้เปิดหัวข้อพูดคุยเรื่องการกำหนดอนาคตตัวเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานีนั้น ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหว   ละเอียดอ่อน และส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนไหวเพื่อลงประชามติแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว เป็นมุมมองที่ยึดรูปแบบของโครงสร้างเพียงอย่างเดียว คือต้องเป็นรูปแบบปกครองตนเอง เป็นรัฐอิสระเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาได้  ในส่วนนี้เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะขาดความเชื่อมโยงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกันจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างด้วยความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

     นายนิพนธ์กล่าวว่า เมื่อปรากฏเป็นข่าว ในบรรดาผู้ร่วมเวทีก็ต่างออกมาปฏิเสธ และเกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความพร้อมเพื่อสื่อสารเรื่องดังกล่าวให้เกิดการรับรู้กับคนในพื้นที่และสาธารณะ โดยหลังจากนี้อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มสนับสนุนที่ต้องแสดงออกว่ามีเพียงการแบ่งแยกเท่านั้นจึงจะยุติปัญหาได้ ขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่จะเกิดความหวาดระแวงกันมากขึ้น ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ จนอาจทำให้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่มียาวนานนั้น ยิ่งแก้ไขได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก

     ขณะที่เฟซบุ๊กพรรคเป็นธรรม ได้โพสต์ภาพของ ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค และข้อความ "ไม่มีแนวคิด และไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน  ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของพรรค" โดยมีเนื้อหาว่า จากกรณีที่ “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” ได้จัดกิจกรรมการทำประชามติ “แยกดินแดนปัตตานี” นั้นพรรคเป็นธรรมขอยืนยันว่า พรรคไม่มีแนวคิดในการสนับสนุนต่อการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์และข้อบังคับของพรรค

     หากมีสมาชิกหรือบุคลากรของพรรคเข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ พรรคจะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง  ซึ่งอาจส่งผลถึงสมาชิกภาพพรรคเป็นธรรม ขอยืนยันหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ว่า  “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” ซึ่งการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดน

     จากนั้นมีสมาชิกพรรคและผู้สมัครฯ  ของพรรคได้เข้ามาคอมเมนต์ มีรายหนึ่งระบุว่า “การตีความของพรรคจะดูไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ซึ่งเป็นการสอบถามความเห็นว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะทำประชามติเอกราช ซึ่งเป็นการเสนอหนึ่งในวิธีการหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ประเด็นนี้คิดว่าตีความไปคนละทางครับ

     “ผมไม่เห็นด้วยที่พรรคจะตีความที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงแบบนี้ครับ ผมในฐานะสมาชิกพรรค ไม่แน่ใจว่านี้เป็นท่าทีของพรรค หรือเป็นท่าทีส่วนตัวของหัวหน้าพรรค เพราะเท่าที่ทราบ ทางเลขาธิการพรรค (ว่าที่ ส.ส.กัณวีร์) ก็มีท่าทีอีกแบบ ซึ่งยืนยันเรื่องเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เพื่อสร้างบรรยากาศไปสู่การสร้างสันติภาพในอนาคต หากเป็นท่าทีส่วนตัวของหัวหน้าพรรค ผมในฐานะสมาชิกพรรคเห็นว่าหัวหน้าพรรคไม่ควรเอาท่าทีส่วนตัวมาเป็นท่าทีของพรรค  และใช้การตีความที่ใช้ข้อมูลไม่รอบด้านมาแสดงออกตามกระแสไปแบบนี้ครับ  และเพื่อให้เกิดเสถียรภาพภายในพรรค  เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมในสภา และการผลักดันนโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงกับประชาชนไว้ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ผ่านคณะทำงานรัฐบาลในอนาคตได้อย่างราบรื่น ผมในฐานะสมาชิกพรรค #จะขอเสนอให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค จากคุณปิติพงศ์ เต็มเจริญ (คนปัจจุบัน) ให้เป็นคุณกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส. หนึ่งเดียวของพรรคครับ” พร้อมลงชื่อ สารีฟฟูดดีน สาเมาะสมาชิกพรรคเป็นธรรมและอดีตผู้สมัคร  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม

     ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ โดยระบุด้วยว่า การประชุมนัดแรกของคณะทำงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  พรรคร่วมรัฐบาลยังมีความท้าทายที่ต้องวางกรอบกระบวนการสร้างสันติภาพให้เป็นไปทิศทางเดียวกันในการประชุมคณะทำงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่คณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลตั้งขึ้น ผมในฐานะกรรมการและเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ได้เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนทุกพรรค เช่น คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, คุณรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล, พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และคุณชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย

     การพูดคุยครั้งแรกยังเป็นการวางกรอบการทำงานร่วมกัน เพราะแต่ละพรรคมีนโยบายที่ทั้งสอดคล้องและต่างกันอยู่ แม้ในพรรคร่วมรัฐบาลจะมีแนวทางในการสร้างสันติภาพเช่นเดียวกัน จึงต้องมาคุยกันในรายละเอียดอีกครั้งในการประะชุมที่พรรคประชาชาติ ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ซึ่งพรรคเป็นธรรมยังเน้นที่จะผลักดันสันติภาพปาตานี เช่น การยกระดับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ, การยกเลิกกฎหมายพิเศษ, การปฏิรูประบบโครงสร้างราชการที่เทอะทะ เป็นต้น ต้องมาหาแนวทางร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

     ส่วนประเด็นที่นักข่าวถามกันมาก กรณีการจัดทำประชามติสอบถามเรื่องความต้องการเอกราชของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีนายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ไปร่วมวงพูดคุยทางวิชาการ ผมได้เน้นย้ำไปแล้วว่า เป็นการเข้าร่วมในนามปัจเจก ซึ่งมิได้เป็นการเชิญทางพรรคอย่างเป็นทางการ และรวมทั้งทางพรรคเป็นธรรมไม่ได้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนแน่นอน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่ประชาชนสามารถแสดงออกได้ และเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ ซึ่งการสร้างสันติภาพปาตานีนี้ จำเป็นต้องยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องหารือกันในระดับรัฐสภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล