คดีแยกแดนใต้ไม่เกี่ยวการเมือง

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถกคืบหน้ากลุ่มนักศึกษาทำประชามติให้เอกราชปาตานี ลั่นเดินหน้าฟ้องคดีพร้อมขยายผลเชื่อมโยงถึงกลุ่ม-ขบวนการใดเอาผิดไม่เลี้ยง ยันทำตามหน้าที่เพราะกระทบความมั่นคง ไม่เกี่ยวช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองทั้งทางตรงและอ้อม

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ห้องประชุมสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จ.ปัตตานี พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีกับขบวนการนักศึกษาแห่งชาติจัดทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับเอกราชปาตานี  ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

พล.ต.ปราโมทย์เปิดเผยว่า ภายหลังแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ไปแจ้งความดำเนินคดี ก็มีกระแสขึ้นมาในสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องเครือข่ายนักวิชาการที่ออกมาให้ประเด็นว่าเป็นเรื่องของการจัดกิจกรรมในเชิงวิชาการ ในรั้วมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีหลายฝ่ายที่พยายามจะเสนอให้ใช้แนวทางตามหลักรัฐศาสตร์ กล่าวคือการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดความเชื่อ

รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า แต่เรื่องของการดำเนินคดี บางท่านมองว่าเป็นเรื่องการดำเนินการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า อาจเกี่ยวพันกับไทม์ไลน์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วภายหลังเกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีการประกาศมาตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อนำไปสู่การเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้กับพนักงานสอบสวน   กล่าวคือลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นเรื่องของคดีความมั่นคง เราไม่สามารถมองแค่เฉพาะภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าวได้ ต้องมีการตรวจสอบความเชื่อมโยงทางพฤติกรรมของบุคคล, กลุ่มองค์กร รวมทั้งเจตนาแอบแฝง หรือเจตนาพิเศษต่างๆ ว่ามันจะมีส่วนสัมพันธ์อย่างไร

พล.ต.ปราโมทย์ย้ำว่า เพราะฉะนั้นตามที่หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นออกมาลักษณะของการจัดกิจกรรมในวันนั้น น่าจะเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนก็อาจจะใช่ แต่ถ้ามองในเจตนา หรือเจตนาพิเศษ ซึ่งเราก็มีการตรวจสอบความข้อเท็จจริงว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร เรื่องดังกล่าวกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอยืนยันว่าเรายังคงยึดมั่นในหลักกฎหมายที่จะดำเนินตามพยานหลักฐาน พูดด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำหรับสิ่งที่จะนำไปสู่การดำเนินคดีขึ้นอยู่กับเจตนา หรือเจตนาพิเศษพฤติกรรม รวมทั้งเรื่องของพยานหลักฐาน เพราะฉะนั้นในเรื่องแนวทางการดำเนินการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดที่กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ล่าสุดแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นคณะทำงานด้านกฎหมาย รวมทั้งคณะที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการจัดทำสำนวนฟ้อง

"วันนี้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าแนวทางที่จะดำเนินการคดีจะต้องวาดภาพให้เห็นภาพรวมให้ได้ก่อน สื่อสังคมเห็นแค่ภาพการใช้ความรุนแรงของขบวนการบีอาร์เอ็น แต่จริงๆ แล้วอีกด้านหนึ่งที่สังคมอาจมองไม่เห็น คือในเรื่องของช่องทางทางความคิด การต่อสู้ทางการเมือง กล่าวคือผู้ที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษทั้ง 5 ราย จะเป็นสมาชิกของกลุ่มขบวนการหรือไม่นั้น หากหลักฐานไปถึงใคร  เกี่ยวข้องความผิดฐานใด เราก็จะดำเนินคดีตามนั้น" พล.ต.ปราโมทย์ระบุ

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลักที่จะดำเนินการทุกกลไกในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมิติความมั่นคง มิติการพัฒนา และวิธีบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราได้มีประกาศตั้งแต่แรกว่าเจ้าหน้าที่จะใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานประมาณ 2 สัปดาห์ จนนำไปสู่การฟ้องร้องคดี ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อห้วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง